Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

ในปัจจุบัน การใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนนะครับ จุดสำคัญที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซีมีการใช้งานเป็นวงกว้าง คือ smart contract ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเขียนกลไกที่มีความซับซ้อน และเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานได้ นั่นทำให้คริปโตเคอร์เรนซีเติบโตขึ้นอย่างมาก มูลค่าสินทรัพย์ที่หมุนเวียนอยู่ในแต่ละบล็อกเชนพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด และทำให้โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีหลาย ๆ โปรเจกต์ เริ่มขยายฐานการใช้งานเข้ามาที่โลกการเงินดั้งเดิมมากขึ้น เราเห็นโปรเจกต์คริปโตและเทคโนโลยีบล็อกเชนกระโดดเข้าไปร่วมแข่งขันในหลากหลายอุตสาหกรรมครับ ทั้งห่วงโซ่อุปทาน การแพทย์ หรือ การเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งการขยายฐานการใช้งานช่วยให้คริปโตเคอร์เรนซีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากครับ

ถ้าหากพูดถึงประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าคู่แข่ง ชื่อแรกที่หลาย ๆ คนจะนึกถึงคือสหรัฐอเมริกาใช่ไหมครับ โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ก็ถือกำเนิดในประเทศสหรัฐฯ ทั้งนั้น แต่อีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน คือสาธารณรัฐประชาชนจีนครับ ในปัจจุบันเราจะเห็นเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ หลายอย่างจากประเทศจีน และเศรษฐกิจของจีนก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีตัวหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และมีเป้าหมายที่จะเจาะกลุ่มผู้ใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะกลายเป็น smart economy ในอนาคต ด้วยโครงสร้างการออกแบบ และเทคโนโลยีหลายอย่างที่มีความเฉพาะตัว ไปทำความรู้จัก Neo กันครับ

Neo เป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชน open-source ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการเขียน smart contract โดยเฉพาะ โดย Neo กล่าวว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์เกี่ยวกับ smart contract ครบครันที่สุด ซึ่งมาพร้อมกับโครงสร้างเครือข่ายที่เอื้อต่อการต่อยอดแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (cloud storage), แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (oracles) หรือ domain name service ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้งานครับ โดยวิสัยทัศน์ของโปรเจกต์คือเป็นเครือข่ายสำหรับ smart economy ในอนาคต และเป้าหมายของโปรเจกต์คือทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ทุกชนิด ทั้งสินทรัพย์ที่มีตัวตนอยู่จริงและสินทรัพย์ดิจิทัล ในรูปแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาความเชื่อถือบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ครับ

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

จุดเริ่มต้นของ Neo เกิดจากการก่อตั้งบริษัท AntShares ในประเทศจีน เมื่อปี 2014 โดยคุณ​ Da Hongfei และ Erik Zhang และมีการเปิดใช้งาน mainnet ครั้งแรกในปี 2016 เป็นบล็อกเชนสาธารณะ (public blockchain) แรกที่เปิดใช้งานในประเทศจีน จากนั้นในปี 2017 mainnet ดังกล่าวมีการเพิ่มฟีเจอร์ smart contract และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Neo ครับ ทำให้ Neo เป็นบล็อกเชน smart contract ยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้ครับ ในปัจจุบันบล็อกเชนของ Neo ดำเนินมาถึงเวอร์ชัน 3 (เรียกว่า N3) แล้วครับ ซึ่งการอัปเกรด N3 ถือเป็นการอัปเกรดที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดของ Neo เลยก็ว่าได้ โดยเป็นการรวบรวมฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ smart contract ตามที่กล่าวไปข้างต้นมาไว้ในบล็อกเชนตัวเดียวครับ โดยในปัจจุบัน การพัฒนาของ Neo อยู่ภายใต้การดูแลของ Neo Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ครับ

เนื่องด้วยความคล้ายคลึงกับ Ethereum ในแง่ของการถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบล็อกเชน smart contract ทำให้ในหลาย ๆ ครั้ง Neo ได้รับสมญานามว่า Chinese Ethereum ครับ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าวิสัยทัศน์ของ Neo คือการเป็นเครือข่าย smart economy การจะตอบโจทย์ดังกล่าว นอกเหนือจาก smart contract แล้ว Neo ยังมีเป้าหมายรองรับการสร้าง digitized assets หรือการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลบนบล็อกเชน ที่มีสินทรัพย์บนโลกความเป็นจริง เช่น ที่ดิน งานศิลปะ เป็นหลักประกันมูลค่าครับ

Consensus Mechanism

กลไกฉันทามติของ Neo มีชื่อว่า Delegated Byzantine Fault Tolerance (dBFT) ครับ ซึ่งในปัจจุบันถูกอัปเกรดเป็น dBFT 2.0 แล้ว โดย dBFT ของ Neo ถูกออกแบบมาให้ผู้ตรวจสอบภายในบล็อกเชนจะต้องยอมรับธุรกรรมอย่างน้อย 2/3 ของจำนวนผู้ตรวจสอบทั้งหมด ธุรกรรมดังกล่าวจึงจะถูกเขียนลงบนบล็อกใหม่ของบล็อกเชนครับ

นอกจากนี้ Neo ยังถูกออกแบบมาให้ทุก ๆ ธุรกรรมที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว ถูกตั้งสถานะว่า completed ในทันทีที่ถูกเขียนลงบนบล็อกเชนครับ นั่นทำให้ Neo เป็นบล็อกเชนที่ไม่สามารถย้อนสถานะกลับได้ (ธุรกรรมที่ถูกเขียนลงบนบล็อกเชนแล้ว จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะถูกปรับใช้กับทุก ๆ แอปพลิเคชันบนบล็อกเชน Neo ครับ

NeoFS

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

เป็นเครือข่ายเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed and decentralized object storage network) ซึ่ง Neo ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งเครือข่ายเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ที่ใช้งานกันปกติในปัจจุบัน ซึ่ง Neo ชูจุดเด่นเครือข่ายเก็บข้อมูลดังกล่าวในเรื่องของความเป็นส่วนตัว (privacy) ของข้อมูลครับ โดยผู้ใช้งานสามารถควบคุมสิทธิในการเข้าถึงสำหรับข้อมูลของตนได้เต็มที่ ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้บน NeoFS จะถูกเข้ารหัส และสามารถเลือกได้ว่าจะให้ผู้ใช้งานคนไหนบ้างถอดรหัสข้อมูลได้ NeoFS มาพร้อมกับกลไก zero-knowledge data validation ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ครับ และยังมีการเก็บข้อมูลซ้ำ (replication) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ถึงแม้จะมีพื้นที่เก็บข้อมูลบางส่วนใช้งานไม่ได้ครับ

กลไกทางเศรษฐศาสตร์ของ NeoFS มีลักษณะเป็นตลาดเปิด ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากข้อมูลได้ แลกกับค่าตอบแทนบางอย่างครับ ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้งานที่ต้องการเก็บข้อมูลบน NeoFS มีอิสระในการเลือกฐานข้อมูลที่ต้องการ และสามารถเพิ่มขนาดฐานข้อมูล (scale up) ได้โดยง่ายครับ

NeoID

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

ปัญหาเรื่องการระบุตัวตนในโลกการเงินกระจายศูนย์ถือเป็นปัญหาใหญ่ครับ ด้วยแนวคิดของการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนที่จะต้องไม่ปรากฎข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ทำให้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานครับ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนในบางรูปแบบ สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ถ้าหากมีการระบุตัวตนผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น decentralized autonomous organization (DAO) สามารถใช้การระบุตัวตนดังกล่าว เพื่อป้องกันการโจมตีที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสร้างตัวตนปลอมออกมาหลาย ๆ ตัวตน เพื่อบิดเบือนเสียงโหวต (Sybil attack) ครับ ซึ่ง​ Neo ก็มี NeoID ที่เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยระบุตัวตนของผู้ใช้งาน ซึ่งสิทธิในการควบคุมตัวตนดิจิทัลจะอยู่กับผู้ใช้งานแต่เพียงผู้เดียวครับ และการใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อขอสิทธิในการทำธุรกรรมบางอย่าง จะไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวไปให้ผู้อื่นแต่อย่างใด

Neo Name Service (NNS)

Name service เป็นฟีเจอร์ที่ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา สวนกับกระแสคริปโตเคอร์เรนซีด้านอื่น ๆ ที่ได้รับความสนใจน้อยลงครับ แนวคิดของ name service คือการสร้างชื่อโดเมนเว็บออกมาในรูปแบบของ NFT บนบล็อกเชน และบนบล็อกเชนสามารถมีตลาดเพื่อให้ซื้อขายโดเมนเหล่านี้ได้อย่างอิสระครับ การทำแบบนี้จะช่วยการันตีความเป็นเจ้าของของชื่อโดเมน และเพิ่มความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนครับ (จากเดิมที่เราจะต้องกรอกที่อยู่กระเป๋าที่เป็นอักขระยาว ๆ ก็สามารถกรอกเป็นชื่อโดเมนของผู้ที่เราจะทำธุรกรรมด้วยได้เลยครับ)

NNS เป็นบริการ name service ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยทีมพัฒนาของ Neo เองครับ ทำให้ความเข้ากันได้ของ NNS กับบล็อกเชน Neo รวมถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ของโปรเจกต์ มีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ผู้ใช้งานจะมีสิทธิควบคุมชื่อโดเมน ตั้งแต่การเปิดใช้งาน ต่ออายุ ปิดใช้งาน และควบคุมการมองเห็นจากผู้ใช้งานอื่น ๆ นอกจากนี้ Neo ยังมีตลาดที่เปิดให้ซื้อขายชื่อโดเมนได้อีกด้วยครับ

Oracles

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

Smart contract บนบล็อกเชนจะทำงานได้ไม่เต็มรูปแบบ ถ้าหากไม่มีแหล่งข้อมูลที่ดีเพียงพอที่จะไหลข้อมูลมาให้กับบล็อกเชนนะครับ oracles คือแหล่งข้อมูลที่ว่าครับ โดยจะเป็นแหล่งข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากนอกบล็อกเชนและส่งเข้ามาในบล็อกเชนครับ ข้อมูลที่ว่าก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่นหุ้น ทองคำ น้ำมัน หรือคริปโตเคอร์เรนซีบนบล็อกเชนอื่น, ข้อมูลสภาพอากาศ, ผลการแข่งขันกีฬา, ผลการเลือกตั้ง และอื่น ๆ อีกมากมายครับ

โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีโดยส่วนใหญ่จะใช้บริการ oracle ที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น Chainlink หรือ Band Protocol (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Chainlink ได้ที่นี่) ครับ เนื่องจากการสร้าง oracle ขึ้นมาเองมีความยากในหลายจุด ตั้งแต่การค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การสร้างระบบเพื่อดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเหล่านั้น และสำคัญที่สุดคือการทำอย่างไรก็ได้ให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รับมามีความถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ครับ แต่ Neo เลือกที่จะสร้าง oracle ของตัวเองครับ เนื่องจากการใช้ oracle ที่สร้างขึ้นมาเองจะช่วยให้เชื่อมต่อกับบล็อกเชนของ Neo ได้ดีกว่า และสามารถอัปเกรด oracle ให้เป็นไปตามต้องการได้ครับ

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

โดยหลักการแล้ว ผู้ใช้งานทุกคนที่ถือ NEO ซึ่งเป็น governance token ของโปรเจกต์ สามารถมีส่วนร่วมโหวตกำหนดทิศทางการพัฒนาของโปรเจกต์ได้ครับ ยิ่งถือครอง NEO เยอะ ยิ่งมีเสียงโหวตเยอะ แต่นอกเหนือจากผู้ถือครองทั่วไปแล้ว จะมีกลุ่มผู้ใช้งานที่เรียกว่า Neo Council ซึ่งเป็นผู้ใช้งานที่ถูกคัดเลือกมาทั้งหมด 21 คนครับ ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสมัครเป็นสมาชิกของ Neo Council ได้ แต่จะต้องได้รับเสียงโหวตจากผู้ใช้งานทั่วไปให้มากเป็น 1 ใน 21 อันดับสูงสุด จึงจะได้รับสิทธิการเป็นสมาชิกครับ หน้าที่ของ Neo Council คือการดูแลความเรียบร้อยของโปรเจกต์ Neo ตั้งแต่การปรับค่าตัวแปรต่าง ๆ ของตัวบล็อกเชน เช่นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม หรือเป็นผู้คัดเลือกแหล่งข้อมูลภายนอกเพื่อให้ส่งข้อมูลเข้ามายังบล็อกเชนครับ

ถัดจาก Neo Council จะมีการคัดเลือก Consensus Nodes ซึ่งจะคัดเลือกเอา 7 สมาชิกจาก Neo Council ที่มีเสียงโหวตสูงสุด มาเป็น Consensus Nodes โดยจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในบล็อกเชน และเขียนเป็นบล็อกใหม่ครับ โดยการโหวตเลือก Neo Council และ Consensus Nodes จะเกิดขึ้นทุก ๆ 21 บล็อกครับ

Neo เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่ใช้ระบบ dual token ครับ นั่นคือภายในโปรเจกต์จะมีโทเคนหลักอยู่สองตัว ที่ทำหน้าที่ต่างกัน (แตกต่างจากโปรเจกต์คริปโตหลาย ๆ โปรเจกต์ที่จะมีโทเคนหลักเพียงตัวเดียว) โปรเจกต์อื่น ๆ ที่ใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น Theta (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Theta ได้ที่นี่)

NEO

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

เป็นโทเคนที่ทำหน้าที่เป็น governance token ครับ นั่นคือผู้ที่ถือครอง NEO จะมีสิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความเป็นไปต่าง ๆ ของตัวโปรเจกต์ NEO ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมด 100 ล้านเหรียญ โดยถูกผลิตขึ้นมาตั้งแต่บล็อกแรกครับ 50% ของปริมาณอุปทานถูกแบ่งให้กับนักลงทุนยุคเริ่มต้นโปรเจกต์ และอีก 50% ที่เหลือถูกแบ่งเก็บไว้กับ Neo Council โดยมีแผนการใช้งานดังนี้

  • 20% ถูกใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักพัฒนาทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวโปรเจกต์ รวมถึงสมาชิกใน Neo Council
  • 15% ใช้สำหรับการลงทุนในบล็อกเชนใหม่ ๆ ภายใต้โปรเจกต์ Neo
  • 15% ถูกกันสำรองไว้เผื่อเหตุฉุกเฉิน

NEO เป็นโทเคนที่มีลักษณะแตกต่างจากโทเคนคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป ตรงที่โทเคนของ NEO ไม่สามารถถูกแบ่งได้ครับ สมมติจะทำธุรกรรมด้วย NEO จะต้องใส่จำนวนโทเคนเป็นจำนวนเต็มเช่น 1, 2, 3, … เท่านั้น ไม่สามารถใส่จุดทศนิยมได้ ซึ่งการทำธุรกรรมที่ว่า รวมทั้งการโอน NEO ออกจากกระดานเทรดรวมศูนย์อย่างเช่น Binance, CoinEx ไปยังบล็อกเชนของ Neo ด้วยครับ

ในเครือข่ายของ Neo จะมีกลุ่มผู้ใช้งานที่เรียกว่า Neo Committee อยู่ครับ โดย Neo Committee ประกอบไปด้วย node ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม และสมาชิกอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของโปรเจกต์ ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถวาง (stake) NEO เพื่อเป็นหลักประกัน หรือเลือกฝาก (delegate) NEO ให้กับผู้ตรวจสอบอื่น ๆ ได้ครับ โดยอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน (เมษายน 2023) อยู่ที่ 2.9% ต่อปีครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (เมษายน 2023) NEO มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 869 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 59 ในบรรดาโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด และ 1 NEO มีมูลค่าอยู่ที่ 12.31 ดอลลาร์สหรัฐครับ

GAS

หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Neo Gas Token เป็นอีกหนึ่งโทเคนหลักของระบบนิเวศของ Neo ครับ โดยจะทำหน้าที่เป็น gas token ของโปรเจกต์ หมายความว่าการทำธุรกรรมใด ๆ ภายในระบบนิเวศของ Neo จะต้องจ่ายค่าทำธุรกรรมด้วย GAS ทั้งหมดครับ

GAS มีปริมาณอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 100 ล้านโทเคน และจะถูกผลิตในทุก ๆ ครั้งที่มีการเขียนบล็อกใหม่ โดยมีอัตราการผลิตในปีแรกที่มีการเริ่มต้นบล็อกเชนอยู่ที่ 8 โทเคนต่อบล็อก และปรับลดลง 1 โทเคนสำหรับทุก ๆ 2 ล้านบล็อก (ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี) จนลดลงถึง 1 โทเคนต่อบล็อกครับ (อัตราการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 5 โทเคนต่อบล็อก) ด้วยอัตราการผลิตดังกล่าว ทางทีม Neo คาดการณ์ว่าปริมาณอุปทานของ GAS จะแตะ 100 ล้านโทเคนในระยะเวลา 22 ปีครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (เมษายน 2023) GAS มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 47.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 477 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด

GAS ที่ถูกผลิตขึ้นมาในแต่ละบล็อกจะถูกแบ่งให้กับผู้ใช้งานตามสัดส่วนดังนี้

  • 80% แบ่งให้กับผู้ที่เขียนบล็อกใหม่
  • 10% แบ่งให้กับผู้ที่ถือครอง NEO ในกระเป๋าเงินดิจิทัล*
  • 10% แบ่งให้กับสมาชิกใน Neo Council

*สำหรับผู้ที่ถือ NEO ใน non-custody wallet ครับ ผู้ใช้งานที่ถือ NEO ในกระดานเทรดรวมศูนย์เช่น Binance หรือ CoinEx ต้องไปดูรายละเอียดของแพลตฟอร์มครับ บางแพลตฟอร์มจะมีฟังก์ชันจ่าย GAS ให้กับผู้ถือครอง แต่บางแพลตฟอร์มก็ไม่มีครับ

Ecosystem Expansion

ทีมพัฒนาของ Neo มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัดเจนครับว่าจะทำให้ Neo เป็นเครือข่ายสำหรับ smart economy ในอนาคต ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง Neo เองให้ความสำคัญกับด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม การสร้าง smart contract, oracles, storage, และ identity ครับ เพื่อให้ตัวโปรเจกต์มีฐานรากที่แข็งแรง พร้อมรองรับฐานผู้ใช้งานที่มากขึ้นและหลากหลายขึ้น นั่นทำให้จนถึงปัจจุบัน Neo อาจจะยังไม่ได้โฟกัสในเรื่องการขยายฐานผู้ใช้งานไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากนักครับ

แต่ในปัจจุบันที่มีการเปิดใช้งาน N3 ซึ่งเป็นเวอร์ชันอัปเกรดล่าสุด ที่ค่อนข้างพร้อมต่อการใช้งาน หลังจากนี้ Neo เองน่าจะปรับโฟกัสไปที่โจทย์ด้านธุรกิจมากขึ้น โดยขยายฐานผู้ใช้งานไปในวงกว้างขึ้น นอกเหนือจากสิ่งที่บล็อกเชนอื่น ๆ ทำได้อยู่แล้วอย่าง DeFi หรือ NFT ครับ ยกตัวอย่างเช่นการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management) ที่ในปัจจุบันมี VeChain เป็นผู้เล่นรายใหญ่เพียงเจ้าเดียวในอุตสาหกรรมนี้ครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ VeChain ได้ที่นี่)

China

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

ประเทศจีนเป็นประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีครับ โดยสามารถเห็นได้จากนโยบายต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลจีนร่างขึ้นเพื่อควบคุมการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่นการแบนการขุดคริปโตเคอร์เรนซีที่เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019, การจำกัดการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีผ่านกระดานเทรดโดยบังคับยืนยันตัวตนผ่านกระบวนการ know your customers (KYC) ครับ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลเชิงลบต่อคริปโตเคอร์เรนซีที่ถือกำเนิดมาจากประเทศจีน หรือมีฐานผู้ใช้งานอยู่ในประเทศจีน (เช่น Polkadot) ครับ Neo เองก็ถือเป็นโปรเจกต์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศจีนค่อนข้างมาก เพราะว่าผู้ก่อตั้งก็เป็นคนจีน เริ่มต้นจากบริษัทในประเทศจีน และมีชุมชนผู้ใช้งานชาวจีนค่อนข้างเยอะครับ ดังนั้นความเสี่ยงในด้านการถูกควบคุมการใช้งานจากรัฐบาลจีนก็ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่สำหรับ Neo เช่นกันครับ

Centralization

Neo: บล็อกเชนแดนมังกร

การออกแบบโครงสร้างของ Neo ทำให้ตัวโปรเจกต์มีความรวมศูนย์สูงพอสมควรครับ ปัจจัยสำคัญคือการมีอยู่ของ Neo Council ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากสมาชิก 21 คน ที่มีสิทธิในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของตัวโปรเจกต์ครับ รวมถึง Consensus Nodes ที่มีสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมและเขียนบล็อกใหม่ โครงสร้างดังกล่าวทำให้สิทธิในการตัดสินใจหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ อยู่ใต้อำนาจของผู้ใช้งานไม่กี่คนเท่านั้นครับ ถึงแม้ว่าทั้ง Neo Council และ Consensus Nodes จะถูกเลือกด้วยเสียงโหวตจากผู้ใช้งานทุกคน แต่ถ้าหากเทียบกับรูปแบบการปกครอง (governance) ของคริปโตเคอร์เรนซีโปรเจกต์อื่น ๆ แล้ว โครงสร้างของ Neo ถือว่ามีความรวมศูนย์อยู่เยอะครับ

Neo เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่เรียกได้ว่ามีครบทุกฟีเจอร์ครับ ตั้งแต่ smart contract, decentralized identity, name service, รวมถึง oracles ซึ่งโปรเจกต์คริปโตหลาย ๆ โปรเจกต์ ไม่ได้ทำทุกอย่างเองแบบนี้ครับ การสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่เองถือเป็นกระบวนการที่ใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก แต่ก็แลกมาด้วยความเข้ากันได้ของทุก ๆ ฟีเจอร์ภายใน Neo ที่มีมากกว่าโปรเจกต์คริปโตตัวอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำแบบนี้แน่นอนครับ

แต่ Neo เองก็ยังมีหลากหลายประเด็นที่ต้องติดตามนะครับ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นความจริงที่ตัวโปรเจกต์และผู้ก่อตั้งมาจากประเทศจีน ทุกคนคงทราบดีครับว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับคริปโตเคอร์เรนซีสักเท่าไหร่ สังเกตุได้จากข่าวที่มีการพยายามแบน Bitcoin และคริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ มาหลายครั้ง ถึงแม้ในปัจจุบันข่าวในลักษณะดังกล่าวจะหายไปจากหน้าสื่อ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ครับว่ารัฐบาลจีนจะไม่ออกมาตรการควบคุมการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลมาอีกในอนาคต ถ้าหากมีมาตรการในลักษณะดังกล่าวออกมาอีก ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดคงได้รับผลกระทบ แต่ Neo น่าจะเป็นโปรเจกต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโปรเจกต์หนึ่งครับ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือเรื่องความรวมศูนย์ตามที่กล่าวไปข้างต้น โครงสร้างการปกครองของชุมชนผู้ใช้งาน Neo มีความคล้ายคลึงกับระบบการปกครองของหลาย ๆ ประเทศนะครับ ที่ประชาชนจะมีการเลือกผู้แทนด้วยกลไกบางอย่าง แล้วผู้แทนกลุ่มนี้จะถือเป็นตัวแทนของประชาชน มีสิทธิในการออกเสียงโหวต เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเสนอเข้ามา ซึ่งจะแตกต่างจากโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีโปรเจกต์อื่น และมีความรวมศูนย์ที่สูงครับ

โดยสรุปแล้ว ถ้าหากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี Neo ถือว่าเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าครับ มีระบบนิเวศของโปรเจกต์ที่มีพร้อมทุกอย่าง เหลือเพียงแต่การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งาน ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปครับว่า Neo จะสามารถเจาะตลาดผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นเครือข่าย smart economy ตามวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งได้หรือไม่ครับ

CodeBreaker

ที่มาบทความ: https://link.medium.com/pXCbf8sN8yb


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้