หมัดต่อหมัด PTT vs CPALL เจาะลึกใครจะ “อยู่” ใครจะ “ยับ” ถ้าซัดกันจริงๆ?

จากข่าวที่ PTT ออกมาประกาศว่าจะมาเน้นเปิด Jiffy เองโดยจะไม่ต่อสัญญากับ 7-11

แต่เมื่อเช้า PTT ก็ออกมาแก้ข่าวแล้วว่าไม่จริงยังคิดจะเป็นพันธมิตรต่อกับ 7-11 เพราะก็ทำด้วยกันมานานแล้ว

คิดว่าจริงๆมันก็คงต่างคนต่างรู้กันอยู่แล้วล่ะดังนั้นไม่ช้าก็เร็วคงต้องแยกทางจากกันซักวันแต่จะออกมาแบบไหนล่ะ?

เรามาดูกันเลยมั้ยว่าถ้าเกิดแยกทางกันจริง PTT และ CPALL(7-11) มีธุรกิจอะไร เก่งตรงไหนบ้าง?

เริ่มต้นจากธุรกิจที่กำลังเป็นประเด็นก่อนเลยคือค้าปลีก!!

พูดถึงค้าปลีกก็ต้องพูดถึงจำนวนสาขา

ณ.ไตรมาส 2 ปี 2017 7-11 มีสาขาทั้งสิ้น 10,007 สาขา

แม้ปตท.เองไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อแต่ก็เป็นธุรกิจที่ใช้ทำเลเป็นสำคัญถ้าจะเปรียบกับสาขาของ 7-11

ตัวเลขที่ใกล้เคียงสุดคือจำนวนปั้ม

PTT มีปั้มทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ปั้ม

หมายความว่าถ้า PTT เปลี่ยนร้านสะดวกซื้อในปั้มทั้งหมดเป็น JIFFY ก็จะได้เต็มที่ประมาณ 1,700 สาขา

นับว่ายังห่างไกลจำนวนสาขาของ 7-11 ที่มีมากกว่าหมื่นสาขามากมาย

นอกจากนั้นปัจจุบัน PTT ยังมี 7-11 อยู่ในปั้มถึง 1,350 สาขาจากปั้ม 1,700 ปั้ม

หรือพูดง่ายๆคือเกือบทั้งหมดเป็น 7-11 โดยมี JIFFY แค่ 175 สาขาเท่านั้น

มาตรงนี้คงเริ่มเห็นชัดแล้วว่าการจะยกเลิกสัญญากับ 7-11 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

และถ้ายกเลิกจริงๆคนที่ปั่นป่วนน่าจะเป็นฝ่าย PTT มากกว่า

เพราะการทำค้าปลีกนั้นไม่ใช่แค่สร้างสาขาแล้วจะเปิดได้แต่ต้องมีระบบการจัดการร้านที่ดี

มีระบบ Logistic, การจัดการสินค้าของสดต่างๆและอื่นๆอีกมากมายซึ่งต้องใช้ Know-how และประสบการณ์

เรื่องค้าปลีก 7-11 ยังเหนือกว่า PTT

แล้วขนาดล่ะ?

PTT คือบริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดในไทยตรงนี้จะทำให้ได้เปรียบ CPALL หรือไม่?

ขนาดของ PTT อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท CPALL อยู่ที่ 5.5 แสน แล้วนี่หมายความว่า CPALL เล็กกว่า PTT ใช่มั้ย?

ก็ต้องตอบว่าใช่แต่….PTT เป็นบริษัทแม่ CPALL ก็มีบริษัทแม่คือกลุ่ม CP

จริงๆแล้วควรจะต้องเอามูลค่าตลาดของกลุ่ม CP มาเทียบถึงจะถูก

แต่เนื่องจากกลุ่ม CP ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าหากประเมินจากธุรกิจทั้งในและต่างประเทศของกลุ่ม CP แล้วคิดว่ายังไงก็ใหญ่เกินกลุ่ม PTT แน่นอน

หากมาดูธุรกิจของทั้งสองกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง?

ดูที่ PTT ก่อน

ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจของ PTT คือธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี มีค้าปลีกอย่างร้าน Jiffy และอาหารบ้าง

เช่น กาแฟ Amazon, Daddy Dough, ร้านไก่ทอด Texas Chicken และฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ

ในธุรกิจเหล่านี้ถ้าเป็นปั้มนํ้ามัน,โรงกลั่นและปิโตรเคมี PTT มีความเป็นผู้นำอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ถ้าเป็นธุรกิจค้าปลีกก็คงมีเพียงกาแฟ Amazon ที่ดูแล้วมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำตลาด

ส่วนที่เหลือก็เป็นธุรกิจเบอร์รองๆ ลงไป

ส่วน CP ก็นอกจากจะมีธุรกิจอาหารสัตว์, ธุรกิจเนื้อสัตว์แปรรูป, ธุรกิจอาหารแล้วก็มีธุรกิจอื่นๆ

เช่น True, 7-11, แมคโคร, ซีพีรีเทลลิงค์,ไก่ย่าง 5 ดาว, นมเมจิ และกาแฟมวลชน

หลายๆธุรกิจของ CP เป็นผู้นำไปเรียบร้อยแล้ว

ด้วยสาเหตุนี้หากพูดถึงเรื่อง Synergy กันของธุรกิจในกลุ่มถือก็ต้องถือว่าแข็งแกร่งมาก

นอกจากเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบของธุรกิจในปัจจุบันแล้ว

ธุรกิจหัวใจของ PTT ซึ่งก็คือธุรกิจนํ้ามันยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสถูก “Disrupt” สูงในอนาคตจาก Trend ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นกลุ่ม PTT มาให้ความสำคัญกับธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจนํ้ามันมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนทางกลุ่ม CP ล่าสุดได้ใช้บริษัทลูก Ascend Money ไปจับมือกับ Ant Financial และ Alipay บริษัทซึ่ง Jack Ma เป็นผู้ถือหุ้นก็ถือว่าเป็นความร่วมมือที่ไม่ธรรมดาสิ่งที่กำลังจะทำร่วมกันในอนาคตก็คงไม่ธรรมดาเช่นกัน

CP เองกำลังบุกเปิดร้านกาแฟอย่างหนักถึง 5 แบรนด์พร้อมกันคือ All Café, กาแฟมวลชน, Jungle Cafe, Arabitia Cafe และ Bellinee

ที่ขยายอย่างรวดเร็วแบบนี้ได้มีโอกาสสูงว่าจะเป็นเพราะ CP ได้คุม Supply chain ของธุรกิจกาแฟไว้ได้หมดแล้วตั้งแต่เม็ดกาแฟ,โรงคั่วกาแฟไปจนถึงเครื่องชงกาแฟตามสไตล์กลยุทธกินรวบของกลุ่ม CP

จากที่อธิบายมาทั้งหมดคงไม่ต้องบอกแล้วว่าถ้ามาซัดกันจริงๆ

เทียบกันหมัดต่อหมัดใครจะ “อยู่”

และใครคือฝ่ายที่ต้อง “ยับ”

แต่ถึงใครจะเป็นอย่างไรเราก็ควรจะดีใจ

เพราะการแข่งขันที่หนักหน่วงของธุรกิจยักษ์ใหญ่

คนที่ได้เปรียบสูงสุดไม่ใช่ใครแต่คือผู้บริโภคอย่างเราๆ

และคงได้เวลาทวงคืนกำไรที่เราให้ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่กันซะที

BuffettCode

ที่มาบทความ : http://buffettcode.com/00003-7-11-cpall/