สรุปทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ของหุ้น “AOT”

หุ้นลงช้อนมั้ย? ตัดสินใจเองนะจ๊ะ …

1. หุ้น AOT คือหุ้นขนาดใหญ่อันดับ 2 ของตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 900,000 ล้านบาท เป็นรองเพียงปตท.ที่มีมูลค่าบริษัทประมาณ 1,400,000 ล้านบาท

2. Market Cap 900,000 ล้านบาทของ AOT เป็นมูลค่าแบรนด์ถึง 400,000 ล้านบาท

3. หากมองกำไรของ AOT ย้อนหลังไป 10 ปีมีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่กำไรไม่โตคือปี 2552 ที่มีม๊อบการเมือง และปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร

4. ปัจจุบัน AOT เป็นเจ้าของสนามบิน 6 แห่ง สุวรรณภูมิ,ดอนเมือง, เชียงใหม่,หาดใหญ่, ภูเก็ตและแม่ฟ้าหลวง

5. ภูเก็ตและเชียงใหม่กำลังจะมีสนามบินแห่งที่สอง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมท่าอากาศยานและ AOT

6. AOT มีโอกาสได้รับโอนสนามบินเพิ่มเติมอีกสูงสุด 29 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน (มีที่ดีๆคนใช้เยอะๆ 15 แห่ง) ซึ่งจะกระทบกำไรประมาณ 4-8% ขึ้นอยู่กับว่าได้สนามบินไหนมา นอกจากนั้น AOT ยังมีแผนจะปรับสนามบิน 4 แห่งคืออุดรธานี, สกลนคร, ตากและชุมพร เป็น Regional hub

7. AOT มีรายได้จากหลากหลายช่องทาง แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจการบิน 56.7% อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของสายการบิน,ค่าบริการผู้โดยสารและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ รายได้รายการนี้แปรผันตรงกับจำนวนเที่ยวบินและนักท่องเที่ยว

8. รายได้หลักอีกส่วนคือรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 43.40% อาทิเช่น ค่าเช่าที่จากบริษัทต่างๆที่ทำธุรกิจกับสนามบินของ AOT, รายได้ค่าบริการ, รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เช่นส่วนแบ่งรายได้หลักๆก็จาก King Power เป็นต้น

9. ถ้านักท่องเที่ยวจีนมาเยอะๆ รายได้จากส่วนแบ่งรายได้ของการขายของจะมากขึ้น เพราะคนจีนใช้จ่ายกับ Duty Free สูงเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น (ประมาณ 1.3-1.5 เท่า)

10. ทั้งนี้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินของ AOT เพิ่มขึ้น ในปี 2556 AOT มีจำนวนผู้โดยสาร 86 ล้านคน และเที่ยวบินทั้งสิ้น 559,000 เที่ยวบิน ในปี 2560 ผู้โดยสารเพิ่มเป็น 129 ล้านคน และ 823,000 เที่ยวบิน

11. ลูกค้าของ AOT คือสายการบิน โดยมีทั้งสิ้น 135 สายการบิน เป็นสายการบินต่างประเทศ 114 สายการบิน ของไทย 15 สายการบิน

12. ลูกค้ารายใหญ่ของ AOT คือการบินไทย มี Market share 32.24% (นับด้วยจำนวนผู้โดยสาร) รองลงมาคือ Bangkok Airway (แบบนี้ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับการบินไทยก็คงส่งผลกระทบกับ AOT ไม่น้อยเช่นกัน)

13. สัดส่วนผู้โดยสารของ AOT เป็นผู้โดยสารตปท. 57% และคนไทย 43%

14. หากเปรียบเทียบกับสนามบินใหญ่อื่นๆ AOT ถือว่าเป็นสนามบินที่มีสัดส่วนผู้โดยสารต่างประเทศสูง สนามบิน Atlanta มีสัดส่วนผู้โดยสารตปท. 10-12% Beijing มีประมาณ 27%

15. AOT โตได้ด้วยการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ และการเชิญสายการบินต่างๆมาเป็นพันธมิตรของ AOT บินมาที่สนามบินของ AOT

16. AOT มีคู่แข่งเป็นท่าอากาศยาน 20 ท่าอากาศยานของประเทศต่างๆ เช่น จีน, สิงคโปร, ญี่ปุ่น, ใต้หวัน, มาเลเซีย

17. การท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของ GDP ดังนั้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญมากกกก

18. ปี 2017 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 32.6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 34-35 ล้านคนในปี 2018 (มีโอกาสต่ำเป้าจากการลดลงอย่างรวดเร็วของทัวร์จีน)

19. ประเทศไทยมีการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีของจำนวนนักท่องเที่ยว 8.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 4.2%

20. ในปี 2017 คนจีนมาเที่ยวไทยประมาณ 9.8 ล้านคน ถือเป็นชนชาติที่มีสัดส่วนสูงที่สุด ประมาณ 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมาคือ ASEAN และ Europe

21. การใช้งานสนามบินปัจจุบันค่อนข้างเต็มแล้วที่ Utilization rate เฉลี่ยทุกสนามบินที่ 141% ทาง AOT พยายามเพิ่มการเติบโตด้วยการเพิ่มเที่ยวบินในช่วง Off-peak ตี 2 ถึงตี 5 โดยเน้นไปที่เส้นทางเมืองจีน เพราะคนจีนไม่ค่อยซีเรียสเรื่องเวลาบิน แต่ซีเรียสเรื่องราคามากกว่า

22. คนจีนมาไทยแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 40,000-50,000 บาทต่อหัว ใช้ในการช๊อปปิ้งมาก แต่ใช้กับอาหารและโรงแรมน้อย

23. AOT มีแผนเพิ่ม Passenger Service Charge (PSC) ในปี 2022 ในประเทศจาก 100 บาทเป็น 120-150 บาทต่อคน ต่างประเทศจาก 700 บาทเป็น 750-800 บาทต่อคน ซึ่งตรงนี้จะส่งผลให้กำไรสุทธิของ AOT เพิ่มขึ้นทันที

24. หากเทียบเรื่อง International PSC กับสนามบินใหญ่ๆ Inter-PSC เฉลี่ยของ AOT อยู่ที่ประมาณ 704 บาท น้อยกว่า Hongkong ที่ 1,280 บาท มากกว่า Incheon (Korea) ที่ 480 บาท (นี่น่าจะเป็นเหตุผลในการเพิ่ม Passenger Service Charge ได้)

25. ราคาหุ้น AOT ตกเพราะกำลังเข้าสู่ช่วงการลงทุนรอบใหม่, ค่าเสื่อมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายสนามบิน ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวและเที่ยวบินเติบโตไม่มากอาจจะส่งผลให้การเติบโตของกำไรน้อยลงได้ ซึ่งก็จะส่งผลกับ P/E ที่นักลงทุนให้และสะท้อนไปที่ราคาหุ้นนั่นเอง

26. AOT เริ่มลงทุนสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2,Terminal 2 และ Runway 3 แล้วเสร็จแถวๆ ปี 2021 จะมีค่าเสื่อมเข้ามากในช่วงปี 2020-2021 จากงบลงทุนประมาณ 140,000 ลบ. ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเติบโตของกำไร

27. ค่าเสื่อมของ AOT จะเพิ่มจากราวๆ 5,600 ลบ.ในปี 2017 เป็นราวๆ 9,400 ลบ.ในปี 2021 (Worst case) (กำไร AOT ปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ลบ.)

28. ตอนนี้สุวรรณภูมิรับนักท่องเที่ยวได้ 45 ล้านคน หลังเพิ่มเฟส 2 และ Terminal 2 จะรับนักท่องเที่ยวเพิ่มได้เป็น 90 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 2 เท่าของๆ เดิม

29. ในปี 2017 สุวรรณภูมิรับผู้โดยสารไปแล้ว 60.9 ล้านคน มากกว่าจำนวนที่สนามบินถูกออกแบบไว้

30. AOT มีรายได้หลากหลายช่องทาง ไม่ใช่มีเพียงค่า Landing fee หรือค่าบริการผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังมีค่าเช่าที่และเก็บส่วนแบ่งรายได้ๆจากการขายสินค้าใน Duty Free ด้วย ในขณะที่สนามบินประเทศอื่นๆไมได้ทำได้ดีขนาดนี้ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ AOT มีค่า P/E สูงกว่าสนามบินอื่นๆ

31. AOT มีเงินสดอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท กระแสเงินสดแต่ละปีอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท สามารถเอามาใช้ในการลงทุนได้สบายๆ น่าจะสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 เสร็จได้โดยไม่ต้องกู้เงินแต่อย่างใด

32. AOT ถือเป็นธุรกิจที่ผูกขาดระดับหนึ่ง เพราะเป็นผู้ให้บริการสนามบินรายใหญ่รายเดียวของประเทศไทย

33. ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก และเป็นจุดหมายยอดฮิตของคนจีน ซึ่งมี Passport แค่ 10% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น (ประมาณ 120 ล้านคน)

34. Ctrip บริษัททัวร์รายใหญ่ของจีน เจ้าของ Trip.com ประเมินไว้ว่าภายในปี 2020 จำนวนนักท่องเที่ยวคนจีนที่มี Passport จะเพิ่มเป็น 240 ล้านคน หรือประมาณ 2 เท่าจากตอนนี้

35. ฝากแหล่งข้อมูลดีๆของสมาคมคนรัก AOT ไว้ด้วยครับ www.finnomena.com/stock/aot

โดยเพจ BUFFETTCODE


Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้