รีวิวกองทุนแบรนด์เนม สินค้าหรูหรา

วันนี้ เด็กการเงิน ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกองทุนที่มีการลงทุนในสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรา เป็นแบรนด์ที่หลายคนรู้จัก ซึ่งมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และมีอำนาจต่อรองด้านราคา ซึ่งในไทยมี 5 กองทุนที่ลงทุนในกลุ่มสินค้าประเภทนี้ ได้แก่ ASP-TOPBRAND, B-PREMIUM, KT-LUXURY-A, T-PREMIUM BRAND และ I-CHIC มาดูกันว่าแต่ละกองทุนมีการลงทุนในสินค้าแบรนด์ไหนบ้าง ผลตอบแทนเป็นอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่ากองทุนสินค้าแบรนด์เนมนี้จะแตกต่างกับกองทุน KFGBRAND vs AFMOAT-HA ที่เราเคยรีวิวไป โดยสองกองนั้นจะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ถือเป็นปัจจัย 4 ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ เป็นกลุ่ม Defensive ไม่ผันผวนตามตลาดมากนัก เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง แต่ไม่ใช่สินค้าหรูหรา สำหรับใครที่สนใจกลุ่มนี้ ไปอ่านได้จาก link นี้เลย

สินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหราเป็นอย่างไร?

ขอแยกเป็น 2 กลุ่มให้รู้จักกันคือ Consumer Discretionary และ Luxury โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ความผันผวนของสินค้ากลุ่มนี้มาจาก รายได้ที่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจนั่นเอง โดยถ้าหากเศรษฐกิจเปิด หรือขยายตัว จะส่งเสริมให้สินค้ากลุ่มนี้ขายดีขึ้น เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อและมั่นใจที่จะจ่ายเงินออกไป ในทางกลับกัน หากคนไม่มั่นใจ หรือมีกำลังซื้อหดหาย กลุ่มนี้ก็จะโดนกระทบก่อนเป็นอันดับแรก

กลุ่มสินค้า Consumer Discretionary เป็นสินค้าที่ไม่ได้จำเป็น แต่สามารถทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นสูงได้จากการผลิต เป็นสินค้าแฟชั่น รวมถึงรถยนต์ และบาง e-commerce platform ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

Consumer Discretionary ในมุมของสินค้าแฟชั่นคือ สินค้าที่คนที่พอมีกำลังซื้อ ต้องการมีไว้เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ หรือทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างกลุ่มสินค้า Consumer Discretionary เช่น Nike บริษัทอันดับ 1 ของตลาดรองเท้าแบรนด์ อุปกรณ์กีฬา และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่าง ๆ

กลุ่มสินค้า Luxury จะมีอำนาจต่อรองด้านราคา และเน้นลูกค้า High-End หรือลูกค้ากำลังซื้อสูง ที่ไม่ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นมากเท่าไรก็พร้อมจ่าย ตัวอย่างสินค้าเช่น กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องสำอางเเบรนด์หรู

ตัวอย่างกลุ่มสินค้า Luxury เช่น LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของ Louis Vuitton หนึ่งในเเบรนด์เนมที่ผู้หญิง และผู้ชายหลายคนชื่นชอบ บริษัทนี้มีกำไรสุทธิเติบโตสูงมาก LVMH เป็นกลุ่มบริษัทสินค้าหรูหราหลายประเภท ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดในโลก และยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงานได้ในระดับสูง นอกจากนี้ LVMH ยังคงเป็นเจ้าของอีกหลายแบรนด์ดัง เช่น Christian Dior, Celine, Marc Jacobs, Givenchy, Sephora, Fendi, Kenzo

นอกจากนี้ยังมี Hermes บริษัทแบรนด์กระเป๋าหรู และยังทำเสื้อผ้า นาฬิกา และ Cosmetics อีกด้วย

แนวทางการลงทุนของแต่ละกองทุน

รีวิวกองทุนแบรนด์เนม สินค้าหรูหรา

ASP-TOPBRAND เป็นกองทุนที่มีการลงทุนตรงในบริษัทที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง เป็น Top of Mind Brand มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอและทนทานต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ มีกลยุทธ์แบบ Active มุ่งหวังให้ผลตอบแทนมากกว่า MSCI All Country World Net Total Return USD ที่ปรับความเสี่ยงค่าเงินแล้ว

B-PREMIUM, KT-LUXURY-A และ T-PREMIUM BRAND เป็นกองทุน Feeder Fund ที่ลงทุนใน Pictet – Premium Brands เหมือนกัน ต่างกันแค่สกุลเงินลงทุน กองทุนหลักมีกลยุทธ์แบบ Active มุ่งหวังให้ผลตอบแทนมากกว่า MSCI All Country World Index เน้นลงทุนในบริษัทที่เป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าหรือบริการระดับบน (Premium Brand) หรือเรียกว่ากลุ่มสินค้าและบริการระดับ High-End

I-CHIC เป็นกองทุน Feeder Fund ที่ลงทุนใน Dominion Global Trends – Luxury Consumer Fund กองทุนหลักมีกลยุทธ์แบบ Active มุ่งหวังให้ผลตอบแทนมากกว่า MSCI World Net Total Return Index เน้นลงทุนในบริษัทที่มีเครื่องหมายการค้า (Brand Name) ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกรวมไปถึงสินค้ากลุ่มหรูหรา

สัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเทศ/ภูมิภาค/sector/หุ้น

หากดูแค่กองทุนหลักเปรียบเทียบกันแค่ 3 กองจะเห็นว่า กองทุนแม่ของ I-CHIC อย่าง Dominion Global Trends – Luxury Consumer Fund เน้นลงทุนในฝั่งยุโรปกว่า 40% ตามด้วยสหรัฐฯ ที่ประมาณ 20% ขณะที่อีกสองกองหลักเน้นลงทุนในสหรัฐฯ ราวๆ 40% แล้วค่อยตามด้วยฝั่งยุโรป

สำหรับ Sector ที่ลงทุนจะเน้นไปในกลุ่ม Consumer discretionary และ Luxury ซึ่งบางทีอาจเรียกต่างกันบ้าง แต่ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ที่เห็นชัด ๆ เลยคือกองทุน Pictet – Premium Brands เน้นลงทุนในกลุ่ม Travel & Tourism จากชื่อหุ้นที่เป็นโรงแรมหลายที่ เช่น Marriott, Hilton และ Intercontinental ซึ่งเป็นไปได้ว่ากองทุนหลักนี้เห็นถึงโอกาสการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นหลังเปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมา

หากดูเป็นหุ้นรายตัว จะเห็นว่าบริษัทหลัก ๆ ที่อยู่ในกองทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 กองทุน ได้แก่ LVMH, Hermes, L’Oreal, Coupang บริษัท e-commerce เจ้าดังของเกาหลีใต้, Lindt & Spruengli หรือที่เรียกกันว่า ลินด์ แบรนด์ช็อคโกแลตจากสวิสฯ ทั้งยังมีแบรนด์รถยนต์หรู Ferrari และร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสเปน

ผลตอบแทนและค่าธรรมเนียม

รีวิวกองทุนแบรนด์เนม สินค้าหรูหรา

รีวิวกองทุนแบรนด์เนม สินค้าหรูหรา

หากดูค่าธรรมเนียมกองทุนแล้ว กองกลุ่มนี้ค่อนข้างมีค่าธรรมเนียมที่สูงเนื่องจากเป็นกองทุนหุ้นเฉพาะกลุ่ม แต่หากดูผลตอบแทนแล้ว หลายคนอาจจะบอกว่าคุ้ม เหมือนคนที่ชอบของแบรนด์เนม ถึงจะแพงเท่าไรก็ซื้อ

หากพิจารณาทั้งผลตอบแทนและค่าธรรมเนียมจะเห็นว่า แม้กองทุน ASP-TOPBRAND จะมีค่าธรรมเนียมรวมจาก Front-End และ TER สูงที่สุดเพราะมีการลงทุนตรง แต่ก็ทำผลตอบแทนได้อยู่ในอันดับต้น ๆ ในเกือบทุกช่วงเวลา 3 เดือน YTD 1 ปี และ 3 ปี

ส่วนกองทุน T-PREMIUM BRAND ที่มีกองทุนหลักคือ Pictet – Premium Brands ก็น่าสนใจ แม้ว่ากองทุนจะมีการจ่ายปันผลออกไป แต่กองทุนก็ยังคงเติบโตได้ดี และค่าธรรมเนียมรวมจาก Front-End และ TER ก็ต่ำที่สุดด้วย

(ทั้งนี้กองทุน B-PREMIUM เพิ่งจัดตั้งกองทุนได้ไม่นาน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนระยะยาวได้)

อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีอนาคตนะ

ทุกกองทุนในไทยมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินค่อนข้างสูงมากกว่า 80% และบางกองก็มากกว่า 90%

เด็กการเงิน DekFinance

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/pfbid02h6UR7GaGy4CK1ehc6R8E5ZpNBJUUS9v8AUWs3LLA14C6Pmgjkd72yYH6m2vGvSCCl


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน| ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”