เป้าหมาย “ทองคำ” หลังผ่านจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล

ช่วงสิ้นปีก่อนผมวิเคราะห์และประเมินทิศทางราคาทองคำโลก ว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,900-2,400$/oz ในปี 2024 โดยมีแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขาขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นโยบายการเงินผ่อนคลาย และความเสี่ยงเรื่องไม่คาดฝันเป็นแรงส่งหลัก

ผ่านมาเพียงไตรมาสแรก ราคาทองคำทำจุดสูงสุดใหม่อย่างที่คาด แต่เหตุผลกลับไม่สอดคล้องกับที่ประเมินไว้ เช่น ยีลด์ไม่ลด ดอลลาร์ไม่อ่อน เศรษฐกิจโลกดีกว่าคาด จนเกิดคำถามว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงิน และราคาทองคำจะมีทิศทางอย่างไรกันแน่ในช่วงที่เหลือของปี

โดยการวิเคราะห์ระยะสั้น ผมเลือกเปรียบเทียบความเสี่ยง โอกาส และเหตุผลของผู้ซื้อผู้ขาย เริ่มต้นด้วยการมองไปที่ความเสี่ยงด้านลบ พบว่า 

“แรงต้าน” อย่างดอกเบี้ย ดอลลาร์ และความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง ไม่สามารถสร้างแรงขายทำกำไรทองคำได้มากเหมือนทศวรรษก่อน

จากข้อมูลของ World Gold Council ทองคำมีแรงขายจริงทุกสัปดาห์จาก ETF ตั้งแต่ต้นปี แรงขายนี้มีขนาดกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ และปีนี้เงินจาก ETF น่าจะไหลออกติดต่อกันเป็นปีที่สาม

อย่างไรก็ดี ถ้าวิเคราะห์เปรียบเทียบจากความสัมพันธ์ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ช่วงที่ดอลลาร์แข็งค่า 2% และดอกเบี้ย10ปีแท้จริงสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.5% ราคาทองคำควรร่วงลงอย่างน้อย 3-7% หรือราคาเหมาะสมของทองคำไตรมาสที่หนึ่ง บนความสัมพันธ์เก่า ควรอยู่ที่ 1,800$/oz ไม่ใช่สูงกว่า 2,000$/oz

นั่นอาจเป็นเพราะ “แรงหนุน จากเศรษฐกิจฟื้นตัว และความเสี่ยงเรื่องไม่คาดฝันที่สูง มีกำลังมากกว่าตลาดการเงิน

แม้ผมจะเชื่อว่ากรณีที่ดีที่สุดสำหรับราคาทองคำคือเศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจฟื้นตัวก็ไม่ได้เป็นภาวะที่สร้างแรงกดดันบนราคาทองคำ

เพราะถ้ามองไปที่กำลังการผลิตทองคำราว 5 พันตัน/ปี กับกำลังซื้อทองคำจากเครื่องประดับและการลงทุนแบบทองแท่งเหรียญทองเฉลี่ยระดับ 3.2 พันตัน/ปี การมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งย่อมไม่ใช่ข้อเสีย

องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างของทองคำ คือไม่มีความเสี่ยงรายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเหตุผลสำคัญที่สร้างผู้ลงทุนต่อเนื่องกลุ่มสำคัญอย่าง “ธนาคารกลาง” นำโดย จีน อินเดีย สิงคโปร์ โปแลนด์ ที่รวมกันเป็นกำลังซื้อระดับ 1 พันตัน/ปี (เทียบกับระดับก่อนโควิดของธนาคารกลางทั้งหมดที่ราว 500 ตัน/ปี)

ในปี 2024 ที่สงครามทั่วโลกไม่มีวี่แววคลี่คลาย สวีเดนและฟินแลนด์เข้าร่วมกลุ่ม NATO สหรัฐกดดันจีนทุกทาง จนดัชนีชี้วัดความเสี่ยง Geopolitical Risk Index ปรับตัวสูงใกล้เคียงช่วงต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นเครื่องตอกย้ำความสำคัญของสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมากขึ้นไปอีก

สรุปได้ว่า แรงขายของ ETF ที่คิดเป็นราว 2ร้อยตัน/ปี แทบไม่มีโอกาสกลับทิศทองคำได้เลยถ้าความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ไม่หายไป ยิ่งนานวันเข้าโครงสร้างใหม่ของผู้ซื้อและผู้ขายทองคำ อาจทำให้ความสัมพันธ์ของทองคำกับตลาดการเงิน เปลี่ยนแปลงและอาจไม่กลับไปเหมือนทศวรรษก่อนอีกต่อไปแล้ว

ชั่งน้ำหนักแรงหนุนและแรงต้านใหม่ในปี 2024 ผมมองทิศทางราคาทองคำโลกในปีนี้เป็นสามกรณี

กรณีฐาน 2,125$/oz – เศรษฐกิจโลก Soft Landing นโยบายการเงินผ่อนคลายบ้าง แต่ความกังวลเรื่องการเมืองระหว่างประเทศคงอยู่ต่อเนื่อง

ผมเชื่อว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายช้าลง กลับดีสำหรับแนวโน้มราคาทองคำ เพราะถือเป็นแรงหนุนในอนาคตที่ไม่หายไป ส่วนประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ผมเชื่อว่าจะร้อนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐฯ รออยู่

อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านี้ไม่ใช่แรงหนุนที่จะทำให้ราคาขึ้นไปแบบไร้แนวต้าน เพราะนักลงทุนที่เข้ามาใหม่อย่างธนาคารกลางไม่ใช่นักเก็งกำไร ไม่รีบร้อน และใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ด้วยระดับความผันผวนของทองคำที่ 7-10% ต่อปี มีความเป็นไปได้มากที่ทองคำจะไม่มีแรงซื้อไล่เมื่อราคาปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป

กรณีกระทิง 2,340$/oz – การเมืองระหว่างประเทศร้อนแรง กดดันเศรษฐกิจ Hard Landing เงินเฟ้อลด นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก

ผมเชื่อว่าทองคำจะโดดเด่นที่สุดถ้าการเมืองสหรัฐฯ วุ่นวาย กดดันดอลลาร์อ่อนค่า ผสมกับภาวะสงคราม และความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ นานาประเทศต้องยิ่งกระจายความเสี่ยงออกจากสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์ เป็นบวกกับทองคำ

และถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกไปชะลอตัวหรือถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแน่นอน มองจากระดับดอกเบี้ยปัจจุบันของเฟดที่ 5.5% ถ้าลดดอกเบี้ยลงแค่เท่ากับเป้าหมายระยะยาวที่ 2.5% ทุกธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยตาม และทองคำจะกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีแรงซื้อเข้ามาอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าจุดสูงสุดของราคาทองคำที่เราคาดหวังได้ อาจลดลงเล็กน้อยเนื่องจากการเข้ามาของสินทรัพย์ทางเลือกใหม่อย่าง Bitcoin ทำให้นักเก็งกำไรที่จะดันราคาสูงอาจไม่มีมากเหมือนสมัยก่อน

กรณีหมี 1,900$/oz – ความเสี่ยงหลักคือนโยบายการเงินไม่ผ่อนคลาย เพราะเศรษฐกิจ No Landing ขณะที่ความเสี่ยงสงครามลดลงเร็วกว่าคาด

แม้ไม่ใช่กรณีหลักแต่ก็ต้องระวังไว้บ้าง เพราะจากข้อมูลเศรษฐกิจระยะสั้น สหรัฐแทบจะไม่ชะลอตัวลงเลย จนอาจเป็นไปได้ที่การลดดอกเบี้ยจะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งหรือสงคราม ก็เป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนในตลาดคาดหวังไว้ก่อนแล้ว ถ้าท้ายที่สุด เหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้กลับเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ทั้งหมด เช่น เลือกตั้งสหรัฐฯ ไร้ปัญหา หรือสงครามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-ฮามาส กลับหาข้อตกลงกันได้ ราคาทองคำก็อาจถูกขายทำกำไรคืนกลับไปที่จุดเหมาะสมได้เช่นกัน

แต่ที่ผมมองว่าราคาจะไม่ต่ำไปมาก เพราะกรณีนี้เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะเร่งเงินเฟ้อและเพิ่มความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ให้กับนักลงทุน จึงไม่ควรมีแรงขายมากมายบนสินทรัพย์ปลอดภัย ที่ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อได้อย่างทองคำ

โดยสรุป การที่ทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ตั้งแต่ต้นปี แม้ยีลด์จะไม่ลด ดอลลาร์จะไม่อ่อน หรือเศรษฐกิจโลกจะดีกว่าคาด สำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลของผู้ซื้อและผู้ขายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ยิ่งในช่วงนี้ที่ทั่วโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงไม่คาดฝัน ประโยคทองคำที่ John Pierpont Morgan ผู้ก่อตั้งกลุ่มการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้กล่าวไว้ว่า Gold is money everything else is credit” เป็นสิ่งที่ใช้ได้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับนักลงทุนไทย หลายท่านอาจถือทองคำอยู่แล้ว หรือกำลังสนใจอยากลงทุนปีนี้ ผมแนะนำให้เปรียบเทียบราคาปัจจุบันกับโอกาสและความเสี่ยงข้างต้น ถ้าเห็นว่าคุ้มค่าที่ระดับราคาไหน ก็ลงทุนได้เสมอ แค่ต้องไม่ลืมควบคุมสัดส่วนการถือครองทองคำให้เหมาะสมกับการเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในกรอบ 5-15% ของพอร์ตนะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนต่างประเทศ

iran-israel-war