ข้อคิดจาก The Wolf of Wall Street : กล้า บ้า ระยำ จากสามัญสู่สูงสุด แล้วไงต่อ?

The Wolf of Wall Street คือภาพยนตร์ที่แสดงนำโดย Leonardo DiCaprio ผู้วาดลวดลายความอัจฉริยะ ทะเยอทะยาน ความบ้าและชั่วของ Jordan Belfort นัก (หลอก) ขายหุ้นระดับตำนาน แต่ภายใต้ความดิบเถื่อนตลอดเกือบสามชั่วโมง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มอบให้เพียงแต่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ได้ทิ้งข้อคิดชีวิตไว้เป็นอย่างดี

ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนั้น เริ่มต้นจาก…“ความอยาก” อันนำมาซึ่งกฎเหนือกาลเวลา “Demand & Supply”

วรรคทองของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในฉากสนทนาระหว่าง Jordan กับเพื่อนร่วมฝูงหมาป่าในร้านอาหาร ซึ่ง Jordan ให้ Jon Bernthal เพื่อนร่วมวงขายปากกาให้ ซึ่ง Jon กล่าวถึง “Demand & Supply” ด้วยมุกหน้าตาย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่ามีเงิน มีฐานะขนาดไหน ย่อมมีความอยากในใจเสมอ นี่แหละคือบทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้

ข้อคิดจาก The Wolf of Wall Street : กล้า บ้า ระยำ จากสามัญสู่สูงสุด แล้วไงต่อ?

ฉาก Sell Me This Pen (Source: UCreative)

Jordan Belfort เด็กหนุ่มวัยคะนองพร้อมความทะเยอทะยาน อยากกินดีอยู่ดี เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการปลุกความอยากในสันดานมนุษย์ เรียนรู้วิชาจากสถานที่ที่ไม่เคยมีมิตรแท้ สามารถเป็นได้ดั่งสวรรค์และสนามรบอย่าง Wall Street

Jordan ใช้วาทะหลอกล่อ วาดภาพอนาคตแสนหอมหวาน จนความอยากจากก้นบึ้งหัวใจคนเผยตัวออกมาและคว้าไว้อย่างจัง แต่แค่วาทะอย่างเดียวคงไม่พอ…

ในภาพยนตร์มีฉากเกี่ยวกับยาเสพติดเกือบทุกฉาก เราต่างเสพกันทุกวัน แต่มันอยู่ในรูปของกระดาษที่ถูกเรียกว่า “เงิน” มันถูกใช้เพื่อวาดฝัน กระตุ้นความอยากอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุดก็เป็นสิ่งที่ Jordan เสพติดมันเสียเอง ถึงขนาดยอมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องมันจากเงื้อมมือทางการสหรัฐฯ

ด้วยแนวคิดที่ Jordan บอกกับลูกทีมเมื่อครั้งลูกทีมเริ่มรู้สึกผิดว่า “เงินถูกใช้อย่างคุ้มค่ากว่าเมื่ออยู่กับเรา” ขจัดความรู้สึกผิด สร้างความทะเยอทะยาน ความกระหาย พร้อมออกล่าทุกเวลา

หลังกราฟชีวิตของ Jordan พุ่งปรี๊ด มีเงินมากมาย ชู้สาว จนมีปัญหาต้องเลิกรากับภรรยาที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่เข้าสู่ Wall Street ผ่านการตกงาน หางานใหม่ และออกมาสร้างธุรกิจ ไปแต่งงานใหม่กับกับสาวสวยอย่าง Naomi Lapaglia ท้ายที่สุดทิ้งกันไปเมื่อหมดเงินหลังโดนคดี

วลีอมตะที่ว่า “ดูผู้ชายให้ดูตอนสบาย ดูผู้หญิงให้ดูตอนลำบาก” ก็ยังคงความเป็นอมตะเรื่อยไป

แต่หารู้ไม่ว่าภรรยาคนแรกที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาจะเป็นผู้สร้างจุดเปลี่ยนชีวิต Jordan โดยการเปลี่ยนเป้าหมายไปออกล่า “วาฬตัวยักษ์” หรือกลุ่มคนมีตังค์ แต่การจะออกล่าวาฬคงจะใช้เพียงแค่แหหรืออวนไม่ได้  Jordan ต้องมอบ “ฉมวก” ให้ลูกทีม ด้วยการสอน และมิใช่สอนแค่การพูดตามบทเพียงอย่างเดียว การแต่งตัว จังหวะจะโคน ลูกล่อลูกชน และที่สำคัญที่สุดต้องปลุกความอยากในวาฬเหล่านั้นออกมาจนพ้นผิวน้ำ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Jordan “สร้างบรรยากาศ” แห่งความสนุกสนาน ท้าทาย และเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการพูดปลุกใจ ทำให้ทีมนักล่าดึงเอาความสามารถออกมาใช้จุดถึงขีดสุด

ข้อคิดจาก The Wolf of Wall Street : กล้า บ้า ระยำ จากสามัญสู่สูงสุด แล้วไงต่อ?

Source: The Telegraph

และการจะผลักดันให้เหล่านักล่าเอาความสามารถที่มีออกไปใช้อย่างเต็มที่ Jordan หนุนหลังทีมนักล่า เชื่อมั่นในตัวพวกเขา ยอมจ่ายเช็คเงินเดือนล่วงหน้าให้กับพนักงานใหม่ เพราะเชื่อว่าพนักงานใหม่คนนั้นจะทำงานสำเร็จ การ “ซื้อใจ” ที่ดีที่สุด คือการเชื่อมั่นใจตัวลูกทีม ความเชื่อมั่นเหล่านั้นแหละผลักดันให้เหล่านักล่ายอมทำงานแบบสู้ตายถวายหัว

อย่างไรก็ตาม บทเรียนชีวิตที่กล่าวมาทั้งหมด กลั่นกรองออกมาจากความดิบ ความโลภ ความป่นปี้ การหลอกลวง จนทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “Wall Street ถิ่นนี้ไม่มีมิตรแท้”

เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่แค่เพียง Wall Street แต่ทุกตลาดแหละ สนามรบเหล่านั้นเปิดโอกาสให้เด็กน้อยเอาชนะรุ่นใหญ่ เพื่อนร่วมโต๊ะฟาดฟันกันโดยไม่รู้ตัว ทุกย่างก้าวมีเงินเป็นเดิมพัน ทุกความผิดพลาดมีสายตาพร้อมรุมกินโต๊ะอยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้แหละทำให้ Wall Street สามารถยืนหยัดมาเป็นร้อยปี และเชื่อเถอะว่าจะยังคงมีไปอีกนานเท่านาน พร้อมเปิดรับทั้งนักล่า และเหยื่อหน้าใหม่

จึงไม่แปลกเลยที่ “ความอยาก” จะทำให้วลีเด็ดอย่าง “ถื่นนี้ไม่มีมิตรแท้” ยังคงมนต์ขลังไว้อย่างเหนียวแน่นไปตลอดกาล