Proof of Authority คืออะไร? มีข้อได้เปรียบและข้อจำกัดอย่างไร?

เครือข่ายบล็อกเชนมีกลไกที่ทำให้ทั้งเครือข่ายสามารถเห็นพ้องและรับรองความถูกต้องร่วมกันได้เมื่อเกิดข้อมูลธุรกรรมชุดใหม่ โดยกลไกหรือระบบดังกล่าวเรียกว่า Consensus Algorithm หรือ “อัลกอริทึมฉันทามติ”

Consensus Algorithm นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บล็อกเชนสามารถรักษาความปลอดภัย โปร่งใส และความน่าเชื่อถือเอาไว้ และยังเป็นปัจจัยที่ใช้จำแนกบล็อกเชนประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยระบบฉันทามติที่คุ้นเคยกันดีก็คือ Proof of Work และ Proof of Stake

แต่ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่ง Consensus Algorithm ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือ Proof of Authority

Proof of Authority คืออะไร?

Proof of Authority คือระบบฉันทามติที่อ้างอิง “ชื่อเสียง” ของผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) ดังนั้น Node ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบนบล็อกเชนประเภทนี้ จำเป็นต้อง “เปิดเผยตัวตน” ว่าเป็นใครหรือองค์กรอะไร

ซึ่งบล็อกเชนเป็นเครือข่ายที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันไป ใครเป็นผู้ยืนยัน และเป็นไปอย่างสุจริตหรือไม่ หากตรวจสอบย้อนหลังและพบการทุจริตหรือข้อผิดพลาด ผู้ที่ยืนยันธุรกรรมก็อาจสูญเสียชื่อเสียงได้

ทั้งนี้ การจะเป็น Validator Node บนบล็อกเชนประเภทนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับตวามเห็นชอบจาก Validator คนอื่น ๆ บนเครือข่ายเสียก่อน ซึ่งรวมถึงการปลดออกจาการเป็น Validator ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก Validator คนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

แนวคิดของ Proof of Authority เกิดขึ้นในปี 2017 โดย Gavin Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum และผู้ก่อตั้ง Polkadot เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา

ตัวอย่างบล็อกเชนที่ใช้ระบบ Proof of Authority ได้แก่ Microsoft Azure, Kovan (หนึ่งใน Testnet ของ Ethereum), และ VeChainThor เป็นต้น

Proof of Authority vs. Proof of Stake

Proof of Authority มีความคล้ายกับ Proof of Stake คือ เมื่อเกิดธุรกรรมขึ้นบนเครือข่าย ระบบจะสุ่มเลือก Node ขึ้นมาเพื่อให้ตรวจสอบธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่ โดย Proof of Stake จะสุ่มเลือก Node ที่มีการล็อคเหรียญ (Stake) เข้ามาในเครือข่าย ยิ่งล็อคเหรียญมากก็มีโอกาสถูกเลือกมากขึ้น ในขณะที่ Proof of Authority ระบบจะสุ่มเลือกจาก Node ที่อยู่ในเครือข่ายโดยไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเหรียญที่ถือครอง

ข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของ Proof of Authority

ข้อได้เปรียบของบล็อกเชนแบบ Proof of Authority คือจำนวน Node ที่น้อยกว่าบล็อกเชนประเภทอื่น ๆ ดังนั้น ความเร็วในการตรวจสอบธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่ขึ้นบนเครือข่ายจึงสูงกว่า

นอกจากนี้ การมีจำนวน Node ที่น้อยกว่า และต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้การตรวจสอบย้อนหลังสำหรับกรณีที่เกิดการทุจริตขึ้นก็สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันก็สามารถประหยัดพลังงานในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ Proof of Authority จะได้เปรียบเรื่องความเร็วในการตรวจสอบธุรกรรมและความโปร่งใสของผู้ตรวจสอบ ระบบนี้กลับไม่ค่อยได้รับการยอมรับว่ามีความ Decentralized (กระจายศูนย์) เท่าไหร่นัก กลับถูกมองว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบแบบ Centralized (รวมศูนย์) ให้สูงขึ้นมากกว่า

อ้างอิง GeeksforGeeks, Coinhouse, Binance Academy

Bitkub.com