การประท้วงในฮ่องกง: เกิดอะไรขึ้น? และมีผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจ?

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นถนนในฮ่องกงตกอยู่ในวงล้อมของคนหนุ่มสาวที่สวมหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า พร้อมสิ่งกีดขวาง

ผู้ชุมนุมบุกยึดสภานิติบัญญัติ พวกเขานำธงชาติอังกฤษขึ้นไปติดทับตราสัญลักษณ์ของฮ่องกงและทำลายข้าวของ ทำให้ทางตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม 

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผู้ชุมนุมมากกว่า 500,000 คน ถึงออกมาประท้วงรัฐบาล?

เรื่องนี้ต้องเท้าความกลับไปสมัยปี ค.ศ. 1841 ที่จีนจับการลักลอบนำเข้าฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษและโยนฝิ่นจำนวนหนึ่งลงไปในทะเลเพื่อเป็นสัญญาณเตือนชาวอังกฤษ แต่กลับทำให้มหาอำนาจอย่างอังกฤษโกรธเคืองจีนและเริ่มสงครามฝิ่นกับจีน 

เนื่องจากอังกฤษมีข้อได้เปรียบในสงครามมากกว่า จีนจึงยอมเซ็นสนธิสัญญานานกิง  ซึ่งในสัญญานั้นจีนได้ตกลงให้อังกฤษเช่าพื้นที่เกาะฮ่องกงที่เหลือเป็นเวลา 99 ปี ตั้งแต่นั้นมาฮ่องกงก็กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของเอเชีย โดยมีผู้ลี้ภัยการเมืองและความยากจนจากจีนจำนวนมาก 

ในปี 1980 อังกฤษและจีนได้เริ่มคุยเรื่องอนาคตของฮ่องกง โดยฝั่งจีนอยากให้ฮ่องกงกลับมาอยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ของจีน แต่อังกฤษไม่เห็นด้วยเพราะผู้คนที่อยู่อาศัยในฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับระบอบการปกครองของจีน

ต่อมาในปี 1984  อังกฤษกับจีนก็ได้บรรลุข้อตกลงว่าจะส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนในปี 1997 ภายใต้หลักการที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” 

ซึ่งหมายความว่าฮ่องกงจะมีข้อกฎหมายและระบบการปกครองของตัวเอง ยกเว้นในเรื่องกระทรวงกลาโหม 

แต่ก็ยังมีความกังวลเกิดขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนทำผิดสัญญา หลังจากเกิดเหตุการณ์เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกงเกี่ยวกับด้านลบของผู้นำจีนหายตัวไป และในปี 2014 จีนได้แทรกแซงการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงทำให้เกิดการประท้วง Umbrella Revolution ขึ้น

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงได้เสนอร่างกม. ใหม่เพื่อ “อุดช่องโหว่” ไม่ให้ฮ่องกงเป็นที่หลบภัยสำหรับอาชญากรหลังจากคดีฆาตกรรมในปี 2018 ที่วัยรุ่นชายชาวฮ่องกงฆาตกรรมแฟนสาวระหว่างทริปเที่ยวที่ไต้หวัน โดยชายหนุ่มทิ้งศพของเธอไว้ในกระเป๋าใบใหญ่และหนีกลับมาฮ่องกง ชายหนุ่มคนนี้ได้สารภาพความผิดที่ศาลฮ่องกงแล้ว แต่ด้วยความที่ฮ่องกงไม่มีกฎหมายครอบคลุมการกระทำความผิดนอกอาณาเขตฮ่องกงและไม่สามารถส่งตัวไปรับความผิดที่ไต้หวันได้ ชายหนุ่มคนนี้จึงไม่ได้รับโทษความผิดในการฆาตกรรมแฟนสาว

การที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอร่างกม.ใหม่ ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนนั้น จะเปิดโอกาสให้ทางการจีน ไต้หวัน และมาเก๊า ร้องขอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กรณีมีผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาต่าง ๆ จากฮ่องกงได้ 

คนฮ่องกงที่ออกมาเดินประท้วงกังวลว่าร่างกม. นี้จะเป็นจุดจบของระบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เพราะภายใต้ระบบนี้ฮ่องกงควรจะมีอิสระในอำนาจตุลาการ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้หากนำไปใช้จริงอาจจะส่งผลต่อสิทธิพลเมืองของชาวฮ่องกง รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการพูด

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์คร่าว ๆ และเหตุผลของการเดินประท้วงแล้ว เรามาดูด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจกันต่อดีกว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะมีการชะลอตัวมาก่อนการประท้วงครั้งนี้ แต่ผลกระทบของการประท้วงทำให้สถานการณ์ต่อเศรษฐกิจยิ่งแย่ลงไปจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ความมีอิสระในระบบยุติธรรม เป็นสิ่งที่ฮ่องกงได้มาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และทำให้บริษัทข้ามชาติเกือบ 1,400 แห่งเข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่ที่นั่น การรักษาระบบดังกล่าวไว้ พร้อมกับหลักการอื่น ๆ ในการปกครองตัวเอง เป็นหัวใจของเศรษฐกิจในฮ่องกง ถ้าฮ่องกงยังมีสถานการณ์การเมืองที่ไม่คงที่กับจีนอาจจะส่งผลต่อการเป็น “financial hub” ของฮ่องกง  

2. ยิ่งไปกว่านั้น การประท้วงครั้งนี้ส่งผลให้หุ้นใน Hang Seng Index และค่าเงินของฮ่องกงตกลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะหุ้นที่อยู่ในตลาดแล้วแต่ยังกระทบถึงพวกหุ้น IPO โดยหุ้นส่วนใหญ่โฟกัสในเรื่องการเปิดตัวในฮ่องกงและจีน ถ้าเหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงต้องใช้เวลานานในการแก้ไขอาจจะส่งผลต่อศูนย์กลางการเงินอื่นเพราะขาดสภาพคล่อง

3. ตลาดการเงินของจีน สิงค์โปร์ และญี่ปุ่นก็น่าจะตามเทรนด์ของฮ่องกงมาเรื่อยๆ ในทิศทางที่กดดันขาลงแต่ถ้าหุ้นขึ้นก็ขึ้นช้ากว่าที่ควร อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินเยนจะแข็งตัวขึ้นเพราะความกังวลของนักลงทุนในความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในฮ่องกง ส่งผลต่อการไหลเข้าลงทุนในญี่ปุ่นแทน

แล้วเรามาตอกย้ำในมุมมองของคนดังต่อการเปลี่ยนแปลงร่างกม.นี้ว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของฮ่องกงและสหรัฐในด้านการเมืองและธุรกิจอย่างไร 

คนแรกคือ Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวตามการรายงานของบลูมเบิร์ก “ถ้ามีการผ่านร่างกฎหมายนี้ รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการทบทวนว่า ฮ่องกงยังมี ‘อำนาจปกครองตัวเองได้เพียงพอ’ หรือไม่”

ต่อมา ได้แก่ Gareth Leather นักเศรษฐศาสตร์ที่ Capital Economics Ltd. กล่าวว่าหากฮ่องกงไม่สามารถรักษากฎหมายและความสงบได้ ฮ่องกงก็ไม่ต่างอะไรจากเมืองอื่น ๆ ของจีน 

และ Tara Joseph ประธาน American Chamber of Commerce in Hong Kong ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวว่า ร่างกม. นี้น่ากังวลมากเพราะ นักลงทุนเสียความเชื่อมั่นกับความสามารถจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลฮ่องกงในเรื่องการเมืองและธุรกิจในเมื่อแทนตัวเองว่า “commercial capital that puts business first”

ดังนั้นการประท้วงครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปและจะส่งผลอย่างที่กล่าวมาในระดับใด เราคงต้องมาติดตามกันต่อไปค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-48607723

https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-06-13/hong-kong-s-long-term-economic-role-at-stake-amid-demonstrations
https://www.nytimes.com/2019/06/12/business/hong-kong-china-protests-business.html
https://www.investopedia.com/hong-kong-protests-are-a-big-risk-to-markets-4690464
https://www.theatlantic.com/photo/2019/07/hong-kong-protesters-break-into-legislative-council-building-photos/593158/