เรียนรู้จากวิกฤต: สรุป Subprime Crisis 2008 แบบเข้าใจง่าย

บทความนี้ BottomLiner เขียนสรุปวิกฤต Subprime 2008 ในสหรัฐ (วิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีเครดิตต่ำ) ซึ่งเป็นวิกฤตที่ว่ากันว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายร้อยปีในแบบที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้

เล่าภูมิหลังก่อน

อเมริกาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 1890 ซึ่งมาจากนวัฒกรรมในการผลิต การเงิน และเทคโนโลยี มีผู้คนจากหลากหลายประเทศเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำงานเป็นจำนวนมากด้วยค่าแรงที่สูง หลังจากสงครามโลกทั้ง 1 และ 2 มา อเมริกาเติบโตได้ดีมาตลอดร่วม 80 ปีแล้ว แม้จะมีหดตัวบ้าง วิกฤตบ้าง ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และอสังหาก็เติบโตมาคู่กับเศรษฐกิจของ US ที่ขยายตัวมาตลอด

ช่วงที่อสังหาของ US เติบโตเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ มันแบกหนี้ก้อนใหญ่มาด้วย และใช้เวลาสะสมกว่าเกือบ 30 ปี (ช่วงเข้าสู่ดอกเบี้ยขาลงตั้งแต่ปี 1982) ก่อนจะเกิดวิกฤติ Subprime ขึ้นในปี 2008

เมื่อดอกเบี้ยลดลง การอนุมัติกู้เงินก็ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ส่งผลให้คนกู้เงินมาใช้อุปโภคบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงซื้อบ้านกันมากขึ้น ทั้งซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็น passive income หรือสินทรัพย์เก็งกำไร ตลอดหลายสิบปี เริ่มมีคนที่ประสบความสำเร็จ จากการซื้อบ้านมาขาย มาปล่อยเช่ามากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ที่ราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ใครซื้อไว้ก็ได้กำไร ไม่มีใครคาดคิดด้วยซ้ำว่าราคาบ้านจะลดลงได้ เพราะอสังหาถูกมองว่าเป็น safe asset (วันนี้ก็ยังมีคนคิดอยู่ ซึ่งผิด อสังหาราคาเหวี่ยงแรงคล้ายหุ้น แค่ไม่มีระบบคอยมาโชว์ราคารายวันเหมือนหุ้น)

เมื่อดอกเบี้ยต่ำลงเรื่อย ๆ  มันจึงดึงให้คนสนใจซื้ออสังหามากเป็นทวีคูณ บ้างซื้ออยู่อาศัยเอง บ้างซื้อสะสมหวังรวย บางคนมีได้ถึง 3-4 แห่ง ฝั่งบริษัทก่อสร้างต่าง ๆ เมื่อเห็นความต้องการของลูกค้าเพิ่มก็สร้างเพิ่มให้มากที่สุด ฝั่งสถาบันการเงินก็เห็นว่าบ้านเป็นสิ่งที่คนจะไม่ทิ้งไปแน่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมันเป็นเหมือน Safe Zone และเป็นสิ่งที่ทุกคนไฝ่ฝันว่าจะมีขาขึ้นอันยาวนานได้วาดฝันกำไรอันสวยงามให้กับทุกฝ่าย

วิกฤต Subprime

การพังทลายเริ่มขึ้นจากความโลภของทุกฝ่ายนั่นเอง เมื่อสถาบันการเงินเริ่มปล่อยให้สินเชื่อให้คนที่เครดิตการเงินต่ำกว่าที่ควรอนุมัติ แลกกับการได้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าปกติ และเอาบ้านเป็นหลักประกัน สถาบันการเงินมองว่าความเสี่ยงมันไม่เพิ่ม เพราะใครที่ไหนจะทิ้งบ้านได้ พวกคนกู้บ้านจะต้องยอมโดยขูดเลือดขูดเนื้อเพื่อแลกกับการมีบ้านอยู่แน่นอน และราคาบ้านก็สูงขึ้นตลอด เดี๋ยวลูกค้าก็ขายได้แพงขึ้น

ยังไม่พอสถาบันการเงินก็วนเอาบ้านที่ได้เป็นหลักประกัน มาทำหุ้นกู้เพื่อดึงเงินจากนักลงทุนมาปล่อยให้คนกู้บ้านได้เพิ่ม ตัวไหนนักลงทุนไม่สนใจก็จับมามัดรวมกันกับตัวคุณภาพดีเอามาขายใหม่ (ในหนัง The Big Short มีการเปรียบเทียบเหมือนเอาเนื้อสัตว์ใกล้เน่า ที่จริง ๆ ต้องทิ้งมาปรุงแล้วก็ตุ๋นเป็นซุป สามารถเสริฟในร้านอาหารหรูได้ ทั้งที่จริง ๆ เป็นวัตถุดิบชั้นเลว)

แม้คุณภาพหุ้นกู้พวกนั้น คนในวงการจะพอรู้ว่าไม่ดี แต่บริษัทจัดเรทติ้งก็จัดเรทติ้งให้ดีได้ เพราะมองเห็นกำไรของตัวเองอยู่เหนือความจริง และคิดว่าถึงบริษัทของตนไม่จัดเรตติ้งให้ สถาบันการเงินก็ไปใช้เจ้าอื่นอยู่ดี เหตุการณ์ต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้อีกหลายปีจน คนที่กู้ซื้อบ้านเริ่มจ่ายดอกไม่ไหว และเริ่มทิ้งบ้าน ก่อนหลาย ๆ ฝ่ายจะล้มตามกันเป็นโดมิโน่

ราคาบ้านที่ไม่มีใครคิดว่าจะลง ก็ลงเฉลี่ยกว่า -30% ตลาดหุ้นสหรัฐตกหนักกว่า -50% ราคาทรัพย์สินที่ลดลงส่งผลให้ความมั่งคั่งของผู้คนทั่วประเทศหายไป และเริ่มชะลอการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงหดตัวในที่สุด หนี้เสียพุ่งสูงกว่า 5% มีธุรกิจล้มละลาย มีคนตกงานจำนวนมาก ความเสียหายทั้งหมดนั้นไม่สามารถคิดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่หากนับแค่ความเสียหายจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และบ้านที่สูญเสียมูลค่าไป คิดเป็นมูลค่ากว่า $20 Trillion หรือ ราว ๆ 660 ล้านล้านบาทในขณะนั้น

วิกฤตดีขึ้นได้อย่างไร?

วิกฤตที่เกิดขึ้นใหญ่เกินที่ธนาคารกลาง (FED) และรัฐบาลสหรัฐประเมินไว้มาก ๆ ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินลดลงอย่างรุนแรง คนเริ่มถอนเงินจากธนาคารมาเก็บไว้เองเพราะกลัวว่าถ้าช้าจะไม่มีสิทธิ์ถอน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ธนาคารหมุนเงินไม่ทัน สภาพคล่องแทบไม่เหลือลามต่อไป ทำให้การปล่อยกู้ เงินเพื่อทำธุรกิจถูกหยุดชะงักไว้หมด ซึ่งแม้กระทั่งบริษัทที่มีความมั่นคงสูง ยังหาเงินมาใช้หมุนแทบไม่ได้

ปัญหาหลักในช่วงนั้นคือขาดสภาพคล่องจึงเกิดนโยบายร่วมระหว่าง FED และรัฐบาลสหรัฐ ในการยินยอมให้พิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก (QE) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร และรัฐบาลต้องออกนโยบายช่วยเหลือขนาดใหญ่หลายอย่าง เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ซึ่งสุดท้ายแล้ว การปล่อยกู้เริ่มฟื้นกลับมา ช่วยให้ระบบการเงินหมุนเวียนได้อีกครั้ง (อ่านแล้วเหมือนง่าย ๆ แต่ช่วงนั้นต้องบอกว่าไม่มีคนรู้แน่ชัดว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่) ตรงนี้ต้องยกความดีความชอบให้ FED ที่เลือกวิธีแหวกแนวใช้ QE เพิ่มสภาพคล่องขนาดมหาศาล เพราะไม่เช่นนั้นแล้ววิกฤตอาจฉุดเศรษฐกิจให้แย่เป็น 10 ปี เกิดเป็น lost decade ได้เหมือนกัน ซึ่งสหรัฐเคยพลาดยอมปล่อยให้ขาดสภาพคล่องจนลุกลามเป็นเหตุการณ์เศรษฐกิจ​ตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี 1929

ปัจจุบันได้ผ่านวิกฤต Subprime มาเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว และราคาบ้านในปัจจุบันสูงกว่าช่วงวิกฤต Subprime ราว ๆ +45% หรือเพิ่มราว ๆ +3% ทบต้น ถึงแม้ดูจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นแต่หากเรามองแยกเป็นปี จะเห็นว่าหลังหลังปี 2020 มา ราคาบ้านในสหรัฐเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง … ซึ่งก็สัมพันธ์กับนโยบายลดดอกเบี้ยจนใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินเข้าระบบจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมานั้นเอง

BottomLiner

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/bottomlinerglobal/posts/5627918253889929

iran-israel-war