ธีม ESG: Filter ไม่ให้ตกนรก หรือ Factor เพื่อให้ขึ้นสวรรค์

การดำเนินชีวิตของเรา บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าต้องการขึ้นสวรรค์ หรือแค่ประคองให้ไม่ตกนรก

แนวคิดนี้ไม่ต่างกับการลงทุนบนธีม ESG (ย่อมาจาก Environmental, Social และ Governance) ที่ในปัจจุบันภาครัฐทั่วโลกพยายามปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรับผิดชอบต่อประเด็นด้านสังคม ผู้ถือหุ้น หรือการปรับสภาวะแวดล้อม บวกกับเป็นช่วงที่การลงทุนเหล่านี้ทำผลงานโดดเด่น ทำให้มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ผุดขึ้นมามากมาย

นักลงทุนช่างสงสัยมักถามกับผมว่า “ควรมองธีม ESG อย่างไรดี?”

เพราะมุมหนึ่ง ESG เป็นเหมือน Filter เพื่อลงทุนไม่ให้เกิดปัญหา แต่ด้วยเงินทุนมหาศาลที่เตรียมลงทุนในสิ่งแวดล้อม ธีม ESG อาจกลายเป็น Factor ที่นักลงทุนควรดูประกอบการคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคต เราจึงควรรู้ทันธีม “รักษ์โลก” เหล่านี้ให้มากขึ้น

สำหรับผม เบื้องต้นแนะนำให้มอง ESG เป็น Filter หรือลงทุนให้ “ไม่ตกนรก” ก่อน ชัดเจนที่สุดคือตัวอักษร S เรื่องประเด็นสังคม และ G เรื่องธรรมาภิบาล

Filter หรือ “ตัวกรอง” เป็นหลักการที่ค่อนข้างสากลสำหรับภาคการเงิน บริษัทจัดการการลงทุนทั่วโลกก็มีข้อจำกัดสำหรับการลงทุนในบางบริษัทที่ไม่โปร่งใสรวมไปถึงในบางประเทศที่มีปัญหาด้านสังคมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั่วโลกก็มักจัดกลุ่มหุ้นที่ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ESG ให้เห็น เช่นในประเทศไทย มีการจัดทำเป็นเกณฑ์คุณสมบัติความยั่งยืน (Sustainability Investment) ครอบคลุมประเด็นดังกล่าวไว้

ในเชิงวิชาการ งานวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุน ESG ว่าเป็นเหมือน Filter ของสถาบันการเงิน เช่น Hartzmark และ Sussman (2019) เรื่อง Do Investors Value Sustainability? พบว่าบริษัทที่ยั่งยืน มักดึงดูดเงินลงทุนจากสถาบันมากกว่ากลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ESG

แต่ปัญหาหลักของการมอง ESG เป็น Filter คือทำให้เราไม่สามารถลงทุนในบางธุรกิจได้ เช่นงานวิจัยของ Hong และ Kacperczyk (2009) ที่ชี้ว่านักลงทุนที่สามารถลงทุนใน “ธุรกิจบาป” จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าในระยะสั้น เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในการลงทุน ส่วนในระยะยาว ถ้า ESG กลายเป็นกฎหมาย Filter ESG ก็จะไม่มี premium

หลายคนจึงพยายามมอง ESG ให้เป็น “ความดี” มีแล้วเป็น Factor เพื่อขึ้นสวรรค์ แต่มุมมองนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อนักลงทุนหาธุรกิจที่ผลลัพธ์แปรผันตามความดีได้

เพราะจุดอ่อนของ ESG มีมากมาย ตั้งแต่คำจำกัดความของแต่ละตัวอักษร การวัดปริมาณ และความสัมพันธ์กับผลตอบแทนหรือความเสี่ยง

ปัจจุบันดูจะมีเพียง E หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่สามารถหาตัวชี้วัดได้ชัดเจนเช่น Carbon Credit แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้มีงานวิชาการสนับสนุนว่ากิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างกำไรให้นักลงทุนโดยตรง ในทางกลับกัน งานวิจัยของ Bolton และ Kacperczyk (2020) กลับพบว่าบริษัทที่มีการปล่อย CO2 สูง มักสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทปรกติ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานการกำหนดราคา Carbon Credit ที่เป็นส่วนชดเชยความเสี่ยงในอนาคตด้วยซ้ำ

แต่นั่นก็ตอกย้ำเราว่าบริษัทที่ ESG ต่ำมักมีความเสี่ยงเรื่องกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจ (Tail Risk) ซ่อนอยู่

หมายความว่า เราสามารถมอง ESG เป็น Factor ได้ ถ้าแยกผลลัพธ์จากการลงทุนออกเป็น “สอง” ส่วนคือการสร้างผลตอบแทนกับความเสี่ยง เพราะระดับของ ESG จะมีความสัมพันธ์กับความผันผวนของธุรกิจในอนาคต

เช่นงานวิจัยของ Pedersen และคณะ (2020) ที่ใช้ข้อมูลตลาดการเงินสมัยใหม่ พบว่าเมื่อนักลงทุนเริ่มให้ความสนใจกับประเด็น Sustainability มากขึ้น การลงทุนที่ ESG สูงจะมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Sharp Ratio) ที่ดีกว่าการลงทุนที่ ESG ต่ำเนื่องจากมีความผันผวนที่น้อยกว่าในระยะยาว

หรือสรุปได้ว่าทั้งสองมุมมองชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ESG ช่วยให้เรา “ตกนรก” ยากขึ้นนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้ว นักลงทุนควรต้องทำอย่างไร?

ในมุมมองของผม มีสองกลยุทธ์ที่เราสามารถอิงกับธีมนี้ได้คือ การลงทุนในสไตล์ยั่งยืน (Sustainable Investing) และธีมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด (Clean Energy)

ถ้าเราต้องการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของพอร์ตไปพร้อมกัน ก็ควรตอบโจทย์ด้วยการลงทุนสไตล์ยั่งยืน ที่มีการใช้ ESG เป็น Filter สิ่งที่นักลงทุนควรหวังจากการลงทุนเหล่านี้ ไม่ใช่ผลตอบแทนที่สูงกว่าปรกติ แต่ควรเป็นความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตที่ลดลง

แต่ถ้าเราต้องการผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้นและลงทุนระยะยาวได้ ก็ต้องหาทางมอง ESG ให้เป็น Factor เลือกลงทุนที่แตกต่างด้านเทคโนโลยี หรือส่วนแบ่งตลาดต่ำแต่อยู่ในขาขึ้น หรือไม่มีกำไรแต่ยอดขายเติบโตก้าวกระโดด การลงทุนเหล่านี้จะผันผวนสูงมาก จึงต้องมี ESG เพื่อดึงดูดเงินลงทุนหรือลด Tail Risk ด้านอื่นออก ตัวอย่างเห็นได้ชัดจึงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Clean Energy ที่แทบไม่มีกำไรในระยะสั้นเลย แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นหวือหวาเพราะตลาดมองว่ามีอนาคต

ต่อจากนี้ ผมเชื่อว่าตลาดจะมีการถกเถียงกันเรื่อง ESG กันอีกมาก และธีมนี้จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ สำหรับนักลงทุนยิ่งต้องรู้ให้ทันว่าสิ่งที่เรากำลังลงทุนอยู่ เป็น Filter ให้เราไม่ตกนรกหรือเป็น Factor ที่จะส่งเราขึ้นสวรรค์กันแน่

ตัวอย่างประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ESG

ธีม ESG: Filter ไม่ให้ตกนรก หรือ Factor เพื่อให้ขึ้นสวรรค์

ที่มา: CFA (2015) และ UOB Asset Management

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์