รับชมบน YouTube: https://youtu.be/4-xRs-hDnqw

เกิดความเข้าใจผิดที่ถูกส่งต่อไปมากมายว่าได้มีการออกกฎหมายใหม่ ส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อรถตั้งแต่มกราคมปี 2566 เป็นต้นไปจะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก แต่แท้ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่อย่างนั้น รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร ติดตามได้ในคลิปนี้

รายละเอียดเรื่องการคิดดอกเบี้ยของสัญญาเช่าซื้อรถ

  • หากความเข้าใจว่าสัญญาเช่าซื้อรถจะถูกปรับเปลี่ยนให้คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเป็นความจริง เมื่อมีการทยอยโปะเงินเพิ่มในแต่ละครั้งที่จ่ายค่างวด ก็คงมีผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดสัญญาลดลง แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น
  • ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ไม่ได้มีการกำหนดให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถฯ ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยสัญญาเช่าซื้อเป็นแบบลดต้นลดดอกแต่อย่างใด
  • เพียงแต่กำหนดให้ในสัญญาเช่าซื้อที่ระบุอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี (Flat Interest Rate) จะต้องระบุอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate) ไว้ด้วยเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นเนื้อหาเดิมตามที่มีอยู่ในประกาศฯ ฉบับเก่าตั้งแต่ปี 2561 
  • การกำหนดให้ต้องระบุอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกไว้คู่กันกับอัตราดอกเบี้ยคงที่นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อที่จะได้นำอัตราดอกเบี้ยไปเปรียบเทียบกับสินเชื่อรูปแบบอื่น ๆ ที่คิดดอกเบี้ยอัตราลดต้นลดดอกได้
  • เช่น กรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถที่กำหนดดอกเบี้ยคงที่ 4.5% ต่อปี โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 48 เดือน ก็ต้องระบุในสัญญาไว้ด้วยว่าดอกเบี้ยคงที่ 4.5% นี้ หากแปลงเป็นดอกเบี้ยตามการคำนวณแบบลดต้นลดดอกจะเท่ากับ 8.82% เป็นต้น
  • สาระสำคัญของการออกประกาศฯ ฉบับใหม่ จริง ๆ แล้วจึงอยู่ที่การกำหนดเพดานของดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดในประกาศฯ เก่ามาก่อน
  • โดยกรณีดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ตามการคำนวณแบบลดต้นลดดอกจะต้องไม่เกิน 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี ซึ่งเพดานนี้ก็อาจถูกปรับเปลี่ยนได้ทุก 3 ปีให้คล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ 

อีกประเด็นสำคัญนั่นคือการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เช่าซื้อที่ต้องการปิดหนี้เช่าซื้อรถให้หมดในคราวเดียว

  • กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าได้จ่ายค่างวดไปแล้วเท่าไร โดยกรณีที่จ่ายแล้วไม่เกิน 1/3 ของค่างวดที่ระบุในสัญญา ก็จะต้องได้รับส่วนลดไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนด
  • กรณีจ่ายแล้วไม่เกิน 2/3 ก็จะต้องได้รับส่วนลดไม่น้อยกว่า 70%
  • และกรณีจ่ายแล้วเกิน 2/3 ก็จะต้องได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จากที่ประกาศเดิมฯ กำหนดว่าจะต้องให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 50% เท่านั้น
  • นอกจากนี้ตามประกาศฯ ใหม่ยังห้ามผู้ให้เช่าซื้อไม่ให้คิดเบี้ยปรับกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดค่างวด เกินกว่า 5% ต่อปี จากประกาศเดิมฯ ที่กำหนดไม่ให้คิดเกิน 15% อีกด้วย

ข้อสรุปจากประกาศฯ ใหม่

  • ดังนั้น ถึงแม้ประกาศฯ ใหม่จะมีผลให้ผู้เช่าซื้อรถได้ประโยชน์มากขึ้นจากประกาศฯ เดิมจริง เนื่องจากอาจมีสัญญาเช่าซื้อรถรูปแบบเดิมบางส่วนที่กำหนดดอกเบี้ยไว้สูงกว่าเพดานที่ประกาศฯ ใหม่ได้กำหนด และหากเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อต้องการปิดหนี้เช่าซื้อรถให้หมดในคราวเดียวก็จะได้ประโยชน์จากส่วนลดที่มากขึ้น
  • แต่ก็ไม่ได้มีผลให้สัญญาเช่าซื้อรถจะต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ นั่นหมายความว่าการทยอยโปะหนี้เช่าซื้อรถไม่ได้ช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยเหมือนอย่างการทยอยโปะหนี้บ้านแต่อย่างใด

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"

iran-israel-war