K Shape Recovery สัญญาณการฟื้นตัวแบบ “ไร้สมดุล”

วิกฤติโควิด-19 ทำให้หน้าที่ของนักวิเคราะห์มีหลากหลายขึ้น แค่บอกได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่าไหร่ อย่างไร หรือตลาดการเงินจะไปต่อได้ไหม ดูจะไม่พอ ต้องเพิ่มจินตนาการด้วยการอธิบายอนาคตให้เป็นตัวอักษรต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น L V W หรือ U นอกจากที่เราคุ้นเคยก็มีใหม่อย่าง Square Root หรือ Nike มาให้ได้เห็น

ล่าสุด ตัวอักษรที่ถูกพูดถึงมากคือ K ซึ่ง Shape นี้ แม้จะมาทีหลังแต่กลับอธิบายเรื่องราวในตลาดการเงินได้ดีในหลายมิติ นักลงทุนอย่างเราจึงควรรู้จักและเข้าใจ K Shape Recovery ให้ดีไม่แพ้ตัวอักษรอื่น ๆ

มุมมองหลักของ K หมายถึง การฟื้นตัวที่ “ไม่สมดุล” ซึ่งเกิดขึ้นในตลาดแรงงานทั่วโลก

เพราะวิกฤติครั้งนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “หายนะของชนชั้นล่าง” อย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่เด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศที่เจอวิกฤติแรงที่สุดอย่างสหรัฐ จากการสำรวจของ JLL พบว่าผลจากนโยบาย “ล็อคดาวน์” เพื่อลดการระบาดของไวรัสที่ผ่านมา ทำให้มีการเลิกจ้างงานถึงกว่า 80% ในกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ (น้อยกว่า 14 ดอลลาร์/ชั่วโมง) แต่เมื่อมีการ “คลายล็อค” กลับมีการจ้างงานเพิ่มเพียง 40% ส่งผลให้แรงงานที่เหลือกว่าครึ่งต้องตกงาน สวนทางกับกลุ่มแรงงานรายได้สูง (เกิน 32 ดอลลาร์/ชั่วโมง) ที่สามารถปรับตัวทำงานที่บ้านได้จึงแทบไม่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นเลย

ทั่วโลก แม้จะต่างกันที่ขนาดของผลกระทบ แต่ก็ดูจะพบกับการฟื้นตัวแบบ K Shape เหมือนกัน เศรษฐกิจหลังวิกฤติจึงขาดสมดุลในตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนในฝั่งการเงิน K ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเกิดระหว่างตลาดหุ้นและตลาดบอนด์

เพราะหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นมาแล้วแทบทั้งหมด เห็นได้จากดัชนี MSCI All World Index ที่ทำจุดสูงสุดใหม่เรียบร้อย ต่างกับบอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติกาลเพราะธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก

หมายความว่าคนที่มีการลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้น คือผู้ลอยตัวเหนือปัญหาหนึ่งเดียวจากวิกฤติครั้งนี้ แต่กลายเป็นคนที่ถือบอนด์และไม่กล้ารับความเสี่ยง ที่กลับต้องเสี่ยงกับรายได้จากลงทุนที่หดหายไปมากที่สุดในอนาคต

ความแตกต่างของหุ้นและบอนด์จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง K ที่สะท้อน “ความไม่สมดุล” ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปแก้ไข

ส่วน K ที่กว้างที่สุดคือ เศรษฐกิจเก่ากับเศรษฐกิจใหม่ ที่เกิดจากมุมมองของนักลงทุนที่ “ไม่สมดุล” อย่างหนัก

ตัวอย่างที่เด่นชัด คือเมื่อ Apple กลายเป็นบริษัทแรกของโลก ที่มีขนาดมูลค่าตลาดใหญ่โตถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ กลับกันกับบริษัทที่เคยใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อน อย่าง ExxonMobil ที่ล่าสุดถูกถอดออกจากดัชนี Dow Jones อย่างน่าใจหาย

สิ่งที่ต้องคิดตามให้ดี คือการปรับตัวขึ้นและลงของหุ้นช่วงนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรกับรายได้ของบริษัทในปัจจุบันเลย

เช่น Apple ที่มี P/E ถึง 37 เท่า แปลความได้ว่ารายได้ปี 2021 คิดเป็นแค่ไม่ถึง 3% ของมูลค่าตลาด เพราะคนที่ซื้อหรือขาย ก็คิดแค่ว่าการลงทุนในหุ้นเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้คง “มีอนาคต” สดใสกว่ากลุ่มเศรษฐกิจเก่า

แนวคิดเช่นนี้ ยิ่งทำให้ธุรกิจที่คนมองว่าตกยุค ยิ่งหาแหล่งเงินทุนลำบาก แต่กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ก็ใช่ว่าจะดี เพราะฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ยิ่งฉุดไม่อยู่ เพิ่มความเสี่ยงให้นักลงทุนหน้าใหม่ต้องจ่ายแพงเกินพื้นฐานไปอย่างมหาศาล

และทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของ K Shape Recovery ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

เมื่อเข้าใจแล้วก็มาถึงเวลาที่เราควรต้องปรับวิธีคิด โดยสิ่งที่อักษร K กำลังบอกเราถึงความ “ไร้สมดุล” ดังนั้นทางรอดจริง ๆ จึงอยู่ที่การหา “สมดุล” ให้เจอ

เพราะแม้ว่าทุก K Shape ที่เราเห็นนี้ยืนยันว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินหลังวิกฤติโควิดจะไม่เหมือนเดิม แต่ผมก็ยังมองว่าการลงทุนที่ดี ควรมีความจริงเป็นองค์ประกอบมากกว่าแค่ความเชื่อและความหวัง

และแม้เศรษฐกิจจะปรับเปลี่ยนต่อไม่หยุด ใครช้าต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ในทางกลับกัน ก็คงไม่มีเศรษฐกิจไหนที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ถ้ากำลังซื้อเกินกว่าครึ่งจะต้องหายไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป

เราจึงต้องรู้จักสร้าง “สมดุล” ของความมั่งคั่งให้ดี

เลือกลงทุนและพัฒนารายได้ให้ไม่ตกไปอยู่ขาลงของตัว K ขณะเดียวกัน ก็ต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุผล อย่าปล่อยให้ความโลภพาเราไปติดในฟองสบู่ขาขึ้นของตัว K ที่ขายแต่ฝันในอนาคตมากจนเกินไป

ผมรู้ว่า “สมดุล” พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะระหว่างที่เขียนก็คงมีคนตกงานมากขึ้น และหุ้นก็คงขึ้นต่ออีกแล้ว แต่เริ่มคิดเถอะครับ ก่อนที่ K Shape Recovery จะถ่างออกจนกระทบตลาดการเงินในที่สุด

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์