ด้วยความยืดเยื้อของวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีภาระหนี้สินผูกพัน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จึงได้ทยอยออกโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยังสามารถบริหารจัดการหนี้สินจนผ่านพ้นวิกฤติต่อไปได้ แต่ด้วยรายละเอียดของแต่ละโครงการที่อาจซับซ้อน ก็อาจทำให้ผู้ที่ตั้งใจติดตามโครงการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดความสับสนได้ วันนี้ก็เลยขออาสารวบรวมและสรุปสาระสำคัญของแต่ละโครงการมาให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ

1. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 

  • สำหรับ: ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 
  • เป็นความร่วมมือกันระหว่างแบงก์ชาติ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม สร้างข้อตกลงที่เป็นมาตรฐานในการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้จริง โดยจะครอบคลุมทุกสถานะหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี หนี้เสีย หรือที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว 
  • ผู้ที่สนใจเข้าร่วม กรณีลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเข้าร่วมได้จนถึง 30 มิ.ย. และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เข้าร่วมได้จนถึง 31 ก.ค. นี้ 

2. โครงการรวมหนี้ 

  • สำหรับ: ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน ครอบคลุมทั้งหนี้ดีและหนี้เสียเช่นกัน ยกเว้นกรณีสินเชื่อบ้าน จะยังต้องไม่เป็นหนี้เสีย ถึงจะร่วมโครงการได้ 
  • เปิดโอกาสให้ลูกหนี้รวมหนี้เดิมกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้เจ้าหนี้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยและค่างวดให้ได้ โดยที่ลูกหนี้จะไม่เสียประวัติ ไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับเพิ่มเติม และทำให้ลูกหนี้ยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังเหลือได้ ตามความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง 
  • เข้าร่วมโครงการได้ถึง 31 ธ.ค. 

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะ 3 

  • สำหรับ: ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยจะต้องไม่เป็นหนี้เสีย ณ วันที่ มี.ค. 2563 
  • เป็นความร่วมมือระหว่างแบงก์ชาติ และเจ้าหนี้ หรือผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่ง ในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาชำระหนี้ พักการจ่ายค่างวด หรือปรับวิธีการคิดดอกเบี้ย โดยแบงก์ชาติจะเป็นผู้กำหนดมาตรการขั้นต่ำ ส่วนผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละที่อาจกำหนดรายละเอียดมาตรการของตัวเองให้สอดคล้องกัน หรือช่วยเหลือมากกว่ามาตรการของแบงก์ชาติก็ได้ 
  • ร่วมโครงการได้จนถึง 31 ธ.ค.  

4. คลินิกแก้หนี้ 

  • สำหรับ: ลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อน ก.พ. 64 โดยเฉพาะ 
  • เป็นความร่วมมือของแบงก์ชาติ กับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ที่ได้รับมอบหมายขจากธนาคารเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการ ที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ด้วยการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว ไม่ต้องถูกทวงถามจากเจ้าหนี้หลายราย ผ่อนหนี้ได้ยาวสูงสุดสุดถึง 10 ปี ซึ่งด้วยวิธีนี้จะทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ 
  • ไม่มีกำหนดหมดเขตโครงการ แต่อาจมีการปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการใหม่เรื่อย ๆ 

5. ทางด่วนแก้หนี้ 

  • สำหรับ: ลูกหนี้ทุกประเภท ครอบคลุมทั้งหนี้ดีและหนี้เสีย ที่ได้พยายามติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้ เรื่องไม่คืบหน้า ข้อเสนอที่ได้ยังไม่ช่วยลดภาระได้จริง หรือยังหาข้อยุติร่วมกันกับสถาบันการเงินไม่ได้ 
  • แบงก์ชาติจะช่วยรับเรื่องและเป็นตัวกลางในการเจรจา และไกล่เกลี่ย ให้ได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ 
  • ไม่มีกำหนดหมดเขต

6. หมอหนี้เพื่อประชาชน 

  • พื้นที่เว็บไซต์บริการคอนเทนต์การเงิน สำหรับลูกหนี้ที่ต้องการเรียนรู้วิธีแก้ไขหนี้ด้วยตัวเอง ผ่านการตอบคำถามตรวจสุขภาพหนี้ และบริการให้คำปรึกษาผ่านหมอหนี้ดิจิทัล รอเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 

รายละเอียดเพิ่มเติม

  • ข้อสังเกตของโครงการจากแบงก์ชาติ เน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก เพราะเป็นหนี้ที่มักไม่กลายเป็นสินทรัพย์ในอนาคต ดอกเบี้ยสูง และคนไทยเป็นหนี้กลุ่มหนี้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น ๆ
  • แนะนำให้เข้าร่วมโครงการที่กำหนดระยะเวลาหมดเขตก่อน เพราะเป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่หมดเขต 30 มิ.ย. และ 31 ก.ค. นี้แล้ว รายละเอียดของทุกโครงการ ติดตามต่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ bot.or.th