รับชมบน YouTube: https://youtu.be/tmVvQ0qJe6A

“จ่ายเพียงหลักร้อย ถ้าติดโควิดได้เงินก้อนหลักแสน”

ไม่ว่าใครได้ยินคำโฆษณานี้ก็คงคิดว่าไม่เสียหายอะไรหากจะซื้อประกันโควิดติดตัวคนละเล่มสองเล่ม แต่มาถึงตอนนี้บริษัทประกันที่เคยชวนเราทำประกันตอนนั้นกลับทยอยล้มหายตายจากเพราะจ่ายเคลมให้ไม่ไหวเสียอย่างนั้น แบบนี้เราจะทวงเงินของเราได้จากที่ไหน มาหาคำตอบได้ในคลิปนี้

บริษัทประกันวินาศภัย VS บริษัทประกันชีวิต

  • บริษัทประกันวินาศภัยเป็นคนละอย่างกันกับบริษัทประกันชีวิต โดยประกันโควิดที่เป็นประเด็นอยู่ในทุกวันนี้จะเป็นประกันที่ออกโดยบริษัทประกันวินาศภัย
  • ถึงแม้บริษัทประกัน 2 กลุ่มนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เหมือนกัน แต่กฎหมายที่ใช้บังคับเป็นคนละบทบัญญัติกัน กองทุนที่เกี่ยวข้องในการเยียวยาก็คนละกองทุนกัน
  • ดังนั้นอย่างแรกเลยก็ควรเช็กก่อนว่าประกันที่เรามีนั้น เป็นประกันที่ออกโดยบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต และมีเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างไรบ้าง จะได้ติดตามเรียกร้องสิทธิได้ถูกต้อง
  • ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่าได้สมัครทำประกันอะไรของเจ้าไหนไว้ ก็ไม่ต้องกังวลเลย เราสามารถแอดไลน์ @oicconnect แล้วลงทะเบียนให้เรียบร้อย ภายในประมาณ 1 วันทำการ ก็จะมีรายละเอียดขึ้นมาให้เลยว่าเราได้ทำประกันอะไรของบริษัทอะไร มีผลความคุ้มครองอยู่หรือสิ้นสุดไปแล้ว

การขอเลิกกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย

  • การที่บริษัทประกันวินาศภัยขอเลิกกิจการ จะไม่ทำให้เลิกกิจการสำเร็จในทันที และในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้เลิกกิจการได้ หากเกิดเหตุตามที่ได้ทำประกันไว้ เช่น ติดโควิด ก็จะยังคงเรียกร้องสินไหมจากบริษัทประกันวินาศภัยได้ตามปกติ
  • ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีบริษัทที่ขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม คปภ. ยังไม่อนุญาตให้เลิกกิจการได้ โดยบริษัทดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ผู้เอาประกันให้เรียบร้อยก่อน
  • ตัวอย่างของหลักเกณฑ์ที่ว่า เช่น โอนกรมธรรม์ที่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ไปยังบริษัทประกันอื่น โดยต้องส่งรายชื่อบริษัทที่จะรับโอนให้ คปภ. พิจารณา และผลประโยชน์ของผู้เอาประกันหลังจากที่ได้โอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทใหม่แล้วนั้น จะต้องเท่ากับหรือไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับจากกรมธรรม์เดิม และแสดงแผนจัดการทรัพย์สินหนี้สินให้ คปภ. ทราบ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คปภ. จึงจะนำไปพิจารณาเลิกกิจการต่อไป
  • จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยขอเลิกกิจการแบบนี้ ก็อย่าเพิ่งตกใจไปก่อน เพราะหากเกิดเหตุตามที่ทำประกัน ก็ยังขอเคลมจากบริษัทประกันวินาศภัยนั้นได้อยู่ หรือหากบริษัทประกันวินาศภัยเลิกกิจการแล้ว กรมธรรม์ของเราที่ยังมีผลบังคับอยู่ก็จะถูกโอนไปยังบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นให้เข้ามาดูแลความคุ้มครองแทน

กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต

  • กรณีนี้บริษัทประกันวินาศภัยจะไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ในทันที ผู้ที่ถือกรมธรรม์ของบริษัทดังกล่าวก็จะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิจากบริษัทเดิมได้อีกต่อไป
  • อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้จะมีกองทุนประกันวินาศภัยมารับช่วงดูแลสิทธิตามสัญญาของเราต่อ
  • โดยที่หากเราเป็นผู้ที่มีสิทธิเคลมก่อนที่บริษัทประกันจะปิดตัว อย่างเช่น ติดโควิดตั้งแต่ก่อนบริษัทประกันจะปิดตัว กรณีนี้เราก็จะสามารถเคลมเงินประกันจากกองทุนประกันวินาศภัยแทนได้ โดยจะได้รับสินไหมทดแทนไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
  • ส่วนถ้าเป็นกรณีที่ยังไม่เกิดสิทธิเคลม เช่น เป็นผู้ถือกรมธรรม์แต่ไม่ได้ติดโควิดจนกระทั่งบริษัทปิดตัวไปแล้ว เช่นนี้จะมีสิทธิขอรับเบี้ยประกันคืนตามส่วน โดยขอรับได้จากกองทุนประกันวินาศภัยเช่นกัน

การยื่นคำขอรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย

  • สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://rps-sev.gif.or.th/Login
  • เมื่อกรอกข้อมูล แนบไฟล์เอกสาร และกดยืนยันข้อมูลแล้ว จะถือเป็นการยื่นคำขอต่อกองทุนฯ เรียบร้อย
  • จากนั้นก็ให้พริ้นต์เอกสารจากระบบ พร้อมแนบเอกสารประกอบส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของกองทุนฯ ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารได้เลย
  • ต้องส่งเอกสารภายใน 60 วันนับจากวันที่กองทุนฯ ได้กำหนดในประกาศ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินที่จะจ่ายคืนได้อย่างรวดเร็ว

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"