ตกลง “เศรษฐกิจพังแต่หุ้นขึ้น” มันคืออะไรกันแน่?

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ความแตกต่างระหว่างข่าวเศรษฐกิจกับข่าวตลาดการเงินเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสงสัย

เพราะปี 2020 มีเสียงเตือนด้านเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากองค์การการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF และธนาคารโลก (World Bank) ที่พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็เตือนต่อว่าอาจมีประชากรโลกที่ต้องตกงานจากวิกฤตครั้งนี้กว่า 200 ล้านคนแย่ที่สุดในเท่าที่เคยมีการเก็บสถิติมา

แต่ในฝั่งตลาดทุน ตัวชี้วัดอย่างหุ้นทั่วโลก (วัดด้วยดัชนี MSCI All World Index) กลับปรับตัวลงลึกสุดเพียงแค่ใกล้กับปี 2017 และในปัจจุบันก็ฟื้นตัวขึ้นได้เท่ากับต้นปี 2019 แล้ว

เด่นที่สุดคงไม่มีใครเกินหุ้นสหรัฐ ที่ฟื้นตัวขึ้นจนห่างจากระดับสูงสุดตลอดกาลไม่ถึง 15% ทั้งที่นักวิเคราะห์ทั่วทั้งตลาดมองว่ารายได้ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้น่าจะตกต่ำลงกว่า 30% โดยเฉลี่ย

สรุปว่าเศรษฐกิจไม่ส่งผลอะไรกับตลาดการเงินใช่ไหม? หรือ อนาคตมันดีจริงอย่างที่ตลาดการเงินกำลังบอก?

ประเด็นนี้อาจค้านความรู้สึกของหลายคน แต่ต้องเข้าใจ “กฎสามข้อ” ของความสัมพันธ์ระหว่างตลาดการเงินและเศรษฐกิจก่อนว่า

ข้อแรกคือ ตลาดการเงินไม่ใช่เศรษฐกิจ ข้อที่สอง เศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดการเงิน และข้อที่สาม ตลาดการเงินกับเศรษฐกิจก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

อ่านแล้วรู้สึกว่าผมกวนรึเปล่า แต่ความจริงดูจะเป็นเช่นนั้น เพราะตลาดการเงินกับเศรษฐกิจมีมุมมองที่แตกต่างกันมากกว่าที่หลายคนคิด

เช่นเรื่องแรก ตลาดการเงินจะเคลื่อนไหวตามมุมมองในอนาคต ส่วนเศรษฐกิจคือภาพสะท้อนของกิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในเชิงคณิตศาสตร์อาจเปรียบเทียบได้ว่าเศรษฐกิจคือระดับ (Level) ในขณะที่ตลาดการเงินคือการเปลี่ยนแปลงของระดับในอนาคต (Future Change in Level)

ตัวอย่างเช่น ตลาดแรงงาน ที่ในปัจจุบันเรากำลังเห็นคนว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแย่ลง แต่ถ้าให้จินตนาการถึงปีหน้า เชื่อว่าหลายคนคงมองว่าเหล่าคนตกงานเหล่านี้ น่าจะต้องหางานได้ใหม่ได้ หมายความว่าปัจจุบันเป็นลบ แต่การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเป็นบวก เป็นผลให้ตลาดการเงินกลับตัวขึ้นได้เร็วกว่าเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สิ่งที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดการเงิน ก็คือทั้งคู่มีเป้าหมายและวิธีการจัดการกับเป้าหมายที่ต่างกัน

มุมมองนี้ ยิ่งชัดเจนขึ้นในภาวะถดถอย ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกิจกรรมทุกอย่างทันที แต่จะพยายามรักษาการใช้ชีวิตให้เป็นปกติตามเดิม ขณะเดียวกันก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาผสม ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเงินลงทุนเข้าสู่กิจกรรม หรือทวีปที่สำคัญได้ดั่งใจ

ต่างจากตลาดการเงินที่มีเป้าหมายแค่ในเชิงเปรียบเทียบ จึงสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

เช่นเวลาที่พื้นฐานของทุกสินทรัพย์แย่ลงทั้งหมด ตลาดก็ยังสามารถมองหาได้ว่าอะไรแย่น้อยกว่าหรือมากกว่าและสามารถย้ายเงินลงทุนไปในจุดที่แย่น้อยที่สุดได้ก่อน

และเมื่อเศรษฐกิจมีท่าทีที่จะฟื้นตัว ก็สามารถจัดสรรเงินไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงสูง หรือทวีปที่เติบโตมากที่สุดได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจในประเทศหลักฟื้นตัวด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดการเงิน คือทั้งคู่มองตัวชี้วัดตัวเดียวกันด้วยมุมมองคนละอย่าง

ตัวอย่างเช่น “บอนด์ยีลด์” ที่ฝั่งเศรษฐกิจจะตีความผลตอบแทนในระดับใกล้ 0% นี้ว่ามาจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว หรือโอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตที่แย่

ส่วนตลาดทุนจะมองยีลด์ที่ต่ำนี้ว่าเป็นบวกต่อหุ้น เพราะนอกจากจะทำให้มูลค่าของผลตอบแทนในอนาคตสูงขึ้นจาก Discount Rate ที่ลดลงแล้ว ก็ยังช่วยให้หุ้นดูไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับบอนด์ไปพร้อมกันอีกด้วย

เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วว่า เศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดการเงิน ก็กลับมาที่คำถามว่า “เศรษฐกิจพังแต่หุ้นขึ้น” นี้บอกอะไรกับอนาคตของตลาดทุนกันแน่

ถึงตรงนี้ ทุกคนคงรู้แล้วว่าทั้งสองอย่าง “เล่าคนละเรื่อง” จึงไม่ได้แปลว่าหุ้นต้องลง หรือเศรษฐกิจต้องดีขึ้น ส่วนอนาคต ทั้งสองอย่างนี้อาจแยกขาดจากกันหรือวิ่งตามกัน แต่สุดท้ายก็อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรต่อกันได้อยู่ดี

ดังนั้น สำหรับที่ลงทุนระยะสั้น ก็ไม่ควรต้องให้ความสนใจการรายงานเศรษฐกิจมากนัก เพราะสำหรับตลาด เรื่องที่จะส่งผลกับอนาคตเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ

แต่ถ้าหากเป็นนักลงทุนระยะยาวแล้ว ก็ควรสนใจการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นรายวันให้น้อยหน่อย เพราะโอกาสที่จะถูกอารมณ์ตลาดหลอกล่อให้ซื้อของแพง ที่ดีในระยะสั้นแต่ให้ผลตอบแทนต่ำในระยะยาวก็มีสูง

เป้าหมายหลักของการตามตลาด ไม่ใช่แค่เพื่อมองหาว่าอะไรมีความสัมพันธ์กัน แต่ต้องรู้ว่าอะไรไม่สัมพันธ์กันด้วย

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์