รู้ทัน 5 ประเด็นที่ประธานเฟดอาจมองเงินเฟ้อผิด

หลังจากได้ฟังประธานธนาคารกลางสหรัฐ คุณเจอโรม พาวเวลล์ กล่อมเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายการเงินใน Jackson Hole Economic Symposium ชาวตลาดการเงินก็คลายความกังวลกับอนาคตของการลงทุนเป็นปลิดทิ้ง

ส่วนใหญ่ ยอมรับได้ว่า QE คงลดลงในปีนี้ และคล้อยตามประธานเฟดว่า Tepering จะไม่มีผลลบกับตลาด นอกจากนี้กว่า 70% ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าดอกเบี้ยจะขึ้นหลังปี 2022 เพราะคุณพาวเวลล์ ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เงินเฟ้อสูง” เป็น Transitory หรือเรื่องชั่วคราวไม่ใช่สิ่งที่ต้องแก้ไข

แน่นอนว่าตลาดมีสิทธิที่จะเชื่ออะไรก็ได้ แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็มีสิทธิที่จะเห็นต่าง

ล่าสุด คุณเดวิด วู ดร.สาขาเศรษฐศาสตร์ อดีตนักกลยุทธ์ของ Bank of America Merrill Lynch แชร์ข้อมูลโต้แย้งว่าเงินเฟ้อสหรัฐปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณพาวเวลล์บอกเราถึง 5 ข้อ

(1) คุณพาวเวลล์บอกว่าเงินเฟ้อไม่ได้สูงขึ้นในหลายสินค้า 

ปัญหามีแค่ราคาสินค้าคงทนเช่นรถมือสอง แต่คุณวู ยกตัวอย่าง Dallas Fed trimmed mean PCE Inflation ที่มีการปรับเอาสินค้าหรือบริการที่สูงผิดปรกติออก ปัจจุบันราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าไม่ต่ำและมีทิศทางเป็นขาขึ้น

(2) คุณพาวเวลล์บอกว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้นเริ่มปรับตัวลงแล้ว

แต่คุณวู ชี้ว่าตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่พิเศษคือ จำนวนบ้านว่างสำหรับปล่อยเช่าต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ ตามความสัมพันธ์กับ Rental Inflation อาจเห็นค่าเช่าบ้านสูงขึ้น 4% ต่อปี และบ้านเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชน เงินเฟ้อจึงอาจไม่ลดลงง่าย

(3) คุณพาวเวลล์บอกว่ายังไม่เห็นแรงกดดันของค่าจ้าง

แต่คุณวู แสดงข้อมูลของ Atlanta Fed wage tracker ว่าค่าจ้างปรับตัวขึ้นแล้วโดยเฉลี่ย 4% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2010 และสูงกว่าที่ควรเป็น เพราะเศรษฐกิจยังไม่ใกล้ช่วง full employment เลย

(4) คุณพาวเวลล์บอกว่ามุมมองเงินเฟ้อระยะยาวย่อตัวลง

โดยใช้ข้อมูลจาก 5year forward 5y breakeven inflation คุณวู มองว่าเกิดจาก position ของตลาดที่มักผิดไปพร้อมกับสภาพคล่องสูงผิดปรกติ แถมข้อมูลนี้ยังสวนทางกับการสำรวจเงินเฟ้อจากประชาชนทั่วไปจาก Conference Board ที่พบว่าชาวสหรัฐคาดว่าจะเห็นราคาสินค้าและบริการในปีหน้าสูงกว่า 4.5% แรงที่สุดในรอบสิบปี

(5) คุณพาวเวลล์บอกว่ายังมีแรงหนุนของเงินฝืดที่อยู่กับโลกมาถึงสามทศวรรษ

ประเด็นนี้ คุณวูเห็นต่างอย่างมาก เพราะเชื่อว่าเป็นมุมมองที่นิ่งนอนใจเกินไปแม้ชาวโลกจะมี Technology ที่ก้าวกระโดด แต่โควิดจะทำให้สายพานการผลิตเปลี่ยนแปลง แทบทุกประเทศจะต้องปรับแนวคิดเรื่อง Supply Chain ใหม่ทั้งหมด หมายความว่า Globalization ที่เคยเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของ Deflation กลับตัวแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ นักลงทุนคงเริ่มฉุดคิดขึ้นมาบ้างแล้วว่าข้อโต้แย้งเหล่านี้มีทั้งข้อมูลและเหตุผลประกอบ ดังนั้นจึงไม่แน่ว่านโยบายการเงินในอนาคตของเฟด จะตรงไปตรงมาเหมือนที่คุณพาวเวลล์พยายามสื่อสาร

ส่วนตัวผม เลือกอยู่ “ทีมวู” มองตัวเลขเห็นว่าเงินเฟ้อเป็น Process หรือขั้นตอนในวัฏจักร มากกว่า Transitory หรือเหตุการณ์ระยะสั้นอย่างที่คุณพาวเวลล์อธิบาย

ต่อจากนี้ผมจึงมองว่านักลงทุนต้องระวังกับสองเรื่อง

หนึ่ง เงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงต่อเนื่อง และยีลล์ก็อาจสูงขึ้นได้ก่อนดอกเบี้ย

ทีมวู ต้องระวังว่าเงินเฟ้ออาจไม่หยุดแค่นี้ บอนด์ยีลด์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จึงไม่ควรวางใจกับการลงทุนที่ระดับ Valuation ปัจจุบัน ถ้าเป็นไปได้อาจลองซื้อ OTM Put สามเดือนไว้ป้องกันความเสี่ยงตลาดปรับฐาน

สอง เฟดมีโอกาสเปลี่ยนมาเข้มงวดเร็วกว่าที่บอก

ใครที่เป็น “ทีมพาวเวลล์” ต้องระวังด้วยว่าที่เขาพยายามกล่อมตลาดอยู่ อาจไม่ใช่เพราะไม่รู้ แต่อาจแค่เห็นว่าเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวที่สุดจึงเลือกพูดในสิ่งที่ตรงกับที่ตลาดหวัง เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ก้าวข้ามเรื่องโควิดได้เต็มตัว

ดังนั้น ถ้าเงินเฟ้อสูงจนสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพจริงเมื่อไร คุณพาวเวลล์ก็คงไม่ลังเลที่จะกลับลำ พูดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสยบเงินเฟ้อ ได้ทันทีเช่นกัน

นี่คือการโต้วาทีระดับโลกที่เราจะได้เห็นว่าใครถูกใครผิดกันในไม่ช้า

ส่วนนักลงทุนนั้น ไม่ว่าเราจะเลือกอยู่ทีมพาวเวลล์หรือทีมวู ก็ต้องไม่ลืมว่าความจริงในตลาดเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องคิดตามอย่างเหตุผล และหาทางรู้ให้ทันตลาดอยู่เสมอนะครับ 

เงินเฟ้ออาจปรับตัวขึ้นต่อถ้าถ้าโควิดที่ให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นถาวร

ที่มา: David Woo Unbound

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

iran-israel-war