สรุป บทที่ 8 จาก The Intelligent Investor: บทนี้ปู่บัฟเฟตต์รัก

เมื่อสองเดือนก่อน ได้อ่านสรุปการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway มีหนังสือที่ปู่บัฟเฟตต์แนะนำ คือ บทที่ 8 ของหนังสือ The Intelligent Investor ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เลยจัดการอ่านใหม่และสรุปออกมาให้ได้อ่านกันครับ

เกริ่นนำ

ความผันผวนของราคาคือเรื่องที่นักลงทุนควรตระหนัก ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาราคาขึ้นลงในช่วงกว้างตลอด นักลงทุนควรหาประโยชน์โดยเข้าซื้อขายหุ้น ณ ระดับพอใจ

การใช้ความผันผวนของตลาดเป็นแนวทางตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนที่ฉลาดหากำไรจากการแกว่งตัว โดยใช้การจับจังหวะตลาด คือความพยายามคาดการณ์ทิศทางตลาด และการพิจารณาราคา คือ ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมและขายเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่านั้นควบคู่กัน การกำไรโดยใช้เพียงแค่การจับจังหวะตลาดโดยปราศจากการพิจารณาราคา มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย รวมไปถึงทฤษฎีดาว (Dow Theory) เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมที่มากขึ้นส่งผลให้ผลสำเร็จต่ำลง

แนวทางการซื้อถูก-ขายแพง

นักลงทุนผู้เฉลียวฉลาด คือ ผู้ซื้อหุ้นในตลาดหมี และขายออกในตลาดกระทิง แต่พฤติกรรมตลาดไม่ได้เป็นไปแบบเดิมๆ รูปแบบตลาดหมีและกระทิงแบบเดิมจะกลับมาอีกหรือไม่ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในพอร์ตตามแนวทาง ที่เรียกว่า

“การจัดสรรเงินลงทุน” (Tactical Asset Allocation)

แผนการลงทุน

ในช่วงแรกของตลาดขาขึ้น มีเทคนิคที่ได้รับความสนใจในการหาประโยขน์จากวัฏจักรตลาด เรียกว่า “แผนการลงทุน” แผนเหล่านี้จะขายหุ้นอัตโนมัติเมื่อตลาดขึ้นสูง บางแผนจะทำให้ต้องขายหุ้นออกทั้งหมด บางแผนมีหุ้นติดพอร์ตทุกสถานการณ์ พวกเขาได้กำไรสูง แต่ตลาดวิ่งไปต่อและไม่มีโอกาสซื้อหุ้นกลับอีกเลย อย่างไรก็ตาม ความนิยมถึงขีดสุดในตอนที่ใช้ได้ผลน้อยที่สุด แนวทางใดๆ ที่เข้าใจง่ายและใช้อย่างกว้างขวาง จะได้ผลเพียงช่วงเดียวเท่านั้น

ความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุน

ความผันผวนของราคาเกิดขึ้นได้กับทั้งดัชนี หุ้นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ในช่วงที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก นักลงทุนจะขาดความรอบคอบและถูกครอบงำด้วยบรรยากาศของตลาดกระทิงหรือไม่? ด้วยเหตุผลในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ การใช้ระบบในการปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ (Rebalancing) ขายหุ้นออกในช่วงตลาดเพิ่มสูงขึ้นและลงทุนในตราสารหนี้และทำในทางตรงกันข้ามเมื่อตลาดตกลงมา

การประเมินมูลค่าธุรกิจและการประเมินมูลค่าตลาดหุ้น

หุ้นโตเร็ว ผลดำเนินงานและอนาคตดีหลายตัว มักมีราคาซื้อขายสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิหรือมูลค่าตามบัญชี (Net Asset Value หรือ Book Value) ยิ่งผลการดำเนินงานและอนาคตดูดีเท่าไร การกำหนดมูลค่าที่แท้จริงจะมีความแน่นอนน้อยลง เนื่องจากมันจะขึ้นกับอารมณ์และความแปรปรวนของตลาด ดังนั้นการคัดเลือกหุ้นควรเลือกหุ้นที่มีราคาใกล้เคียงกับมูลค่าตามบัญชี ควบคู่กับอัตราส่วนกำไรต่อราคา ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอ มีความสามารถในการรักษาผลกำไรตลอดระยะเวลาหลายปี ฉะนั้นหากคัดเลือกหุ้นที่ดีได้แล้ว นักลงทุนสามารถละเลยความผันผวนของตลาดไปได้เลย และยังสามารถหาประโยชน์จากแนวทางการซื้อถูกขายแพงได้อีกด้วย

ตัวอย่างบริษัท A.&P.

ในปี 1938 หุ้นของบริษัท A.&P. มีราคาอยู่ที่ 36 เหรียญ และกลับไปที่ 117.5 เหรียญ ในปีถัดมา

ปี 1938 แม้มีเงินสดถึง 85 ล้านเหรียญ เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 134 ล้านเหรียญ เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีผลกำไรดีต่อเนื่องหลายปี กลับกลายเป็นว่ามูลค่าของบริษัทในกรณีดำเนินกิจการต่อยังต่ำกว่าเลิกกิจการและนำสินทรัพย์ขายทอดตลาดอีก

เพราะเหตุผล 3 ข้อ 1. มีการพูดถึงการใช้กฎหมายพิเศษกับเครือข่ายค้าปลีก 2. ผลกำไรลดลง 3. ตลาดตกต่ำ ข้อแรกกังวลเกินไป สองข้อหลังเป็นเรื่องชั่วคราว ปี 1961 หลักแตกหุ้นราคาอยู่ที่ 70.5 เหรียญ เท่ากับ 705 เหรียญ ของปี 1938 ค่า P/E 30 (Dow jones 23) บ่งบอกการคาดการณ์อันสดใส แต่เมื่อกำไรไม่ตามคาด ราคาตกเหลือ 18 เหรียญ ในปี 1972 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่ขาดทุนในประวัติศาสตร์ การมองโลกโดยไม่อยู่บนพื้นฐานการสร้างผลกำไร มันผิดพลาดเพียงใด

เรื่องนี้ให้บทเรียน 2 ข้อ 1. ตลาดมักผิดอยู่บ่อยๆ 2. เวลาเปลี่ยนคุณภาพบริษัทเปลี่ยน นักลงทุนควรตรวจสอบเป็นระยะๆ ควรละเลยความผันผวนของตลาด หันไปใส่ใจต่อเงินปันผลและผลการดำเนินงาน

ข้อพิจารณาเพิ่มเติม

การใช้ราคาเฉลี่ยวัดความสามารถผู้บริหารยังไม่มีแนวทางประเมินที่ได้รับการยอมรับ แต่ผู้บริหารจะไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐานและมูลค่าพื้นฐานเลยหรือ? ฉะนั้นผู้บริหารที่ดีจะก่อให้เกิดราคาตลาดเฉลี่ยที่ดี ผู้บริหารที่แย่จะก่อให้เกิดราคาตลาดเฉลี่ยที่แย่

ความผันผวนของตราสารหนี้

มีการยกตัวอย่างตราสารนี้ของบริษัทรถไฟ พบว่าอัตราผลตอบแทนและราคามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงกว้างตลอดระยะเวลาหลายสิบปี (อัตราผลตอบแทนและราคาเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้าม) ย้ำถึงบทเรียนเรื่องความผันผวน ดังนั้นการคาดการณ์ราคาหุ้นเป็นไปได้ยาก ตราสารหนี้ก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนต้องไม่ตัดสินใจบนพื้นฐานความผันผวนของตลาด

สรุป

ความแตกต่างระหว่างนักลงทุนและนักเก็งกำไร คือ นักเก็งกำไรสนใจการคาดการณ์ทิศทางตลาดและหากำไรจากการคาดการณ์ ขณะที่นักลงทุนเน้นซื้อและถือครองหุ้นในราคาที่เหมาะสม ความผันผวน คือ โอกาสเพื่อซื้อหุ้นราคาต่ำๆและขายออกที่ราคาสูงๆ และไม่ควรงดซื้อหุ้นจนกว่าราคาจะสูงมากแบบไร้เหตุผล เพราะทำให้เสียโอกาส หากมีหุ้นชั้นดีก็ไม่ควรตื่นเต้นกับความผันผวน

“อย่าซื้อหุ้นทันทีหลังจากราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก และไม่ควรขายทันทีหลังจากราคาตกต่ำอย่างหนัก”

ความคิดเห็นเพิ่มเติม บทที่ 8

ดอกเตอร์เจคคิวส์และมิสเตอร์มาร์เก็ต

มิสเตอร์มาร์เก็ต คือ การอธิบายราคาหุ้นอันผิดพลาดได้ดีที่สุด เมื่อหุ้นกำลังขึ้น เขาจะจ่ายเงินซื้อหุ้นสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เมื่อหุ้นกำลังตก จะเทขายออก ณ ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น มีนาคม ปี 2000 ราคาหุ้นบรืษัท Inktomi Corp. ทำ All-time high พุ่งไป 1,900% ตั้งแต่เข้าตลาด เพราะ ใน่ช่วง 3 เดือนปลายปี 1999 บริษัททำรายได้ไป 36 ล้านเหรียญสูงกว่าปี 1998 ทั้งปี

บริษัทขาดทุนไม่เคยเห็นกำไรเลย ปี 2002 ราคาลงมาเหลือแค่ 25 เซ็นต์ เกิดจากความบ้าคลั่งแห่เข้าซื้อทำให้ราคาคิดเป็น 250 เท่าของรายได้ ลงเหลือ 0.35 เท่าของรายได้ ปลายปี 2002 Yahoo ประกาศซื้อบริษัทที่ราคาหุ้นละ 1.65 เหรียญ “เมื่อมิสเตอร์มาร์เก็ตทำให้ราคาหุ้นถูก ก็จะมีคนมาซื้อบริษัทต่อจากเขา”

คิดด้วยตัวเอง

คุณควรปล่อยให้ตลาดอันบ้าคลั่งนำพาความคิดของคุณหรือ? นักลงทุนผู้ชาญฉลาดไม่ควรละเลยสิ่งนั้น แต่คุณควรทำธุรกิจกับมิสเตอร์มาร์เก็ต ตลาดเพียงเสนอราคาซื้อขาย คุณเพียงตัดสินใจว่าราคาดังกล่าวทำให้คุณได้เปรียบหรือเปล่า?

คุณจะสามารถเอาชนะมือโปรในเกมของพวกเขาได้หรือเปล่า?

“นักลงทุนผู้กังวลต่อการลดลงอย่างไร้เหตุผลของตลาดจะเปลี่ยนข้อได้เปรียบเป็นเสียเปรียบ” หนึ่งในมุมมองอันทรงพลังของเกรแฮม ข้อได้เปรียบคืออิสระทางความคิด มันไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่า คุณไม่สามารถทำได้ดีเหมือนกับพวกมืออาชีพ เพียงแต่คุณจะเอาชนะพวกมือโปรในเกมของพวกเขา? และต่อไปนี้คือข้อเสียของผู้จัดการกองทุน

  • บริหารเงินก้อนใหญ่ ซื้อครั้งละหลายล้านเหรียญ ทำให้กองทุนรวมถือหุ้นราคาแพงเหมือนๆ กัน
  • นักลงทุนมักนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมเมื่อตลาดขึ้น กองทุนต้องนำเงินไปซื้อหุ้น ดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปอีก
  • นักลงทุนมักขายเมื่อตลาดตก กองทุนต้องขายหุ้นเพื่อระดมเงินสด ส่งผลให้หุ้นตกอีก

ในเมื่อพวกเขายังชนะในเกมของพวกเขาไม่ได้ การลงทุนที่ฉลาดเป็นเรื่องของสิ่งที่ควบคุมได้

เช่น ค่าคอมมิชชั่น, ความคาดหวัง (ไม่ใช่เพ้อฝัน), พฤติกรรมของตัวเอง และต้องป้องกันไม่ให้ซื้อขายหุ้นเพียงเพราะตลาดบอกให้ซื้อหรือขาย นอกจากนั้น ต้องไม่ตัดสินใจความสำเร็จทางการเงินของตัวเองจากสิ่งที่คนอื่นทำ แต่คือการได้เงินมากพอต่อความต้องการของคุณ และจุดสำคัญ คือ คุณไปถึงเส้นชัยหรือไม่?

เงินของคุณและสมองของคุณ

สมองของเราได้รับการออกแบบให้มองหาแนวโน้มและคาดการณ์ แม้ว่าอาจไม่มีตัวตนอยู่เลย เมื่อมันเกิดขึ้น สมองจะรู้สึกเป็นสุข ท้ายที่สุดคุณจะเสพติดการคาดการณ์ หากขาดทุนสมองจะถูกกระตุ้น เกิดการตอบสนองแบบ “สู้หรือถอย” ฉะนั้นความเจ็บปวดจากการขาดทุนจะรุนแรงเป็นสองเท่าของความยินดีจากกำไร

อีกส่วนหนึ่ง นักลงทุนทั่วๆ ไป จะได้ประโยชน์มากกว่าหากหุ้นไม่มีราคาตลาด เพราะไม่ต้องกังวลต่อความคิดที่ผิดพลาดของคนอื่น คุณจะยังเบิกบานใจไหม หากมีรายงานราคาตลาดของบ้านคุณอย่างละเอียดทุกวัน

สำหรับผู้ที่จะลงทุนตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า การลดลงของราคาหุ้นเป็นข่าวดี และอ้าแขนต้อนรับตลาดหมี “คุณจะรู้สึกมีอำนาจควบคุมมากขึ้น หากตระหนักว่ามีอะไรมากมายที่ควบคุมไม่ได้”

ด้วยการยอมรับว่าคุณมีโอกาสซื้อแพงขายถูก จึงเห็นถึงความจำเป็นของแผน DCA และการทำ Rebalancing หยุดสนใจอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของตลาด

ขายตามมิสเตอร์มาร์เก็ตแบบสมเหตุสมผล

เกรแฮมสอนว่า คุณควรซื้อเมื่อตลาดบอกให้ขาย แต่การขายเมื่อตลาดบอกให้ขายดูสมเหตุสมผล เมื่อคุณได้รับสิทธิทางภาษี กรมสรรพากรสหรัฐฯ อนุญาตให้นำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้วไปหักรายได้ปกติได้ 3,000 เหรียญ เช่น คุณซื้อหุ้น Coca-Cola ในปี 2000 จากนั้นขาดทุนไป 3,200 เหรียญ คุณมีทางเลือกเข้าควบคุมสถานการณ์ ก่อนหมดปี 2002 ขายหุ้นออกไปขาดทุน 3,200 เหรียญ จากนั้นรออีก 31 วันตามกฎ ค่อยซื้อหุ้นกลับ สามารถนำผลขาดทุนไปหักรายได้จำนวน 3,000 เหรียญ ในปี 2002 และ 200 เหรียญ ในปี 2003

ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการทำให้ตลาดดูสมเหตุสมผล คุณจะบ่นกับใครได้?

คู่มือเลือกกองทุน SSF RMF อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ