Yield Curve ขยับ ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจ?

หลังจากหายไปสักพัก ระหว่างนั้นด้วยความสงสัยบางอย่าง จึงได้แบ่งเวลาไปศึกษาการเคลื่อนไหวของ yield curve หลังจากที่เคยเขียนเรื่อง Inverted yield curve หากใครสงสัยว่ามันคืออะไร ก็คลิกเข้าไปอ่านกันได้ครับ

เริ่มต้นกันด้วย Yield curve คือ การแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล) ผ่านการพล็อตกราฟ เพื่อความง่าย เราไปดูจากรูปกันครับ

Yield Curve ขยับ ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจ?

โดยแกน Y (แกนตั้ง) คือ อัตราผลตอบแทน (Yield, %) และแกน X (แกนนอน) คือ อายุของตราสารหนี้ (ปี)

ซึ่งปกติแล้ว ตราสารหนี้ที่อายุสั้นกว่าจะมีอัตราผลตอบแทนน้อยกว่าตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่า

พูดง่ายๆ มันคือ กราฟที่บอกความเสี่ยงของหนี้ออกมาในรูปของผลตอบแทน (%)

การเคลื่อนไหวของ yield curve ถูกกำหนดด้วยตัวแปรที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ย มุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจ และอื่นๆ ส่งผลให้  Yield curve สามารถเคลื่อนไหวได้

โดยทั่วไปแล้ว yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นมักเคลื่อนไหวตามความคาดหวังของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ส่วน yield ตราสารหนี้อายุยาวขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ, มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นต้น

เพื่อความง่าย ขอแบ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวของ Yield Curve เป็น 2 รูปแบบ คือ

  • Bullish : Yield ของตราสารหนี้ทุกช่วงอายุลดลง
  • Bearish : Yield ของตราสารหนี้ทุกช่วงอายุเพิ่มขึ้น

แม้ว่า yield จะลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่ก็ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่เท่ากันในทุกช่วงอายุ เช่น ปัจจุบันตราสารหนี้อายุ 2 ปีและ 10 ปี ให้ yield ที่ 1.1% และ 3.6% ตามลำดับ

เดือนต่อมา yield ตราสารหนี้อายุ 2 ปี ลดลงเหลือ 0.9% ส่วนอายุ 10 ปี เหลือ 3.2% ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น การเคลื่อนไหวแบบ Bullish เพียงแต่จะเป็น Bullish แบบใด?

ต่อมารูปแบบทั้ง Bullish และ Bearish ออกเป็นอย่างละ 2 รูปแบบ

  • Steepening Yield Curve
  • Flattening Yield Curve

หากผลต่างระหว่าง yield ของตราสารหนี้ระยะยาวและสั้นเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจาก

  • yield ของตราสารหนี้ระยะยาวปรับขึ้นมากกว่าของระยะสั้น
  • yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงมากกว่าของระยะยาว

หากผลต่างระหว่าง yield ของตราสารหนี้อายุยาวและสั้นลดลง สาเหตุเกิดจาก

  • yield ของตราสารหนี้ระยะยาวปรับขึ้นน้อยกว่าของระยะสั้น
  • yield ของตราสารหนี้ระยะยาวลดลงมากกว่าของระยะสั้น หรือ yield ของตราสารหนี้ระยะยาวลดลง ขณะที่ yield ของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับขึ้น

เรามาเน้นกันตรงนี้ดีกว่าครับ นำทั้งหมดมาแสดงปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของ Yield Curve ทั้งหมด 4 รูปแบบ

Yield Curve ขยับ ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจ?

1. Bearish flattening

มีสาเหตุจาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจากการที่เศรษฐกิจเติบโต การผลิตและการบริโภคขยายตัวอย่างร้อนแรง ช่วงนั้นราคาหุ้นมักเพิ่มขึ้น ซึ่งตามมาด้วยสัญญาณที่ไม่ดีของเศรษฐกิจ

2. Bullish flattening

บ่งบอกความต้องการเงินในระยะกลางและยาวลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวต่ำลง บ่งชี้ว่าราคาหุ้นระยะสั้นจะไม่ค่อยดี และจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก Fed จากนั้นก็จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

Yield Curve ขยับ ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจ?

3. Bearish steepening

เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนกังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว หรือ การกู้ยืมเงินอย่างมหาศาลของภาครัฐ ด้วยความที่กราฟชันขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีต่อมุมมองเศรษฐกิจ และราคาหุ้นในระยะสั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มมา Fed เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือมุมมองต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่แย่ลง

4. Bullish steepening

มักเกิดขึ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลง เป็นสัญญาณให้นักลงทุนมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจและตลาด ส่งผลให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อจากนั้น

เรามาดูกันว่าในวัฏจักรเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบไหนบ้าง จากรูปด้านล่างกันเลยครับ

Yield Curve ขยับ ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจ?

แล้วตอนนี้ลักษณะ yield curve เป็นอย่างไรกัน ส่งสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป !? มาแชร์มุมมองกันได้ครับ

Sources:
http://fundmanagertalk.com/investment-talk-analyze-economy-stock-by-yield-curve/
https://www.ishares.com/us/insights/what-the-yield-curve-can-tell-equity-investors
https://www.investopedia.com/terms/y/yieldcurve.asp