รับชมบน YouTube: https://youtu.be/ryTOhIyjAVg

Yield Farming หรือการทำฟาร์มหนึ่งในรูปแบบการสร้างกำไรบนโลกคริปโตฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด หลายคนได้ผลตอบแทนจากการทำฟาร์มสูงถึงหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในไม่กี่เดือน ถึงขนาดที่ช่วงหนึ่งมีกระแสผู้คนลาออกจากงานประจำมาทำฟาร์มกันเลยทีเดียว แต่การทำฟาร์มบนโลกคริปโตมันง่ายขนาดนั้นจริง ๆ หรือ เรามาเรียนรู้ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการทำฟาร์มให้มากขึ้นในคลิปนี้

Yield Farming หรือ การทำฟาร์มในโลกคริปโตฯ คืออะไร?

  • เป็นศัพท์เทคนิคที่หมายถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากเอาไว้ที่แพลตฟอร์มธุรกรรมดิจิทัลไร้ตัวกลาง หรือ DeFi Platform
  • เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม หรืออาจเป็นโทเคนที่ผลิตโดยแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก็ได้ 

หลักการของ Yield Farming

  • คล้าย ๆ กับการฝากเงินไว้ในธนาคาร
  • นั่นคือเมื่อเราฝากเงินในธนาคาร เราจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยเงินฝาก
  • เงินที่เราได้ฝากไว้กับธนาคารนั้นจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้นอนอยู่ในตู้เซฟเฉย ๆ แต่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจธนาคารต่อไป
  • เช่น การนำไปปล่อยกู้ ไปลงทุนต่อ เพื่อให้เกิดเป็นรายได้เพียงพอจะกลับมาดูแลค่าใช้จ่ายของธนาคาร และจ่ายดอกเบี้ยให้เราต่อไปได้นั่นเอง
  • การทำฟาร์มก็คล้ายกัน นั่นคือมีตัวเราในฐานะผู้ที่อยากวางเงินไว้ที่ไหนสักที่เพื่อให้เกิดดอกออกผล
  • ประกอบกับในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้ต้องการนำเงินไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่น หรือต้องการกู้ยืมเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนหรือลงทุนต่อ
  • DeFi Platform จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมความต้องการจะฝากเงินและความต้องการจะใช้เงินของหลากหลายผู้คนที่เข้าด้วยกัน แทบเหมือนกันกับการมีอยู่ของธนาคาร
  • เพียงแต่จุดสำคัญที่แตกต่างกันนั่นคือ DeFi Platform ไม่ต้องการอาศัยคนหรือธนาคารมาเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม แต่เปลี่ยนให้เป็นการดำเนินการของ Smart Contract แทน 

Smart Contract ที่เป็นหัวใจสำคัญของ Yield Farming คือ Liquidity Pool

  • เราอาจนิยาม Liquidity Pool อย่างง่ายได้ว่ามันเป็นสภาพคล่องกองกลางที่จะช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนกันระหว่างคู่เหรียญดิจิทัลใน DeFi Platform ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
  • ทำให้เกิดการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องรอแมทช์ออเดอร์กันเองเป็นครั้ง ๆ ไป
  • แต่จะมีกลไกที่มีชื่อเรียกว่า Automated Market Maker ดำเนินการให้โดยอัตโนมัติ
  • อย่างไรก็ตามด้วยความที่สินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละชนิดต่างมีราคาที่ผันผวน วันหนึ่งเมื่อราคาของสกุลเงินในตลาดเปลี่ยนแปลงไป แต่กลไกของ Liquidity Pool ที่ยังคงปรับสมดุลให้มูลค่าระหว่างคู่เหรียญเท่ากันอยู่เหมือนเดิม ก็อาจส่งผลให้ในช่วงเวลาหนึ่งเหรียญที่อยู่ใน Liquidity Pool อาจมีมูลค่าน้อยกว่าการถือครองเหรียญไว้เฉย ๆ โดยไม่เอามาทำ Yield Farming แต่แรก
  • มูลค่าความเสียเปรียบหรือเสียโอกาสเช่นนี้ เรียกว่า Impermanent Loss ซึ่งเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นชั่วคราว และไม่นับว่าเป็นผลขาดทุนที่แท้จริงจนกว่าจะถอนเงินออกจาก Liquidity Pool

ผลตอบแทนในโลกของการทำฟาร์ม

  • มักแสดงเป็นหน่วย APR (Annual Percentage Rate) หรือ APY  (Annual Percentage Yield)
  • ซึ่ง APR หมายถึงผลตอบแทนต่อ  1 ปี ที่ไม่รวมการทบต้นของผลตอบแทน
  • ส่วน APY จะรวมการทบต้นของผลตอบแทน
  • อย่างผลตอบแทน APR 10% ที่คำนวณทบต้นทุกวัน จะเท่ากับผลตอบแทน APY 10.52%
  • หากจะเปรียบเทียบผลตอบแทนจากฟาร์มแต่ละที่ ก็อย่าลืม Convert ให้เป็นหน่วยเดียวกันก่อนด้วย  

ความเสี่ยงเกี่ยวกับการทำฟาร์ม

  • มีอยู่หลายปัจจัย และนั่นทำให้การทำฟาร์มอาจไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนในโลกคริปโตฯ โดยเฉพาะมือใหม่เสมอไป
  • ตัวอย่างความเสี่ยงการทำฟาร์มนั่นคือตัวเลขผลตอบแทนที่แสดงไว้หน้า Liquidity Pool ไม่ใช่ค่าคงที่และไม่ใช่การการันตี แต่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเหมือนอย่างที่ดอกเบี้ยธนาคารก็เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
  • โดยกลไกการกำหนดผลตอบแทนของแต่ละ Liquidity Pool นั้นก็เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า
  • เช่น หาก Liquidity Pool ไหนเริ่มมีสภาพคล่องมาก ผลตอบแทนก็จะมีแนวโน้มน้อยลงเป็นต้น
  • นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ อย่างเรื่อง Impermanent Loss อย่างที่ได้พูดถึงไว้แล้ว
  • รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของแต่ละแพลตฟอร์มที่จะทำ Yield Farming ด้วยนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม Yield Farming คืออะไร? หนทางการขุดเหรียญทำกำไรบนโลก DeFi แบบวิถีเกษตรกร

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"