ส่งท้ายธีมเก่า ต้อนรับธีมใหม่ ผ่านเลนส์ Thematic Investor

ในที่สุดตลาดการเงินก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของปี

และคงไม่ต้องย้ำว่าปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นหนึ่งในปีทีธีมการลงทุนเปลี่ยนไปมาเร็วที่สุดในรอบทศวรรษ ชาว Thematic Investor อย่างเราจึงต้องเกาะติดธีมล่าสุดของตลาด และพยายามมองหาธีมใหม่สำหรับปี 2022 ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สำหรับเดือนพฤศจิกายน นโยบายการเงินและโควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron คือสองเรื่องที่ทำให้ตลาดผันผวนหนัก

ที่จริงตั้งแต่คุณ Jerome Powell ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเฟดสมัยที่สอง ตลาดทุนก็สั่นคลอนมาโดยตลอด เหตุผลหลักมาจากความกังวลว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐต่อจากนี้จะเป็นการ “คุมเงินเฟ้อ” มากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ

คุณ Powell ตอกย้ำความเชื่อนี้ด้วยการเลิกใช้คำว่า “ชั่วคราว” สำหรับเงินเฟ้อ และชี้ว่าอาจลด QE เร็วกว่าที่ประกาศไว้ ตลาดแปลความหมายว่าปีหน้าเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ถึง “สามครั้ง” หรือ 0.75% ทำให้นักลงทุนขายกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นขนาดเล็กอย่างไม่ต้องคิด

ไม่จบแค่นั้น โลกลงทุนซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อมีไวรัสกลายพันธุ์เข้ามาผสม

แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเรื่องไวรัสสายพันธ์ใหม่ Omicron มากนัก แต่ตลาดก็เลือกที่จะขายทำกำไรธีม Reopening ธีม Value และธีม Cyclical ที่ปรับตัวขึ้นเร็วในช่วงที่ผ่านมาทันที

ด้าน Thematic Investing ก็ปรับฐานลงไม่น้อยหน้าการลงทุนอื่น

Sustainable Energy เป็นธีมที่ย่อตัวลงด้วยเหตุผลเดียวกับตลาดถึง 8% ขณะที่ธีมที่แข็งแกร่งที่สุดของปีนี้อย่าง Industry Revolution ก็ปรับตัวลงไปด้วยราว 3%

ที่น่ากังวลคือธีม Healthcare Innovation ปรกติไม่ผันผวนไปพร้อมกับตลาด แต่กลับร่วงลงถึง 9% พร้อมกันในรอบนี้ เหตุผลหลักมาจากความกังวลเรื่องการแข่งขันที่สูง Disruption ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในปีหน้า จึงไม่เลือกลงทุนธีม Healthcare เพราะมีความ Defensive

ด้วยภาพตลาดที่ผันผวน ตำแหน่ง Thematic ETF หน้าใหม่ที่โดดเด่นที่สุดของเดือนจึงควรเป็นของ SARK หรือ Tuttle Capital Short Innovation ETF

SARK บริหารโดย Tuttle Capital Management ตั้งเป้าหมายทำผลงาน “สวนทางกับ ARKK” หรือ ARK Innovation ETF เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนในจังหวะที่อนาคตของธีม Innovation ไม่สดใสเหมือนก่อน

อย่างไรก็ดี บลจ. ชื่อดังอย่าง Goldman Sachs Asset Management ยังเชื่อมั่นในธีมการลงทุนแห่งอนาคต ตอกย้ำด้วยการออก 3 Active ETF ในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่

GS Future Consumer Equity ตัวย่อ GBUY ลงทุนธีม Consumer Evolution ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ GS Future Real Estate and Infrastructure Equity หรือ GREI ลงทุนในธุรกิจอสังหาและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ให้ปันผลสูง GS Future Health Care Equity ตัวย่อ GDOC ลงทุนธีม Healthcare Innovation

ในเดือนที่ผ่านมาจึงถือว่ามีทั้งประเด็นทั้งลบและบวกของ Thematic Investing สลับกันไป

ที่ขาดไม่ได้ในเดือนสุดท้ายของปีนี้ คือการมองความเสี่ยงและธีมการลงทุนในปีหน้า

สำหรับผม ความเสี่ยงของปี 2022 คือ “Rate Shock” และธีมที่น่าสนใจผมขอเรียกว่า “Hybrid Economy”

ถ้า 2020 คือปีแห่ง Growth Shock กับ Stimulus

และ 2021 คือปีแห่ง Inflation Shock กับ Vaccination

ความเสี่ยงคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 ก็ควรเป็น Rate Shock จบ QE เข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

ขณะที่ชาวโลกเข้าใจแล้วว่าทั้ง Work from Home และ Reopening ต้องเกิดไปพร้อมกัน ผมจึงนิยามให้เป็น Hybrid Economy theme

ในมุมมองของผม Rate Shock มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี

เพราะเงินเฟ้อสหรัฐยังจะเร่งตัวขึ้น โอกาสน้อยที่เฟดจะถอนคันเร่งเรื่องดอกเบี้ย

เมื่อยีลด์สูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง หุ้นโดยรวมก็มีโอกาสปรับฐาน ยิ่งถ้าดอลลาร์แข็งค่า การลงทุนทั่วโลกก็จะติดแนวต้านไปพร้อมกัน

สภาพตลาดน่าจะคล้ายกับปี 2015 การลงทุนบวกสลับลบ สินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสย่อตัวลง ธีมที่คาดว่าจะได้ไปต่อคือต้องเป็น Hybrid แบบผสมคนกับหุ่นยนต์ได้ เช่น Autonomous, EV, และกลุ่ม Smart Mobility

ส่วนในช่วงครึ่งหลัง ผมมองว่า ตลาดจะเห็นความจริงว่าเงินเฟ้อสูงไม่ได้อยู่ตลอดไป และตลาดการเงินจะผันผวนหนัก ถ้ามีการปรับดอกเบี้ยขึ้นหลังการลด QE ทันที

สภาพตลาดน่าจะคล้ายกับปี 2010 ยีลด์ระยะยาวหยุดขึ้น ตลาดเข้าสู่โหมด Defensive รอดูการเลือกตั้ง Midterm ในสหรัฐ ดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าดีต่อทองคำ หุ้นตลาดเกิดใหม่ และธีม Hybrid ผสมผสานโลกจริงกับโลกออนไลน์ อย่าง Metaverse, Social platforms, หรือ E-commerce มีโอกาสฟื้นตัวกลับมา

นอกจากนั้น ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า ช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วและถี่กว่าปรกติเช่นนี้ แม้เป็นธีมระยะยาวก็อาจปันปวนในระยะสั้น

กลยุทธ์การลงทุนที่ดี คือต้องเปิดใจ กล้าเปลี่ยน และเตรียมพร้อมรับธีมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปพร้อมกันครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์