รับชมบน YouTube: https://youtu.be/kDZxlZIQpd4

เพราะ Cryptocurrency เป็นสินทรัพย์ใหม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับกฎหมายภาษีที่นักลงทุนจะมองข้ามไม่ได้ วันนี้เรามาทำความเข้าใจ 5 ประเด็นหลักที่น่าสนใจของภาษีคริปโตสำหรับสายเทรดกันแบบเข้าใจง่าย ๆ ผ่านคลิปนี้กัน 

กฎหมายภาษีมองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์การลงทุน ไม่ใช่สกุลเงิน 

  • ทำให้กำไรที่ได้จากการแลกเปลี่ยนคริปโตเป็นเงินได้นั้นต้องเสียภาษีด้วย
  • โดยกฎหมายภาษีได้แบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น “คริปโตเคอร์เรนซี” และ “โทเคนดิจิทัล”
  • ทำให้บางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตและโทเคนอาจมีผลลัพธ์ทางกฎหมายที่แตกต่างกันได้
  • เช่น การนำโทเคนไป Stake นับเป็นเงินได้ตามประเภท 4
  • ในขณะที่การนำคริปโตไป Stake นับเป็นเงินได้ตามประเภทที่ 8
  • การนำคริปโตไป Stake จึงเกิดหน้าที่สำหรับผู้มีเงินได้ในการจัดทำบัญชีและยื่นภาษีครึ่งปีหากเงินได้ถึงเกณฑ์ ในขณะที่การนำโทเคนไป Stake จะไม่ทำให้เกิดหน้าที่ตรงนี้

กิจกรรมที่ทำให้เสียภาษี ไม่ได้มีแค่การ “ขาย” 

  • เพราะกฎหมายภาษีไม่ได้มองสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสกุลเงิน การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลต่างชนิดกันจึงถูกมองเป็นการขายสินทรัพย์หนึ่งแล้วเข้าซื้ออีกสินทรัพย์หนึ่ง
  • ดังนั้นหาก ณ จุดเวลาที่มีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นก็นับเป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี
  • เช่น กรณีแลก BTC เป็น ETH หากขณะแลกเหรียญ ราคา BTC เพิ่มขึ้นจากตอนที่ซื้อมาในช่วงก่อนหน้านี้ เท่ากับต้องนำกำไรที่เกิดขึ้นไปเสียภาษีด้วย
  • เช่นเดียวกันกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปซื้อสินค้าหรือบริการ หากขณะซื้อสินค้าหรือบริการเกิดส่วนต่างราคาของเหรียญที่เพิ่มขึ้นจากตอนซื้อเหรียญมา ก็ต้องนำกำไรที่เกิดขึ้นนั้นไปเสียภาษีด้วยเช่นกัน
  • นอกจากนี้กำไรที่ได้รับไม่จำเป็นต้องรอ Cash out เป็นเงินสดเข้ากระเป๋าหรือบัญชีธนาคารก่อนถึงจะนับว่าเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • นั่นคือเพียงแค่ขายแล้วเกิดกำไรก็ต้องบันทึกกำไรที่เกิดขึ้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีแล้ว

คำนวณต้นทุนด้วยวิธี FIFO หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ 

  • เราจะไม่รู้ว่าเกิดกำไรขึ้นเท่าไหร่หากไม่รู้ว่าต้นทุนเป็นเท่าไหร่ ดังนั้นก่อนจะรู้ว่ากำไรเป็นเท่าไหร่ก็ต้องรู้วิธีคำนวณต้นทุนที่ชัดเจนก่อน
  • ซึ่งสรรพากรได้สรุปแล้วว่าให้เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ระหว่าง FIFO หรือต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่
  • เมื่อได้เลือกวิธีไหนแล้วก็ต้องใช้วิธีการนั้นสำหรับตลอดทั้งปีภาษี
  • ถ้าจะเปลี่ยนวิธีคำนวณก็ต้องรอปีภาษีถัดไป ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนได้ไม่ต้องแจ้งขอสรรพากรก่อน
  • นอกจากนี้การคำนวณต้นทุนจะต้องแยกคำนวณกันระหว่างเหรียญแต่ละประเภท เช่น ต้นทุน BTC แยกคำนวณเฉพาะ BTC ด้วยกัน ต้นทุน ETH แยกคำนวณเฉพาะ ETH ด้วยกัน เป็นต้น 

ผลขาดทุนของเหรียญประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน นำไปหักลบจากกำไรได้ 

  • หากเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วขาดทุนมากกว่ากำไร สรรพากรให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นมาหักลบออกจากกำไรที่ได้รับได้ 
  • ข้อสังเกตก็คือจะนำผลขาดทุนที่นำมาหักลบออกจากกำไรได้ แปลว่าต้องมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาแล้วขาดทุนแล้วจริง ๆ ก่อน
  • ถ้าเคยขายแล้วได้กำไรแล้ว แต่มองพอร์ตตอนนี้เห็นว่าติดลบหนักเลยคิดว่าเจ๊ากันพอดี ก็เลยไม่เอากำไรที่ได้รับแล้วมายื่นภาษี แบบนี้ไม่ถูกต้อง
  • นอกจากนี้ ผลขาดทุนที่นำมาหักลบจากกำไรได้ก็จะต้องธุรกรรมที่ได้ทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
  • ถ้าเทรดผ่าน Exchange ในไทยได้กำไร แต่ที่เทรดใน Binance แล้วขาดทุน ก็จะนำผลขาดทุนจากกระดาน Binance มาหักลบกับกระดานในประเทศไทยไม่ได้

เทรดด้วย Wallet ต่างประเทศ อาจไม่ต้องเสียภาษีในไทย ถ้าครบเงื่อนไข 

  • หากกำไรจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลมาจากการเทรดโดยใช้ Wallet ที่ให้บริการโดยบริษัทต่างประเทศ เช่น Binance ก็นับว่าเป็นเงินได้ที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องเสียภาษีในไทยต่อเมื่อ
  • (1) เราเป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลารวมกันถึง 180 วัน และ
  • (2) ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ 
  • ดังนั้น หากขาดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งไป เช่น อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน หรือนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีอื่นที่เป็นคนละปีกันกับที่ได้รับเงินได้ ก็จะไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินได้นั้นมาเสียภาษีในไทย 

อ่านเพิ่มเติม “ภาษีคริปโตฯ” คืออะไร? เสียยังไง? ใครต้องเสียบ้าง? สรุปทุกประเด็นที่ต้องรู้!

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"

iran-israel-war