4Q19 รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง (ลงทุน)

แม้ตลาดการเงินกำลังจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 แต่เรื่องราววุ่นวายทั้งฝั่งเศรษฐกิจไปจนถึงการเมืองทั่วโลกดูจะไม่ผ่อนคลายลงเลย

หลายท่านยังอยู่ในภาวะกังวล เพราะกลัวจะเจอเหตุการณ์ “ปรับฐานแรง” เหมือนช่วงท้ายปีก่อน ขณะที่บางส่วนก็ไม่รู้จะหลบไปไหน ส่งผลให้ล่าสุดพอร์ตเต็มไปด้วยตราสารหนี้ระยะสั้นและกองทุนอสังหาฯ เสี่ยงกับการกระจุกตัวของสินทรัพย์

เวลาแบบนี้ เราควรปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน

แต่จะให้กลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยง ที่เลี่ยงมาตลอดปีอย่าง “หุ้น” ก็ต้องตอบให้ได้ ว่าทำไมต้องเป็นตอนนี้ และถ้าจะต้องมี ก็ต้องตอบรู้ด้วยว่าหุ้นแบบไหนที่จะพร้อมผจญความเสี่ยงมากมายไปพร้อมกับเรา

ตอบว่าทำไมควรมีหุ้นบ้างในตอนนี้ ? เหตุผลอย่างแรก คือช่วงท้ายปี มักเป็นเวลาที่ตลาดอารมณ์ดีที่สุด

มองย้อนกลับไปใน 30 ปีที่ผ่านมาของโลกการเงิน ไตรมาสสุดท้ายดูจะเป็นช่วงที่ตลาดทุนให้ผลตอบแทนดีมาก

นักลงทุนสถาบันก็อยากทำราคาปิด ขณะเดียวกันนโยบายภาษีก็จะบีบให้นักลงทุนทั่วโลกกลับมาลงทุนตามปีปฏิทิน

วัดจาก MSCI World Index หรือหุ้นโลก ไตรมาสสี่เป็นไตรมาสที่มีจำนวนครั้งในการติดลบน้อยที่สุดเพียง 7 ใน 30 ปี แถมด้วยค่าเฉลี่ยการปรับตัวขึ้นถึง 3.5% สูงกว่าไตรมาสอื่นมักเคลื่อนไหวในช่วง -0.8% ถึง 2.0%

ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์ที่หุ้นปรับตัวลงสิ้นปี “ต่อกันสองปี” ในประวัติศาสตร์ มีเพียงครั้งเดียวคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2007-08 ดังนั้นในปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรพลิกโผก็ควรจะเป็นช่วงที่นักลงทุนน่าลองเปิดรับความเสี่ยงบ้าง

ประเด็นถัดมา คือนโยบายการเงินกลับมาผ่อนคลาย

แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ดันให้หุ้นขึ้นเสมอ แต่ผมเชื่อว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงจะทำให้ตลาดฟื้นตัวได้เร็ว

สังเกตได้ล่าสุดช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราเห็นตลาดปรับฐานแรงถึง -13% แต่เมื่อเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดก็ฟื้นตัวได้ขึ้นทันที 12% ในไตรมาสถัดมาทันที

ส่วนไตรมาสสี่ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราได้เห็นแทบทุกธนาคารกลางในโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งก็หมายความว่าความเสี่ยงที่จะเห็นหุ้นปรับตัวลงแบบไม่มีใครกล้ารับเช่นปีก่อนเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

อย่างไรก็ดี แม้เป็นจังหวะที่ควรกล้าแต่รอบนี้ต้อง “กล้าอย่างมีสไตล์”

เพราะสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือเรื่องวุ่นๆ ของโลกการเงินคงไม่จบ แม้ตลาดจะเปิดรับความเสี่ยง หรือนโยบายการเงินจะผ่อนคลาย แต่ความผันผวนสูงก็ยังสามารถเขย่าตลาดได้ทุกเมื่อ เราจึงต้องเลือกให้ดีว่าจะถือหุ้นสไตล์ไหน ให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เราคิดว่าจะเกิด

โดยผมทำการวิเคราะห์ 4 สไตล์หลัก ทั้งมูลค่า (Value) การเติบโต (Growth) ผันผวนต่ำ (Low Volatility) และปันผลสูง (High Dividend) ด้วยดัชนี MSCI เฉพาะกลุ่ม พบว่าแต่ละสไตล์จะให้ผลตอบแทนแตกต่างกันตามระดับความผันผวน (VIX Index)

ถ้าเราคิดว่าทุกอย่างจะจบสงบสุข Growth คือสไตล์ที่ต้องมี

เพราะเมื่อไหนที่ความผันผวนปรับตัวลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หุ้นเติบโตสูงจะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยดีที่สุดราว 14.5% ต่อปี ซึ่งดีกว่าตลาด 2.6% โอกาสที่จะเป็นแบบนี้มีอยู่ราว 30%

ในทางกลับกัน ถ้าเรายังกลัวความผันผวนพลิกกลับไปสูงมาก ก็ต้องเกาะกลุ่ม Low Volatility

เพราะเมื่อ VIX ทะยานขึ้นถึง 25% ไม่ว่าสไตล์ไหนก็จะติดลบ แต่แย่น้อยที่สุดคือกลุ่มผันผวนต่ำ อาจขาดทุนเฉลี่ยเพียง 29.1% ต่อปี ดีกว่าตลาดถึง 24.0% โอกาสที่จะตลาดจะพังน่าจะมีซัก 10%

ส่วนตัวเชื่อว่า 60% ตลาดจะผันผวนสูงแต่ไม่ถึงขึ้นระเบิด สำหรับผม High Dividend จึงดูน่าสนใจที่สุด

ในเวลาต้องวิเคราะห์อนาคต ผมมักใช้การเฉลี่ยผลตอบแทนตามความน่าจะเป็นของแต่ละเหตุการณ์ ข้อเสียของสไตล์ Low Volatility คือถ้าความผันผวนไม่สูงผิดปรกติ สไตล์นี้จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่ากลุ่มอื่น 2-3%

ซึ่งถ้าเรามองว่าโอกาสแต่ละเหตุการณ์แบบผม กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังดีที่สุดก็จะเป็นสไตล์ High Dividend ที่มักมีผลตอบแทนดีในภาวะปรกติ และแย่น้อยที่สุดอันดับสองในช่วงความเสี่ยงสูงผิดปรกติ

แต่สุดท้าย การตัดสินใจก็แล้วแต่มุมมองแต่ละคน และพวกเราคงทำได้แค่ลุ้นไปพร้อมกันในช่วงท้ายปี

สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกอยู่เสมอคือ ความเสี่ยงที่เราเจออยู่ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงไม่ควรปล่อยให้ความกังวลมาเป็นข้อจำกัดในการเลือกสินทรัพย์

ทางที่ดีกว่าในการแก้ความกังวลคือ การเรียนรู้ เพื่อให้เรากล้าปรับตัวตามสถานการณ์อยู่เสมอ เพราะผมเชื่อว่าในระยะยาว โอกาสจะเป็นของนักลงทุนที่ลงทุนต่อเนื่อง และกล้าในจังหวะที่เหมาะสม

ที่มา คอลัมน์ คิดเห็น Share หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์