EU Recovery Fund ประวัติศาสตร์บทใหม่ของยุโรป

EU Recovery Fund ประวัติศาสตร์บทใหม่ของยุโรป

เรื่องเด่นในฝั่งนโยบายการเงินการคลังในช่วงนี้คงไม่มีอะไรจะน่าสนใจไปกว่าการที่สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุข้อตกลงความช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติโคโรนาไวรัส หลังจากหารือนานเกือบ 100 ชั่วโมง

ประเด็นนี้สำคัญอย่างไร และส่งผลกับตลาดการเงินแบบไหน เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ 

ประเด็นแรก คือข้อตกลงนี้เป็นการใช้แหล่งเงินทุนผ่านคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EC) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงมองว่ามีความใกล้เคียงกับ Hamilton Moment ของสหรัฐช่วง 200 ปีก่อน ที่ Alexander Hamilton รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรก เสนอกฎหมายให้รัฐบาลกลาง (Federal Government) มีหน้าที่รับผิดชอบต่อหนี้ภาครัฐให้กับรัฐบาลท้องถิ่น (State Governments) จนทำให้สหรัฐสามารถกู้ร่วมกันได้มาจนถึงปัจจุบัน

การผ่านนโยบายครั้งนี้ แม้จะไม่เหมือนกับฝั่งสหรัฐ 100% แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภูมิใจร่วมกันของสมาชิกในสหภาพยุโรป

ต่อมา แม้ขนาดของนโยบายจะไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจและลดภาระของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโคโรนาไวรัสได้

นโยบายทั้งหมดมีขนาดเพียง 1.82 ล้านล้านยูโร โดยประกอบไปด้วยงบ 1.07 ล้านล้านยูโรใน Multi-Annual Financial Framework (MFF) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2021-2027 ส่วนที่เหลือจะเป็น Next Generation EU Recovery and Resilience Facility (RRF) ซึ่งมีเงินให้เปล่ามูลค่า 3.12 แสนล้านยูโร และเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมอีก 3.6 แสนล้านยูโร

จากข้อตกลงเบื้องต้น MFF จะเป็นการคืนเงินสมทบของสมาชิก EU ซึ่งเป็นบวกกับประเทศใหญ่ ส่วน RRF จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายราว 1.6% ของจีดีพียุโรป ในประเทศอย่างอิตาลีหรือสเปนที่เจอกับการระบาดรุนแรงที่สุด จึงน่าจะช่วยหนุนให้แทบทุกประเทศในยุโรปสามารถฟื้นตัวได้พร้อมกันโดยไม่ติดประเด็นการคลังภายใน

อย่างไรก็ดี Euro Recovery Fund นี้ก็มีจุดอ่อนที่ทำให้ตลาด “ขายรับข่าว” แทนที่จะมองเป็นเรื่องบวกระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางกฎหมาย ที่นโยบายนี้ดูจะเป็นเพียง “กรณีพิเศษ” และอาจไม่สามารถนำมาใช้นอกสถานการณ์วิกฤติได้

ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นนโยบายการคลังที่จะค่อย ๆ ทยอยเข้าสู่เศรษฐกิจ เร็วที่สุดคือเงินอาจเข้าสู่ระบบในช่วงต้นปีหน้า แถมใน 3 ปีแรก ก็คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพียงแค่ 30% ของงบประมาณทั้งหมด ผลจึงไม่น่าทันใจตลาด

นอกจากนี้ การหารือที่ยาวนานก็แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความสัมพันธ์ของประเทศใน EC ว่าไม่ได้เหนียวแน่น จึงทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งมองเรื่องนี้เป็นเพียงประเด็นบวกระยะสั้น

ถึงตรงนี้ทุกท่านคงเห็นข้อดีข้อเสียของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของยุโรปครั้งนี้

ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตบนตัวแปรในตลาดการเงิน เพื่อมองภาพอนาคต บนความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ทางการเงินยุโรปและทั่วโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไว้ 4 ข้อ

  • แม้จะมีดีลแล้ว แต่ความต่างระหว่างบอนด์ยีลด์เยอรมันและอิตาลกลับไม่ลดลง แสดงให้เห็นว่า “ไม่ใช่ทุกคน” จะเชื่อว่าเรื่องนี้สามารถลดความเสี่ยงของประเทศที่เจอกับวิกฤติได้จริง ล่าสุด ยีลด์เยอรมันอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นบ้างแต่ยังติดลบ 47% ขณะที่ยีลด์อิตาลีขยับลงเพียงเล็กน้อยมาที่ระดับ 1.07% ส่วนต่างจึงยังสูงกว่าช่วงปรกติที่ 1.00% อยู่มาก แต่อย่างน้อย
  • ค่าเงินยูโรที่ฟื้นตัวถึงระดับ 15 ดอลลาร์ (36.5 บาท) ก็สูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2019 ชี้ว่าตลาดมีความ “เชื่อมั่น”​ กับทวีปยุโรปโดยทั่วไปมากขึ้น ซึ่งการแข็งค่ารอบนี้น่าจะทำให้เงินยูโรกลายเป็นอีกหนึ่งหลุมหลบภัย (Safe Haven) ในตลาดการเงินได้ถ้าวิกฤติกลับมาในช่วงท้ายปี
  • ส่วนฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ประโยชน์ดูจะตกสู่กลุ่มมูลค่า (Value) มากกว่ากลุ่มเติบโต (Growth) เพราะสัดส่วนของ MSCI Europe Value Index / Europe Growth มาหาความสัมพันธ์กับค่าเงินยูโรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าความเคลื่อนไหวสามารถอธิบายกันได้ด้วย R Square มากถึง 64
  • และสุดท้าย ถ้าข้อตกลงความร่วมมือประวัติศาสตร์นี้ หนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวขึ้นได้พร้อมด้วยผลทางอ้อมอย่างดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ก็จะสามารถจุดไฟการลงทุนทั่วโลกให้ฟื้นตัวไปพร้อมกันได้ด้วย เนื่องจากทั้งดอลลาร์และหุ้นยุโรป เป็นสององค์ประกอบหลักของการฟื้นตัวของหุ้นโลก (MSCI All World Index) ด้วย R Square กว่า 85 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยสรุป แม้จะเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น และอาจไม่สามารถมองยาวไปถึง Hamilton Moment แบบในสหรัฐได้ในตอนนี้ แต่บนตลาดการเงิน ถ้า EU Recovery Fund สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ก็รับรองว่าการลงทุนทั่วโลกครึ่งหลังของปี 2020 จะน่าสนใจมากขึ้นแน่นอนครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์