วันนี้เมื่อ 7 ปีทีแล้ว ผมเพิ่งได้รู้จักกับชายหัวขบถ ชิงชังกฎเกณฑ์ บ้าพอที่จะคิดว่าตัวเองพลิกโลกได้ มาถึงวันนี้…วันที่คงไม่ต้องเล่าอีกแล้วว่าเขาเกิดที่ไหน ทำอะไรไว้ขนาดไหน แต่ผมจะขอเล่าในมุมมองของนิสัยที่เมื่อครั้งได้รู้จักกับเขาแล้วมีอิทธิพลต่อทั้งชีวิตการเรียนและการทำงานของผมตั้งแต่นั้นมา
…จุดเริ่มต้นของตำนานระดับหัวแถว น่าจะเริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1970 เมื่อสตีฟกับสตีฟมาพบกัน จุดประกายผลิตภัณฑ์อันเป็นที่จดจำอย่าง Apple I และ Apple II แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นความบ้าระดับเข้าเส้นเท่านั้น หนึ่งในสุดยอดผลิตภัณฑ์ที่โลกได้รู้จัก ซึ่งถูกผลักดัน เคี่ยวเข็ญ ทุบจนอัตตาตัวตนสลายไป นามว่า Macintosh
คอมพิวเตอร์ระดับพระกาฬเครื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดขุนพลเกรด A ซึ่งจ๊อบส์ได้ลากตัวเข้าทีม Macintosh จากนั้นกระตุ้นจนสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้โดยใช้หลักการ…
จ๊อบส์ห้ามลูกทีมทำงานแบบขายผ้าเอาหน้ารอด จะไม่มีการทำงานแบบสมยอม จ๊อบส์โวยแบบไม่ไว้หน้า แต่ด้วยสไตล์ดังกล่าวช่วยปลูกฝังให้ทีมสร้างสิ่งที่ไม่คาดว่าจะทำได้มาก่อน จ๊อบส์ให้เหตุผลว่า เมื่อคุณมีคนเก่งอยู่ในมือ ไม่จำเป็นต้องโอ๋ คุณต้องผลักดันให้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ คนเก่งระดับ A+ อยากทำงานกับคนเก่งเหมือนกัน แม้จะมองว่าจ๊อบส์ไม่จำเป็นต้องใช้สไตล์รุนแรงเช่นนี้ แต่สมาชิกทีมก็ออกมายอมรับว่า เจ็บแต่คุ้ม วิธีเดียวที่จะค้านจ๊อบส์ได้ คือ ต้องรู้แน่ว่ากำลังพูดหรือทำอะไรอยู่ เขาจะอดทนฟัง จ๊อบส์จะพอใจมากที่คนเหล่านั้นมีเลือดหัวรั้นอยู่ในตัว กล้าท้าทายผู้มีอำนาจ เพราะเป็นสิ่งที่เขาเคยทำมาเช่นกัน…
แต่การจะผลักดันให้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ต้อง ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า…
มีวันหนึ่งจ๊อบส์ลุยไปหา แลร์รี่ เคนยอน (Larry Kenyon) วิศวกรระบบปฏิบัติการ บ่นเรื่องเครื่องบูตนานเกินไป “นายจะหาทางบูตเครื่องให้ได้เร็วกว่านี้อีก 10 วินาทีมั้ย ถ้ามันจะช่วยชีวิตคนไว้ได้” เคนยอนตอบว่าอาจจะทำ จ๊อบส์เขียนบนกระดานให้ดูว่าถ้าคน 5 ล้านคนใช้เวลาบูตเครื่องมากขึ้นคนละ 10 วินาทีทุกวัน รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 300 ล้านชั่วโมงต่อปี เท่ากับช่วงชีวิตของคนอย่างน้อย 100 คนที่รักษาไว้ได้ ไม่กี่อาทิตย์ต่อมา เคนยอนกลับมาพร้อม Mac ที่บูตเครื่องเร็วขึ้นอีก 28 วินาที
ปรัชญาขั้นเทพที่จ๊อบส์ยึดถือมาตลอดเกิดจากบุคคลที่เปรียบเสมือนพ่อ นั่นคือ ไมค์ มาร์คคูลา (Mike Markkula)
กล่าวถึง 1) เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) “ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าดีกว่าบริษัทอื่น”
2) มุ่งมั่นที่เป้าหมาย (Focus) “เพื่อทำสิ่งที่เราอยากทำให้ได้ผลที่ดีที่สุด ต้องตัดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สำคัญออกไปให้หมด”
3) สร้างภาพ (Impute) “คนตัดสินว่าหนังสือดีหรือไม่ดีจากหน้าปก แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยม หากนำเสนอชุ่ยๆ ผู้บริโภคจะคิดว่าผลิตภัณฑ์ของเราชุ่ยไปด้วย”
จ๊อบส์เลือกแบบกล่องที่พิมพ์สี่สี แก้ไปมาตั้ง 50 รอบ “ทุกความรู้สึกและทุกสัมผัสเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์”
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนเมื่อยอดขาย Mac ไม่ตรงเป้า บวกกับพฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น จ๊อบส์ถูกกดดันจนต้องตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเองใหม่นามว่า NeXT พร้อมปลุกปั้น PIXAR ขึ้นมาผงาดในโลกภาพยนตร์อนิเมชั่น ขณะที่ Apple ก็ร่วงลงเรื่อยๆ จนต้องตัดสินใจซื้อ NeXT เพื่อนำจ๊อบส์กลับมากอบกู้ซาก และแล้ว…วันที่ 2 ธันวาคม 1996 จ๊อบส์กลับมาเหยียบอาณาจักร Apple ที่จากไปเมื่อ 11 ปีก่อนอีกครั้ง…ผ่านไปหลายปี ก็ยังบ้าเหมือนเดิม
…ย่างสามขุมสู่คูเปอร์ติโน่ ในที่สุดจ๊อบส์ก็ได้เวลาสำแดงเดช “เพราะผู้แพ้ในวันนี้จะเป็นผู้ชนะในวันหน้า” — Bob Dylan
แด่ “คนบ้า” ที่ “คิดต่าง” สำหรับแคมเปญโฆษณาที่จ๊อบส์นิยามให้ตัวเองและ Apple เป็นเด็กสวนกระแสวัฒนธรรม เน้นเลือดขบถ แม้จะกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านแล้วก็ตาม นอกจากหนังโฆษณาแล้ว ยังมีแคมเปญสิ่งพิมพ์ที่ติดตราตรึงใจมากที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ ภาพขาวดำของบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น ไอน์สไตน์, คานธี, เลนนอน… เหล่านี้เป็นคนที่สร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง เอาชนะความล้มเหลว แต่จ๊อบส์ก็ยังใส่ใจในความสมบูรณ์แบบเช่นเดิม…“รูปนี้ไม่ใช่” เขาระเบิดใส่ ลี คลาว ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ เมื่อไม่ได้รูปของคานธีกำลังนั่งปั่นด้าย จ๊อบส์จัดการโทรหาเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพและตื๊อไม่หยุดจนต้องยอมอนุญาตให้ใช้ภาพ
ปัญหาใหญ่ที่ Apple กำลังเผชิญในตอนนั้น คือ กำลังหลุดโฟกัส
Apple มี Macintosh ถึง 12 เวอร์ชั่น จ๊อบส์ตัดประเภทผลิตภัณฑ์ด้วยคำถามง่ายๆ “เวอร์ชั่นไหนที่ผมควรแนะนำให้เพื่อนๆ ซื้อ” ด้วยคำถามนี้ 70% ถูกตัดออกไป ในการประชุมวางแผนกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์สำคัญ จ๊อบส์เหลืออด แล้วคว้าเมจิก ตีตาราง 4 ช่อง เขียนคำว่า “ผู้บริโภค” และ “มืออาชีพ” เหนือตารางด้านบน และเขียน “เดสก์ทอป” และ “พกพา” กำกับแต่ละแถวที่ด้านข้างของตาราง จากนั้น Apple ก็ทุ่มความสนใจเรื่องสำคัญเพียง 4 เรื่อง ซึ่ง iMac คือหนึ่งในผลผลิตชั้นยอดเหล่านั้น พร้อมกับสุดยอดปรัชญาที่กล่าวไว้ว่า “การตัดสินใจไม่ทำอะไรมีความสำคัญพอๆ กับการตัดสินใจจะทำอะไร”
เพราะ…“ความเรียบง่ายคือสุดยอดของศาสตร์” (Simplicity is the ultimate sophistication.) รากเหง้าความเรียบง่ายในใจจ๊อบส์ต้องย้อนกลับไปสมัยทำงานกะกลางคืนที่ Atari
ตู้วิดีโอเกมส์ที่ไม่มีคู่มือการใช้งาน มีเพียงคำอธิบายวิธีใช้งานสั้นๆ ที่ง่ายและไม่ซับซ้อน เพียง 2 ข้อ คือ 1) หยอดเหรียญ 2) หลบสัตว์ประหลาด ยิ่งเมื่อมาพบกับ โจนาธาน ไอฟฟ์ (Jonathan Ive) คนนี้แหละ คือ คู่หูคู่ใจในการแสวงหาความเรียบง่ายอย่างแท้จริงที่มิใช่เพียงเปลือกนอก จ๊อบส์พบเขาในสตูดิโอออกแบบของ Apple นับจากนั้นมา ทั้งสองช่วยกันออกแบบและปลุกปั้นผลงานทุกชิ้นเพื่อดูว่าจะทำให้มันเรียบง่ายกว่าเดิมได้อีกหรือไม่ จ๊อบส์ตั้งเป้ารังสรรค์ความเรียบง่ายให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยการเอาชนะความซับซ้อนไม่ใช่การเพิกเฉย ยอมรับเถอะว่าผลิตภัณฑ์ที่รังสรรค์ออกมามันใช้ง่ายและดีบ้าเลือดจริงๆ
คงไม่ต้องบรรยายกันอีกแล้วว่าเรื่องราวแสนยาวเหยียดต่อจากนั้นเป็นเช่นไร มรดกดังกล่าวยังตกทอดมาถึงทุกวันนี้ หลายคนกำลังใช้มันอยู่ ณ ตอนนี้ หากจะรวบให้เหลือคำเดียว ก็คงหนีไม่พ้น…”ตำนาน”
อ้อ…แล้วอีกอย่างหนึ่งนะ!! แด่ “คนบ้า” แหกคอก ขบถ เหล่าหมุดกลมในช่องสี่เหลี่ยม…
“Stay hungry, stay foolish”
เพราะทุกคนพลิกโลกได้จริงๆ…ขอบคุณ
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุน