กราฟแท่งเทียนเป็นประเภทของกราฟที่ได้รับความนิยมและถูกใช้มากที่สุดประเภทหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่ามีเพื่อน ๆ หลายคนที่เวลาที่วิเคราะห์กราฟแท่งเทียนพยายามจำรูปแบบแท่งเทียนเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อมูลจากกราฟแท่งเทียนที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเทรดได้อย่างเต็มที่

ในบทความนี้ผมจะมาบอกเคล็ดลับส่วนตัวในการอ่านกราฟแท่งเทียน และการแปลความหมายในมุมมองทางเทคนิคของกราฟแท่งเทียน โดยตั้งใจไว้ว่าอยากแชร์ไอเดียและประสบการณ์ในการอ่านกราฟแท่งเทียน ที่คิดว่าน่าจะทำให้เพื่อน ๆ สามารถอ่านกราฟแท่งเทียนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่ต้องไปนั่งจำชื่อ หรือจำ Pattern ต่าง ๆ เพราะส่วนตัวเวลาที่วิเคราะห์กราฟแท่งเทียนผมจะเน้นไปที่การทำความเข้าใจและหลักการของแปลความหมายกราฟแท่งเทียนมากกว่าการใช้ความจำ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ

เราอ่านกราฟแท่งเทียนไปทำไม?

วัตถุประสงค์ในการอ่านกราฟแท่งเทียน คือ การอ่าน “อารมณ์” ของผู้ที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ดังนั้นเวลาที่อ่านกราฟแท่งเทียนเราควรตอบคำได้เบื้องต้นไห้ได้ว่า ระหว่างฝั่งซื้อกับฝั่งขายฝั่งไหนมีแรงมากกว่า ฝั่งไหนที่มีความรีบร้อนกระตือรือร้นอยากลงมือซื้อขายกว่า เมื่อเราอ่านอารมณ์ของตลาดออกแล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจลงมืออย่างไร เพื่อให้ได้โอกาสในการได้กำไรจากการเทรดมากกว่าโอกาสขาดทุน

การแปลความหมายจากกกราฟแท่งเทียนโดยวิเคราะห์รูปแท่งเทียนเพียง 1 แท่ง อาจจะยังให้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงมือเทรด เราจะต้องพิจาณาแท่งเทียนหลาย ๆ แท่งประกอบกัน ซึ่งจะใช้ข้อมูลพื้นฐานทั้ง 4 อย่างของแต่ละแท่งเทียน คือ ราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด มาเปรียบเทียบกันระหว่างแท่งเทียนแต่ละแท่งด้วย

การอ่านกราฟแท่งเทียนไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำ แต่เป็นการระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นเราค่อยนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดว่าควรจะทำอะไรหรือลงมือเทรดอย่างไรในขั้นตอนต่อไป

แปลความหมายจากกราฟแแท่งเทียนแบบไม่ต้องจำ ทำอย่างไร?

เวลาที่ผมอ่านกราฟแท่งเทียน ผมจะลองตั้งคำถามเบื้องต้น 8 ข้อ ซึ่งหลังจากที่ตอบคำถามเหล่านี้แล้ว มันช่วยให้ผมได้มุมมองว่าคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดมีอารมณ์อย่างไร และข้อมูลที่ได้มีประโยชน์อย่างมากในการประกอบการตัดสินใจลงมือเทรด ซึ่งคำถามเหล่านั้น ได้แก่

คำถามที่ 1: ในแท่งเทียนแต่ละแท่ง ผลการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขาย ฝั่งไหนเป็นฝ่ายชนะ?

คำถามนี้จะเป็นการวิเคราะห์เฉพาะแท่งเทียนนั้น ๆ เพียงแท่งเดียวก่อน ซึ่งวิธีการที่จะบอกว่าในแต่ละแท่งเทียนฝั่งไหนเป็นฝ่ายชนะ ทำได้โดยแบ่งความยาวของแท่งเทียน (วัดจากราคาสูงสุดถึงราคาต่ำสุด) ออกออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วดูว่าราคาปิดอยู่ในช่วงไหน

1.1 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยุ่ในช่วง ⅓ ของด้านบน แปลว่าแรงซื้อมีความกระตือรือร้นออกแรงมากกว่าหรือมีจำนวนมากกว่า เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงซื้อเป็นฝ่ายชนะ

1.2 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยู่ในช่วง ⅓ ของตรงกลาง เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงซื้อแรงขายพอๆกัน

1.3 ถ้าราคาปิดของแท่งเทียนนั้นๆ อยู่ในช่วง ⅓ ของด้านล่าง แปลว่าแรงขายมีความกระตือรือร้นออกแรงมากกว่า หรือมีจำนวนมากกว่า เราจะสรุปว่าในแท่งเทียนรูปนั้นแรงขายเป็นฝ่ายชนะ

close_upper_mid_lower-1024x365

รูปแสดงตัวอย่างของแท่งเทียนที่มีราคาปิดอยู่ใน ช่วง 1/3 ด้านบน ,ช่วง 1/3 ตรงกลาง และช่วง 1/3 ด้านล่าง

หมายเหตุ : การสรุปผลของแรงซื้อแรงขายของแท่งเทียนแต่ละแท่งด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับแท่งเทียนที่มีขนาดยาวเท่านั้น ถ้าเป็นแท่งเทียนขนาดสั้น ๆ การตีความให้อ่านจากเนื้อหาในคำถามที่ 2

คำถามที่ 2 : แท่งเทียนแต่ละแท่งมีความยาวมากหรือน้อย?

ความแตกต่างระหว่างราคาสูงสุดถึงราคาต่ำสุดในแต่ละช่วง สามารถใช้พิจารณาความผันผวนของราคาในช่วงนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าจะดูข้อมูลนี้จากรูปแท่งเทียน สามารถดูได้จากความยาวของรูปแท่งเทียนในแต่ละแท่งนั่นเอง

2.1 แท่งเทียนที่มีความยาวมาก คือ แท่งเทียนที่ราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดห่างกันมาก แปลความหมายได้ว่าแท่งเทียนแท่งนั้นๆ แสดงให้เห็นว่าความรีบร้อนกระตือรือร้นในการซื้อขายของฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรืออาจจะเป็นทั้งสองฝั่ง จึงซื้อขายไม่เกี่ยงราคา หรือมีการไล่ราคาซื้อขายกันอย่างผันผวน

2.2 แท่งเทียนมีลักษณะสั้นๆ เล็กๆ คือ แท่งเทียนที่จุดสูงสุดกับจุดต่ำสุดห่างกันไม่มาก แปลความหมายได้ว่าแท่งเทียนแท่งนั้นๆ ทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกไปในทิศทางไหน จึงลงมือซื้อขายกันอยู่ในกรอบแคบ ๆ  ไม่อยากซื้อขายในลักษณะไล่ราคา ราคาจึงไม่ผันผวน

คำถามที่ 3 : ปริมาณการซื้อขายของแท่งเทียนแต่ละแท่งเป็นอย่างไร?

ปริมาณการซื้อขายของแต่ละแท่งเทียนเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้บอกว่าในแท่งเทียนแต่ละแท่งนั้น มีคนให้ความสนใจหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายมากหรือน้อย แท่งเทียนที่มีปริมาณการซื้อขายที่มากเป็นตัวบอกว่ามีคนสนใจเข้าร่วมซื้อขายจำนวนมาก จึงช่วยเสริมความมั่นใจและเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลการวิเคราะห์ทิศทางของราคามากยิ่งขึ้น ส่วนแท่งเทียนที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยบ่งบอกว่ามีคนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมน้อย จึงมีความน่าเชื่อถือของผลการวิเคราะห์ทิศทางของราคาน้อย ให้ระมัดระวังในการแปลผลหรือให้หลีกเลี่ยง

ตัวอย่างการวิเคราะห์แท่งเทียนร่วมกับปริมาณการซื้อขาย ได้แก่

3.1 แท่งเทียนที่มีขนาดยาวและปริมาณการซื้อขายมาก แสดงว่ามีคนสนใจหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายเป็นจำนวนมากภายในแท่งเทียนนั้น จึงช่วยเสริมความมั่นใจในการสรุปผลระหว่างแรงซื้อกับแรงขายของแท่งนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งโปร่ง (แท่งสีเขียว) ขนาดยาว และราคาปิดอยู่ในช่วง ⅓ ด้านบน พร้อมกับปริมาณการซื้อขายมาก ๆ สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า แท่งเทียนแท่งนั้นแรงซื้อชนะแรงขาย และเป็นแท่งเทียนที่บอกถึงทิศทางขาขึ้น

หรือ ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งทึบ (แท่งสีแดง) ขนาดยาว และราคาปิดอยุ่ในช่วง ⅓ ด้านล่าง พร้อมกับปริมาณการซื้อขายมาก ๆ เราก็สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า แท่งเทียนแท่งนั้นแรงขายชนะแรงซื้อ และเป็นแท่งเทียนที่บอกถึงทิศทางขาลง

3.2 แท่งเทียนที่มีขนาดยาวแต่มีปริมาณการซื้อขายน้อย แสดงว่ามีคนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ให้ระมัดระวัง เช่น ถ้าเราพบแท่งเทียนที่เป็นแท่งโปร่งขนาดยาว แต่มีปริมาณการซื้อขายน้อย ให้เราระวังว่าการที่ราคาเพิ่มขึ้นนี้อาจจะไม่ยั่งยืนเป็นการขึ้นแบบหลอก ๆ เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นฝั่งซื้อก็เก็บของได้จำนวนไม่มาก ส่วนฝั่งขายก็ยังขายก็ยังขายของออกมาเพียงนิดเดียว ดังนั้นถ้าราคามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ฝั่งซื้อก็อาจจะไม่ค่อยอยากไล่ราคาเพราะไม่มีของต้นทุนต่ำในมือ แต่ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นจะจูงใจให้ฝั่งขายที่ยังมีของเหลืออยู่มากก็อาจจะเริ่มสนใจขายมากขึ้น เป็นต้น

3.3 แท่งเทียนที่มีขนาดสั้นแต่ปริมาณการซื้อขายมาก การที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ในราคาช่วงแคบ ๆ แสดงให้เห็นว่ากำลังมีแรงซื้อเป็นจำนวนมาก และมีแรงขายทิ้งออกมาเป็นจำนวนมาก ด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้มีซื้อขายเปลี่ยนมือเยอะ ดังนั้นจึงเป็นแท่งเทียนที่มีความน่าสนใจ ว่าในอนาคตถ้าฝั่งซื้อหรือฝั่งขายเริ่มหมดแรงและยอมตัดสินใจเลือกให้ราคาเคลื่อนที่ไปข้างใดข้างหนึ่ง ราคาก็อาจจะมีการเคลื่อนที่ขึ้นแรง หรือลงอย่างรวดเร็ว

3.4 แท่งเทียนที่มีขนาดสั้นและมีปริมาณการซื้อขายน้อย แปลว่าไม่มีคนสนใจ หรือ มีคนสนใจน้อยและซื้อขายกันในช่วงแคบๆ ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจมากนัก

คำถามที่ 4 : แท่งเทียนส่วนใหญ่ (หลาย ๆ แท่ง) บอกว่าฝั่งไหนมีแรงมากกว่า โดยเฉพาะแท่งเทียนที่มีขนาดยาว?

แท่งเทียนในปัจจุบันส่วนใหญ่ควรแสดงอารมณ์ในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของตลาด เช่น ควรจะมีแท่งเทียนเป็นแท่งโปร่งจำนวนมากกว่าในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น หรือควรจะมีแท่งเทียนที่เป็นแท่งทึบจำนวนมากกว่าในตลาดขาลง ก็สามารถมั่นใจได้ว่าแนวโน้มตลาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

4.1 ในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น รูปแท่งเทียนจะแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการซื้อเป็นจำนวนมาก รูปแท่งเทียนส่วนใหญ่ควรจะเป็นแท่งโปร่ง(สีเขียว)ยาว ซึ่งเป็นรูปแท่งเทียนที่ให้ข้อมูลว่ามีแรงซื้อมาก หรือราคาปิดอยู่ใน ⅓ ช่วงบนของแท่ง เพื่อยืนยันว่าแรงซื้อเป็นฝ่ายชนะในแท่งเทียนนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นแท่งทึบก็มักจะเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่มีความยาวไม่มาก

4.2 ในช่วงตลาดขาลง รูปแท่งเทียนจะแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการขายจำนวนมาก รูปแท่งเทียนส่วนใหญ่จะเป็นแท่งทึบ(สีแดง)ยาว ซึ่งเป็นรูปแท่งเทียนที่ให้ข้อมูลว่ามีแรงขายมาก หรือราคาปิดอยู่ใน ⅓ ช่วงล่างของแท่ง เพื่อยืนยันว่าแรงขายเป็นฝ่ายชนะในแท่งเทียนนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นแท่งโปร่งก็มักจะเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่มีความยาวไม่มาก

มีข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งที่ผมมักจะสังเกตแท่งเทียนร่วมกับทิศทางของแนวโน้มไปด้วยคือ ไส้เทียนที่แสดงถึงอารมณ์ตรงข้ามกับทิศทางของแนวโน้มราคาในปัจจุบัน  ซึ่งในแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่งผมจะไม่ชอบเห็นแท่งเทียนที่มีไส้เทียนยาว ๆ ทางด้านบน เพราะเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าฝั่งขายเริ่มมีการออกแรงขัดขืนให้เห็นจึงทำให้ในขณะที่ทิศทางแนวโน้มยังเป็นขาขึ้น ส่วนในแนวโน้มขาลงที่แข็งแกร่งผมก็มักจะไม่ชอบเห็นแท่งเทียนที่มีไส้เทียนยาว ๆ ทางด้านล่างด้วยเช่นเดียวกัน

คำถามที่ 5 : ข้อมูลราคาเปิดปิดสูงต่ำของแท่งเทียนในปัจจุบันเทียบกับข้อมูลเปิดปิดสูงต่ำของแท่งเทียนแท่งก่อนหน้าเป็นอย่างไร?

การนำข้อมูลทั้ง 4 อย่างได้แก่ ราคาเปิด (O)  ราคาสูงสุด (H) ราคาต่ำ (L) และสุดราคาปิด (C) ของแท่งเทียนปัจจุบันและแท่งเทียนก่อนหน้ามาเปรียบเทียบกันจะให้ข้อมูลของแรงซื้อกับแรงขายกับเรา ดังนี้

5.1 เปรียบเทียบราคาเปิด (O) แท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาปิด (C) ของแท่งเทียนก่อนหน้า

ถ้าราคาเปิดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่สูงกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้า แปลว่าช่วงเริ่มต้นของแท่งเทียนปัจจุบัน ฝั่งซื้อมีความรีบร้อนอยากซื้อมากกว่าฝั่งขาย

แต่ถ้าราคาเปิดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้า ก็แปลว่าช่วงเริ่มต้นของแท่งเทียนปัจจุบัน ฝั่งขายมีความรีบร้อนอยากขายมากกว่าฝั่งซื้อ

5.2 เปรียบเทียบราคาต่ำสุด (L) ของแท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาต่ำสุด (L) ของแท่งเทียนก่อนหน้า

ในช่วงทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นเราชอบที่จะเห็นราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันอยู่สูงกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า (ราคาต่ำสุดยกสูงขึ้นเรื่อยๆ) หรืออย่างน้อยราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันไม่ควรต่ำกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า

การที่ราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า แปลความหมายได้ว่าแรงซื้อไม่กระตือรือร้นอยากซื้อ แต่แรงขายกับรีบร้อนขายมากกว่าจึงทำให้ราคาลดต่ำลงมาก ให้ความรู้สึกอารมณ์เหมือนช่วงแนวโน้มทิศทางขาลงมากกว่า

5.3 เปรียบเทียบราคาสูงสุด (H) ของแท่งเทียนปัจจุบัน กับ ราคาสูงสุด (H) ของแท่งเทียนก่อนหน้า

ในช่วงทิศทางแนวโน้มขาขึ้นถ้าราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันสูงกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า และราคาปิดของแท่งเทียนปัจจุบันสูงกว่าราคาปิดของแท่งก่อนหน้าก็ยิ่งเป็นการยืนยันว่าหุ้นยังเป็นขาขึ้น

ในช่วงทิศทางแนวโน้มขาลงเป็นขาลงเราก็ชอบที่จะเห็นราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า (ราคาสูงสุดลดต่ำลง) หรืออย่างน้อยราคาสูงสุดของแท่งเทียนปัจจุบันไม่ควรสูงกว่าราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า และถ้าราคาต่ำสุดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำของแท่งเทียนก่อนหน้า และราคาปิดของแท่งเทียนปัจจุบันต่ำกว่าราคาปิดของแท่งเทียนก่อนหน้าก็จะยิ่งยืนยันว่ายังเป็นทิศทางแนวโน้มขาลง

candleup-candle-down-1024x365

รูปที่ตัวอย่างของแท่งเทียนที่ราคาต่ำสุดยกสูงขึ้นในช่วงหุ้นขาขึ้น และแท่งเทียนที่ราคาสูงสุดลดต่ำลงในช่วงหุ้นขาลง

คำถามที่ 6 : กลุ่มของแท่งเทียนหลายแท่งมีราคาทับซ้อนกันมากหรือน้อย (Trend หรือ Sideways)?

6.1 กลุ่มของแท่งเทียนที่ราคามีการทับซ้อนกันมาก แปลว่า ระดับราคาที่มีการซื้อขายในแต่ละแท่งเทียนใกล้เคียงกันแตกต่างกันไม่มาก แสดงให้เห็นอารมรณ์ของแรงซื้อกับแรงขายที่ไม่มีฝั่งไหนรีบร้อนซื้อขายหุ้น จากรูปแท่งเทียนหลายๆ แท่งที่มีการทับซ้อนกันจึงสรุปได้ว่าเป็นช่วงที่ราคาเป็นช่วงพักฐาน (Sideways) ถึงแม้จะแท่งเทียนขนาดยาวจำนวนมากก็ตาม

6.2 กลุ่มของแท่งเทียนที่ราคาทับซ้อนกันน้อย แปลว่า ระดับราคาที่มีการซื้อขายในแต่ละแท่งเทียนแตกต่างกัน อาจเป็นการไล่ราคาให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นการทุบราคาให้ลดต่ำลงเรื่อยๆก็ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นอารมณ์ว่าแรงซื้อแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อหุ้น จึงสรุปได้ว่าเป็นช่วงราคาที่มีแนวโน้มชัดเจน (Trend)

ในกรณีที่แรงซื้อเป็นฝั่งที่รีบร้อนอยากซื้อหุ้นจะไม่รอให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแล้วค่อยซื้อเพราะกล้วว่าจะเสียโอกาส เราจึงเห็นได้ว่าแท่งเทียนแต่ละแท่งจะมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีการทับซ้อนของราคาน้อยโดยราคาต่ำสุดของแท่งเทียนแท่งใหม่จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับราคาสูงสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า การประยุกต์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ซื้อขายจริง เมื่อเราเห็นกลุ่มของแท่งเทียนที่เป็นขาขึ้นแล้วมีการทับซ้อนกันของราคาน้อย ๆ จึงให้ข้อมูลกับเราว่าแรงซื้อยังมีความรีบร้อนในการเข้าซื้ออยู่ ถ้าเรามีของอยู่ก็สบายใจได้ไม่ต้องรีบร้อนที่จะขายเพื่อทำกำไร

ในกรณีกลับกันถ้าแรงขายเป็นฝั่งที่รีบร้อนอยากขายหุ้น ฝั่งขายก็ไม่ควรรอให้ราคาหุ้นเด้งขึ้นเพื่อขายทิ้ง แต่ควรจะยอมตัดใจขายได้ทันที ในสถานการณ์นี้กลุ่มของแท่งเทียนที่เราเห็น ราคาสูงสุดของแท่งเทียนแท่งใหม่ควรจะอยู่ใกล้กับระดับราคาต่ำสุดของแท่งเทียนก่อนหน้า การประยุกต์เพื่อใช้งานในสถานการณ์ซื้อขายจริง เมื่อเราเห็นกลุ่มของแท่งเทียนที่เป็นขาลงแล้วมีการทับซ้อนกันของราคาน้อยๆ เราก็ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปซื้อ

candle-overlap-1024x365

รูปแสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันมาก และกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อย

Screen-Shot-2015-07-29-at-11.41.17-AM

รูปที่แสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันมาก และกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อยในช่วงหุ้นขาขึ้น (ที่มา Aspen Mobile)

candle_overlap_sample2-1024x636

รูปแสดงตัวอย่างกลุ่มของแท่งเทียนที่มีการทับซ้อนกันน้อยในช่วงหุ้นขาลง (ที่มา Aspen Mobile)

คำถามที่ 7 : อารมณ์ของแท่งเทียนในปัจจุบันเปรียบเทียบกับแท่งเทียนหลายๆ แท่งก่อนหน้าเป็นอย่างไร?

แท่งเทียนแท่งล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของแรงซื้อและแรงขายที่แตกต่างจากอารมณ์ของแท่งเทียนหลาย ๆ แท่งก่อนหน้า เป็นจุดเริ่มต้นชวนให้สงสัยว่า แรงซื้อหรือแรงขายที่มีก่อนหน้านี้เริ่มที่จะลดความกระตือรือร้นในการซื้อหรือขายแล้วใช่หรือไม่

reversal-candle-1024x365

รูปที่แสดงตัวอย่างแท่งเทียนที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับแท่งเทียนหลายๆแท่งก่อนหน้า

หลายๆ ครั้งเมื่อเราพบแท่งเทียนแท่งล่าสุดที่มีอารมณ์ตรงข้ามกับอารมณ์ของแท่งเทียนหลายๆ แท่งก่อนหน้า จะเป็นจุดที่ราคามีการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นหรือกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง เช่น กรณีที่หุ้นก่อนหน้านี้เป็นขาลง โดยเห็นว่าแท่งเทียนก่อนหน้านี้หลายแท่งแสดงถึงความเร่งรีบขายหุ้นของฝั่งแรงขาย แต่ปรากฏว่าแท่งเทียนที่ปัจจุบันกลับเป็นแท่งเทียนที่แสดงถึงฝั่งซื้อมีความรีบร้อนซื้อหุ้น และฝั่งแรงซื้อเป็นฝั่งชนะ แท่งเทียนแท่งใหม่ที่เราเห็นนี้จึงเป็นจุดเตือนที่ดีว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แท่งเทียนแท่งนี้อาจจะเป็นจุดที่หุ้นจะกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น จากนั้นเราก็ติดตามการซื้อขายหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิดและวางแผนกลยุทธ์การเพื่อให้ได้จังหวะซื้อขายที่ดีต่อไป

bearish-candlestick-pattern-1024x365

รูปตัวอย่างแท่งเทียนแบบ Bearish Pattern

bullish-candlestick-pattern-1024x365

รูปตัวอย่างแท่งเทียนแบบ Bullish Pattern

คำถามที่ 8 : ลองปรับ Time Frame ให้สั้นลง เพื่อดูให้รายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาที่มากขึ้นว่าเป็นอย่างไร? 

สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญการอ่านกราฟแท่งเทียนหลังจากตอบคำถามทั้ง 7 ข้อด้านบนแล้วยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจเทรด ผมขอแนะนำวิธีที่ได้ผลดีมาก ๆ วิธีหนึ่ง คือ ลองปรับ Time Frame ให้สั้นลง แล้วเราจะเห็นรายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาได้ละเอียดขึ้น

เช่น กรณีที่เราวิเคราะห์กราฟแท่งเทียนโดยใช้ Time Frame 1 วัน (1 Day) แปลว่า แท่งเทียน 1 แท่งแทนการซื้อขายของราคาใน 1 วัน แต่ถ้าเราปรับ Time Frame ให้สั้นลงเป็น 1 ชั่วโมง (1 Hour) ใน  ระยะเวลา 1 วันเราจะเห็นรูปแท่งเทียนหลายแท่ง จึงทำให้เราเห็นการเคลื่อนที่ของราคาได้ละเอียดขึ้นนั่นเอง

change-time-frame-1024x537

รูปตัวอย่างการปรับ Time Frame ให้สั้นลง ทำให้เห็นรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น

สรุปการอ่านกราฟแท่งเทียน

การอ่านกราฟแท่งเทียนมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงอารมณ์ของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด การอ่านกราฟให้รู้ถึงอารมณ์ของแรงซื้อกับแรงขายในตลาดนั้นจะพิจารณาจาก

  1. รูปร่างของแท่งเทียน 1 แท่ง โดยการเปรียบเทียบราคาปิดของวันว่าฝั่งแรงซื้อหรือฝั่งแรงขายเป็นฝ่ายชนะ
  2. ความยาวของแท่งเทียน โดยแท่งเทียนที่มีความยาวจะบอกว่าแรงซื้อหรือแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อขายจึงทำให้ราคามีความผันผวน แท่งเทียนสั้นๆ แสดงถึงความเอื่อยเฉื่อยขาดความกระตือรือร้นของทั้งสองฝั่ง
  3. ปริมาณการซื้อขายที่มากของแท่งเทียนจะเป็นตัวเสริมความมั่นใจในการแปลความหมายแท่งเทียนนั้นๆ เนื่องจากมีคนสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมซื้อขายเป็นจำนวนมาก ถ้าปริมาณการซื้อขายน้อยให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าอารมณ์หรือทิศทางของราคานั้นๆ อาจจะอยู่ได้ไม่นานเพราะมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายน้อย
  4. การเปรียบเทียบระหว่างแท่งเทียน โดยเปรียบเทียบแท่งเทียนในปัจจุบันกับแท่งเทียนก่อนหน้า เช่น แท่งเทียนส่วนใหญ่มีอารมณ์ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
  5. ราคาต่ำสุดในแต่ละแท่งเทียนยกตัวขึ้นในช่วงหุ้นขาขึ้นหรือไม่ ราคาสูงในแต่ละแท่งเทียนลดต่ำลงในช่วงหุ้นขาลงหรือไม่ เพื่อยืนยันว่าแนวโน้มทิศทางของราคาหุ้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
  6. กลุ่มของแท่งเทียนมีการทับซ้อนกันของแท่งเทียนมากหรือน้อย เพื่อดูว่าแรงซื้อและแรงขายมีความรีบร้อนในการซื้อหรือขายหุ้นหรือไม่
  7. และถ้าเราพบว่ามีแท่งเทียนแท่งใหม่ที่มีอารมณ์ของแรงซื้อแรงขายที่ตรงข้ามกับทิศทางของแท่งเทียนจำนวนหลายๆแท่งก่อนหน้า จะเป็นจุดที่ราคามีการกลับตัว จึงควรให้ติดตามการซื้อขายหุ้นตัวนั้นอย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะในการซื้อขาย
  8. ลองเปลี่ยน Time Frame ให้สั้นลงเพื่อให้เห็นรายละเอียดการเคลื่อนที่ของราคาที่เพิ่มมากขึ้น

การอ่านกราฟแท่งเทียนจะผมแนะนำให้ลองตอบคำถามทั้ง 8 ข้อประกอบกัน โดยไม่ดูข้อใดข้อหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อจะทำให้เห็นทั้งภาพที่ชัดเจนกว่าการวิเคราะห์แท่งเทียนเพียงแท่งเดียว และภาพกว้างจากวิเคราะห์กลุ่มของแท่งเทียน

บทความโดย : Daddy Trader
http://daddytrader.guru/candle/


** หากสนใจลงทุนใน Long Term Defensive Plus พอร์ตกองทุนรวมเน้นลงทุนระยะยาวที่จัดโดย DaddyTrader สามารถคลิกที่ https://www.finnomena.com/port/daddytrader/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างครับ