Alibaba อาณาจักร Jack Ma ใหญ่แค่ไหน

ด้วยความฝันที่อยากเห็นสินค้าจีนวางขายบนโลกออนไลน์ แจ็ค หม่าจึงเริ่มต้นเปิดบริษัท Alibaba เมื่อปี 1999

แต่ ! มันกลายเป็นการเรียกแขกเข้าบ้าน เมื่อบริษัทข้ามชาติอย่าง eBay เห็นยอดขายสินค้าออนไลน์ในจีนเติบโตสูงมาก จึงประกาศบุกทันที !

eBay เหมือนยักษ์เมื่อเทียบกับ Alibaba ในยุคนั้น แต่ยักษ์ตัวนี้เดินทางมาไกลย่อมสับสนต่อความซับซ้อนของการทำธุรกิจในจีน จึงเสียเปรียบบริษัทท้องถิ่น (รัฐบาลจีนออกกฎหมายกีดกันบริษัทต่างชาติ) จนสุดท้ายต้องยอมถอนทุนหนีกลับบ้าน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นการเติบโตมหาศาลของ Alibaba ที่พุ่งทะยานจนสามารถเข้าตลาดหุ้น Nasdaq ปี 2014 ทำสถิติเป็นบริษัทที่ IPO มูลค่ามากสุดในประวัติศาสตร์ของปีนั้น

แล้วอาณาจักร Alibaba ตอนนี้ทำธุรกิจอะไรกันบ้าง ?

หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า Alibaba เป็น B2B platform ขายของจากโรงงานสู่โรงงาน

นั่นคือในอดีต ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว

ปัจจุบันรายได้หลักมาจากธุรกิจฝั่ง Retail

E-commerce คือแหล่งทำเงินหลักสร้างรายได้ 80% ให้บริษัท โดยปีล่าสุดมียอดซื้อขายสินค้าผ่านระบบ 32 ล้านล้านบาท (สูงกว่า GDP ไทย 3 เท่า)

Marketplace ในเครืออย่าง Taobao และ TMall ครองตลาดจีน เบียดคู่แข่ง JD อันดับ 2 ที่หันไปจับมือกับ Tencent แต่ยังห่างชั้นไปไกล ขณะที่ Lazada (บริษัทลูก Alibaba) เป็นผู้นำเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียนชนกับ Shopee ซึ่งได้รับเงินทุนจาก Tencent เช่นกัน

ขณะที่ตัวผลักดันสำคัญให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระบบ Cloud computing (บริการเก็บ Data และประมวลผล) ในชื่อ “Alibaba Cloud Intelligence” เข้าแข่งขันชนบริษัทชั้นนำอย่าง Amazon (AWS), Microsoft (Azure) และ Alphabet (Google Cloud) แม้ส่วนธุรกิจนี้ Alibaba เพิ่งเริ่มต้น แต่มันโตปีละ 60% ตามกระแสที่บริษัทต่าง ๆ ย้ายธุรกิจขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น

Fintech เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องจับตา ซึ่ง Alibaba เลือกใช้ Ant Financial บุกตลาดการเงิน อาศัยฐานผู้ใช้ 900 ล้านคนของ Alipay ระบบจ่ายเงินออนไลน์อันดับ 1 ในจีน หวังขยายขอบเขตไปทำการลงทุน ปล่อยกู้ และประกัน

เรียกได้ว่าธุรกิจเดิมก็แข็ง ยังหาช่องทางการเติบโตใหม่อีกด้วย

แล้วตอนนี้ซื้อหุ้น Alibaba ได้ไหม ? (ทีมลงทุนเราโดนถามประจำ !)

มาลองวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและภาพในอนาคต…

นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลจีนคือ “ตลาดในประเทศเป็นของบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น” แสดงให้เห็นว่าสินค้าทุกชิ้นถ้าอยากได้ตลาด 1,400 ล้านคน ต้องมาร่วมมือกับบริษัทจีน

ส่งผลให้ Alibaba กลายเป็นเหมือนประตูขาเข้าให้บริษัทต่างชาติ และเพราะมันใหญ่กว่าเบอร์ 2 มากเลยถูกเลือกเป็นตัวแรกเหนือคู่แข่งเสมอ

ขณะที่ขาออก ผู้ผลิตจีนก็เลือก Alibaba เป็นคู่ค้าลุยตลาดโลกเช่นกัน เนื่องจากเป็น Marketplace สัญชาติจีนที่มีฐานลูกค้าใหญ่สุดในระดับโลก

เรียกได้ว่าสินค้าจะเข้าจะออกประเทศจีนมาถาม Alibaba ก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น Alibaba ที่ครองตลาดสินค้าออนไลน์เบ็ดเสร็จ ทำให้มีความสามารถในการต่อรองสูงมาก บริษัทจึงเลือกใช้กลยุทธ์ดันสินค้าบางกลุ่มของผู้ขายภายนอกทิ้งแล้ว Alibaba ตั้งขายสินค้าแทน เปลี่ยนจากการได้ค่าคอมมิสชั่นเล็ก ๆ เป็นรับรู้กำไรจากสินค้าโดยตรง ดัน Margin เพิ่มขึ้นมหาศาล (แบบเดียวกับค้าปลีกในประเทศเราเป๊ะ ๆ)

แต่บริษัทก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ภาคการเมืองจีนต้องการควบคุมบริษัทท้องถิ่นทุกรายอย่างเด็ดขาด (สั่งซ้ายหันขวาหันได้) ส่งผลให้ Alibaba ขาดการยอมรับในเวทีโลก โดยเฉพาะธุรกิจ Cloud computing และ Fintech ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลและเงินจำนวนมากที่ต้องการความน่าเชื่อถือระดับสูง นั้นอาจทำให้ Alibaba ไม่สามารถแข่งขันได้

ความเสี่ยงดังกล่าวเมื่อหักลบกับโอกาสเติบโตในอนาคตที่สูงมาก ทีมลงทุนเราจึงเชื่อว่าหุ้น Alibaba ในระยะ 1-3 ปี มีความน่าสนใจลงทุน

ข้อมูลในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทีมเราวิเคราะห์ เบื้องหลังยังมีการใช้ Data ยอดขนส่งสินค้าของบริษัท Logistic ที่มี Alibaba เป็นลูกค้าหลัก หรือยอดค้นหาสินค้าออนไลน์ในจีนเพื่อตรวจสอบโอกาสเติบโตของ Alibaba ในอนาคต

ทางด้านกองทุนรวมที่ทีมลงทุนเราชอบและถือหุ้น Alibaba อยู่คือ TMBCOF (ถือประมาณ 10% ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2563)  และ ONE-UGG-RA (ถือประมาณ 5.3% ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2563)

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://bottomliner.co/stock/alibaba/


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน |  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”