Thematic Investor กับความหวังท้ายปี 2021

Highlight

  • Thematic investing ปรับตัวบวกขึ้นมาจากความหวังว่าวิกฤติโควิดกำลังจะผ่านพ้นไป เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องต้องกังวลระยะยาว และวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่กำลังรอนักลงทุนอยู่
  • ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดตัว ETF Bitcoin Future ครั้งแรกในสหรัฐ พร้อมกับมี Thematic ETF ออกใหม่ต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าตลาดยังสนใจการลงทุนแห่งอนาคต
  • ส่วนในเดือนนี้ ควรจับตาการเปลี่ยนแปลงของตลาดเมื่อความหวังทั้งหลายเริ่มกลายเป็นความจริง ทิ้งธีมที่คาดว่าจะผันผวนสูง และเก็บธีมที่มีอนาคตสดใส พื้นฐานแข็งแกร่ง บนระดับราคาที่ไม่แพงเกินไป

การลงทุนแนว Thematic investing ทำได้ดีกว่าที่ผมคาดไว้ในเดือนที่ผ่านมา

เหตุผลหลักดูจะเกิดจาก “ความกังวล” ในตลาดเปลี่ยนไปเป็น “ความหวัง” ครั้งใหม่ของนักลงทุน

ไล่ไปทีละประเด็นมีตั้งแต่

  1. หวัง ว่าวัคซีนที่มีจะเอาอยู่ โควิดระลอก 5 จะไม่ทำให้ตลาดตกใจ
  2. หวัง ว่าราคาน้ำมันที่แพงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เนื่องจากความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจไม่สูงเหมือนในอดีต
  3. หวัง ว่าเงินเฟ้อจะไม่ใช่ความเสี่ยงระยะยาว เพราะมีธนาคารกลางคอยดูแล
  4. หวัง ว่าทางการจีนจะผ่อนคันเร่งการควบคุมลง หลังสะดุดกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  5. และ หวัง ว่าการเมืองจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลสหรัฐมีแผนใช้จ่ายอีก 75 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนเพดานหนี้จะตกลงได้ในที่สุด

ความหวังเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นเป็นการย่อตัวของดัชนีวัดความกลัว (VIX Index) จากระดับ 22 จุดปลายเดือนก่อน เหลือเพียง 16 จุดในปัจจุบัน บอนด์ยีลด์สหรัฐระยะสั้น (2 ปี) ดีดตัวขึ้นเกือบ 25bps มาที่ระดับ 0.47% สวนทางกับยีลด์ระยะยาว (10ปี) ที่ย่อตัวลงจากระดับสูงสุดของเดือนที่ 1.69% มาที่ 1.56% ในปัจจุบัน

สรุปสั้น ๆ เหมือนที่คุณ Michael Hartnett, Chief Investment Strategist ของ Bank of America Securities เคยกล่าวไว้ว่า

“Markets stop panicking when central banks start panicking”

ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่นักลงทุนหวังอยู่ ถูกหรือผิด แต่เมื่อตลาด “มีหวัง” ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้นทั้งกระดาน

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Thematic ETF ที่ผมจับตาปรับตัวขึ้นอย่างคึกคักพร้อมเพรียงแทบทุกธีม

โดดเด่นที่สุดคือธีม Sustainable Energy ที่ฟื้นตัวขึ้นเฉลี่ยถึง 12.3% ภายในเดือนเดียว ไม่ใช่แค่ธีมเฉพาะอย่าง TAN หรือ Invesco Solar ETF ที่บวกถึง 23.9% แต่ธีมพลังงานสะอาดกว้าง ๆ อย่าง INRG หรือ iShare Global Clean Energy UCIT ETF ก็สามารถปรับตัวบวกขึ้นได้ 14.8% เช่นกัน

ผมมองว่าธีม Sustainable Energy นอกจากจะได้แรงหนุนจากสไตล์ High Beta กับตลาดโดยรวมแล้ว การที่ราคาสินค้าพลังงานปรับตัวขึ้นมาสร้างฐานใหม่ ก็ทำให้การลงทุนในธีม Alternative มีแรงส่งตามไปด้วย

ส่วนที่ปรับฐานคือสไตล์ Low Market Correlation ที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัว

เช่น ธีม Consumer Evolution กลุ่มการท่องเที่ยวที่พักฐาน หลังปรับตัวบวกแรงท้ายไตรมาสก่อน

หรือธีม Healthcare Innovation ที่มีแรงขายสลับหุ้นเด่น เนื่องจากข่าวความสำเร็จในการผลิตยาต้านไวรัสโควิดที่ทยอยออกมา ตลาดจึงมองว่าการแข่งขันจะสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต

ไม่พูดถึงไม่ได้ในเดือนที่ผ่านมา คือการเปิดตัวของ ETF บิตคอยน์ Future ครั้งแรกในตลาดสหรัฐอเมริกา

18 ตุลาคม 2021 เป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องจารึกไว้ เมื่อ BITO หรือ ProShares Bitcoin Strategy ETF เข้าเทรดวันแรกช่วงที่ราคาบิตคอยน์กำลังทำจุดสูงสุดใหม่ ทำให้ BITO สามารถสร้าง Asset Under Managed (AUM) ได้ถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาเพียงสองวัน ทำลายสถิติ ETF ที่มี AUM ถึงหนึ่งพันล้านดอลลาร์เร็วที่สุดที่ GLD หรือ SPDR Gold Shares เคยทำได้ (3วัน) เมื่อปี 2004

และความตื่นเต้นนี้ก็ส่งผลบวกมาให้ธีม Fintech และ Blockchain ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย นำโดย BCHN (Elwood Global Blockchain UCITS) และ DAPP (VanEck Vectors Digital Transformation ETF) ที่ปรับตัวขึ้นในเดือนที่ผ่านมา 15.2% และ 29.6% ตามลำดับ

แม้จะถูกแย่งซีนด้วย Bitcoin Future ETF ไปแล้ว แต่เดือนที่ผ่านมาก็ยังมี Thematic ETF ใหม่น่าสนใจทยอยออกมาเพิ่มเติม

สำหรับผม น่าจับตาที่สุดคือการขยับตัวของพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรมกองทุนอย่าง Fidelity Investments ที่เสนอขาย Thematic ETF พร้อมกันถึง “สี่ธีม” ได้แก่

FCLD (Fidelity Cloud Computing ETF), FDRV (Fidelity Electric Vehicles and Future Transportation ETF), FRNW (Fidelity Clean Energy ETF) และ FHDT (Fidelity Digital Health ETF)

แม้การเปิดตัวจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือน BITO แต่ ETF เหล่านี้ก็ทำ AUM ราว 8-16 ล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าตลาดยังสนใจลงทุน และผู้บริหารสินทรัพย์รายใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับธีมแห่งอนาคตเหล่านี้มากขึ้น

สำหรับเดือนพฤศจิกายนนี้ Thematic Investor อย่างเราต้องจับตาพัฒนาการของความหวังในตลาดให้ดี

ผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนมากมักระวังตัวสูงในช่วงที่ตลาดหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่อยู่แล้ว แต่จะปรับพอร์ตแบบไหน เราแค่ต้องย้อนกลับไปสำรวจความหวังของตลาด และทำความเข้าใจว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้กลายเป็นความจริง (หรือไม่เป็นความจริง) จะส่งผลอย่างไรกับตลาดบ้าง

เช่น ถ้าสุดท้ายทุกอย่างเป็นแค่ “ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ” และเราต้องติดอยู่กับวังวนการกลายพันธ์ของโควิด เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐกระตุ้นไม่สำเร็จ หลังตลาดปรับฐาน ก็ควรกลับเข้าธีม Technology, Internet, และ Healthcare Innovation ทั้งเพื่อเป็นการ hedge ความเสี่ยงด้านสาธารณะสุข และลดความสัมพันธ์กับตลาด

แต่ถ้าทั้งหมด “เป็นไปตามที่หวัง” เราผ่านการระบาดรอบใหม่นี้ได้แบบไม่ต้องกลับไป lockdown มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ ความเสี่ยงของตลาดก็จะย้ายฝั่งมาเป็นนโยบายการเงินเข้มงวด ที่ต้องระวังคือมีการเปลี่ยนผู้นำของเฟด นำไปสู่การส่งสัญญาณปราบเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2022

กรณีนี้อาจเป็นลบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งสำหรับการลงทุนเน้นอนาคต ต้องระวังการปรับตัวขึ้นของยีลด์ระยะยาวจากการกู้ยืมที่สูงของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มเติม ถ้าทั้งดอกเบี้ยนโยบายและยีลด์ระยะยาวสูงขึ้นพร้อมกัน Thematic Investor ก็ควรปรับพอร์ตด้วยการลดธีมที่ผันผวนสูงอย่าง FinTech หรือ Geonomics ลงสักพัก

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าช่วงท้ายปีมักเป็นเวลาที่มีโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เพราะสภาพคล่องจะกลับเข้าสู่ตลาดหุ้น

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1950 เดือน “พฤศจิกายน” เป็นเดือนที่แข็งแกร่งที่สุดของปี โดยเฉลี่ยดัชนี S&P500 สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ราว 1.5-2.5%

กลยุทธ์ลงทุนจึงควรเป็นการ “ทิ้ง” ธีมที่อาจถูกกระทบจากความจริงในอนาคต และ “เก็บ” ธีมที่มีอนาคตสดใส พื้นฐานแข็งแกร่ง ราคาไม่แพงเกินไป และมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับวัฏจักรเศรษฐกิจใหม่ในปี 2022 เช่น Energy, Automation หรือ Robotics มาแทนที่

เดือนหน้าผมจะมาสรุป Thematic investing ทั้งปี 2021 และมองธีมเด่นรับปี 2022 กันครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์