5 FAQ ที่ถูกถามบ่อยที่สุด สำหรับการลงทุนระยะยาว

ด้วยอาชีพนักลกยุทธ์การลงทุน ผมจะได้รับคำถามที่ท้าทายจากนักลงทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่เกิดขึ้นในโลกการเงินเสมอ

เช่น จะลงทุน Active ไปทำไมเมื่อจ่ายแพงกว่าและไม่ชนะ Passive หรือถ้าคิดว่าหุ้นบริษัทนี้ดีที่สุด ทำไมไม่ใส่เต็ม 100% ไปเลย หรือเงินเย็นรอได้ 20-30ปี แต่ต้องการผลตอบแทนเกิน 20% ต่อปีต้องสินทรัพย์ไหน

ผมมองว่าคำตอบของคำถามเหล่านี้ไม่ตายตัว และนักลงทุนส่วนมากอยากได้ความเห็น ผมจึงเลือก 5 คำถามท้าทายทฤษฎีการลงทุน มาตอบในบริบทของทศวรรษ 2020s ให้ทุกท่านได้คิดไปพร้อมกัน

1. ธีมแห่งอนาคตที่เค้าว่ามาแน่ ลงทุนตอนนี้ดีอยู่ไหม

คำถามสำคัญของยุคนี้ไม่พ้นเรื่องการลงทุนธีมเปลี่ยนโลก มีทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และสังคม บางการลงทุนก็ขึ้นแล้ว ลงแล้ว แพงเกินไปแล้ว หรือยังไม่กลับมา

คำตอบ ลงทุนได้ แต่ไม่ใช่เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะแม้จะเป็นธีมที่ดี มีอนาคต ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดี ถ้าราคาหรือจังหวะไม่เหมาะสม

แทบทุกยุคสมัยการลงทุนแนว Mega Trends ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยหุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสในการเป็น Innovator หรือ Disruptor จึงมักมี Beta สูงและเริ่มด้วย Profitability ต่ำ เหมาะกับการลงทุนช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว เช่นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ

ส่วน Alpha หรือกำไรเหนือตลาด มักเป็นสิ่งที่ “ต้องเกิดขึ้นก่อนจึงจะรู้” ดังนั้นแทนที่จะเลือกว่าเป็นธีมแห่งอนาคต ธีมไหน เมื่อไหร่ การเลือกธีมจากแนวโน้น Alpha และกำไรของบริษัทจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าเมื่อมองในระยะยาว

2. สินทรัพย์นอกตลาดมีผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์ในตลาดจริงไหม

เป็นคำถามหลักของตลาดช่วงนี้ที่มีการนำเสนอการลงทุนแนว Private Asset ไม่ติดลบจากการตีมูลค่า หรือ Private Equity มีโอกาสลงทุนตั้งแต่ก่อนเข้าตลาด

คำตอบ ไม่เสมอไป อยู่ที่โครงสร้างการทำกำไรของสินทรัพย์และการบริหาร

แม้ในทางทฤษฎี ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหรือ Liquidity risk จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้การลงทุนได้ แต่มักเกิดขึ้นเฉพาะกับสินทรัพย์ที่ไม่ควรมี Market risk เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้น เช่นอสังหาริมทรัพย์ที่รายได้ไม่แปรผันตามตลาด

นอกจากนั้น Private Investment ในปัจจุบันมักมีความเสี่ยง Manager selection risk และ Tracking error risk เพิ่มเข้ามาโดนไม่ทันระวัง ดังนั้น ถ้าเราไม่มั่นใจว่าผู้จัดการการลงทุนเก่งจริง หรือมีขั้นตอนการลงทุนที่สามารถทำกำไรตามเป้าหมายได้จริงก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีกว่าสินทรัพย์ปรกติ

3. Passive ดีกว่า Active ใช่ไหม

ตลาด ETF พัฒนามาก ปัจจุบันแทบจะมี Passive ตาม Invest ทุกสไตล์ ทุกสินทรัพย์ แถม Active ส่วนใหญ่ก็ทำผลงานแพ้ดัชนีมาหลายทศวรรษ

คำตอบ ไม่เกี่ยวกัน การบอกว่า Active ทำผลงานแย่กว่าตลาดนั้น ที่จริงถือเป็นปรกติที่ตลาดต้องมีผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ

ส่วน Passive ที่หลายท่านหมายถึง จริงแล้วก็คือ Active ที่ตั้งเป้าทำผลตอบแทนเท่ากับดัชนี เรียกให้ถูก กลุ่มนี้คือ Index Investing

สำหรับการลงทุนสาย Index ได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบันนั้น ความแตกต่างจากสมัยก่อนชัดเจนเรื่องต้นทุนการบริหารและต้นทุนการเข้าถึงของนักลงทุนที่ต่ำลงจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เห็นได้ชัดในฝั่งสหรัฐที่เทรนด์ใหญ่ของทศวรรษ คือการเปลี่ยนกองทุนรวมไปเป็น ETF

ส่วนผลตอบแทนดีกว่าหรือคุ้มค่าบริหารกว่าหรือไม่นั้น กลยุทธ์และผลตอบแทนจะเป็นเครื่องตัดสินไม่ใช่แค่เพราะว่าเป็น Index หรือ Active

4. การกระจายการลงทุนยังสำคัญอยู่ไหม

เมื่อหุ้นใหญ่ของโลกมีสัดส่วน Market Cap สูงมากแต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำกำไรได้ดีมากด้วย

สุดยอดนักลงทุนแห่งศตวรรษอย่าง Warren Buffett เคยกล่าวว่า “การกระจายความเสี่ยง คือเครื่องป้องกันความไม่รู้ ไม่มีเหตุผล ถ้าคุณรู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

คำตอบ สำคัญ ยิ่งสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้เก่งเท่า Buffett เพราะ Diversification ที่ถูกต้องสามารถลดความผันผวน โดยคงผลตอบแทนคาดหวังเท่าเดิม และลดความกังวลจากความไม่รู้ของหุ้นรายตัวลงได้

นอกจากนั้น Berkshire Hathaway ของ Buffett เองก็ถือเงินสดเกิน 15.5% และเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 มองในมุมทฤษฎี ถือเป็น Asset Allocation หรือการกระจายการลงทุนพื้นฐานรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

5. หุ้นโลกยังเป็นคำตอบของการลงทุนระยะยาวไหม

เมื่อหุ้นทำผลตอบแทนได้ดีในอดีต แต่อดีตไม่ได้ยืนยันอนาคต แถมในปัจจุบัน สินทรัพย์ปลอดภัยก็ยีลด์สูง สินทรัพย์เสี่ยงสูงก็มีให้เลือกมากขึ้น

คำตอบ หุ้นโลกเป็นคำตอบหลักของการลงทุนระยะยาว

เพราะหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีองค์ประกอบในการสร้างผลตอบแทนครบทั้ง ยีลด์ Valuation และการเติบโตของรายได้ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสินทรัพย์ทั่วไป

แม้ในระยะสั้น 1-5 ปี หุ้นโลกอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะผลตอบแทนเกิดขึ้นได้จาก sentiment ของตลาด momentum และการเปรียบเทียบ

หรือระยะกลาง 5-10 ปี วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นเครื่องกำหนดผลตอบแทนการลงทุน ยีลด์และ Valuation จึงเป็นสิ่งที่ต้องดูประกอบ ซื้อหุ้นแพงเกินไปก็อาจไม่ได้ยีลด์ตามหวัง

แต่ระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป การเติบโตของผลตอบแทน มักเป็นเครื่องตัดสินผลตอบแทน การลงทุนในสินทรัพย์ที่รายได้มีโอกาสเติบโตอย่างหุ้น จึงเป็นคำตอบที่ยังหาสินทรัพย์อื่นทดแทนได้ยาก

โดยสรุป ผมมองว่า “การลงทุนเป็นสังคมศาสตร์” แม้คำถามจะถูกถามซ้ำทุกยุค แต่ข้อจำกัดและบริบทของตลาดการเงินก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีคำตอบที่ตายตัว จึงควรวิเคราะห์หาคำตอบ ตามช่วงเวลาการลงทุนที่เราสนใจครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024