จุดกำเนิดสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี

สิ่งที่น่าจับตามองที่สุดอย่างหนึ่งในสถานการณ์โลกตอนนี้คงหนีไม่พ้น การพบกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐ และคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่กำลังมีขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ที่สิงคโปร์

แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง แต่ผมเชื่อว่า “ผลลัพธ์” จากการหารือครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดทุนแน่นอน น่าสนใจว่าการพบกันครั้งนี้จะสามารถนำเราไปสู่ “สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี” ได้จริงหรือไม่ และ “อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดเงินและเศรษฐกิจ” ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ให้ทัน

หลังการประชุมทั้งสองฝ่ายคงถ่ายรูป และประกาศชัยชนะในแบบตนเอง นโยบายคงไม่ชัดเจน แต่อย่างน้อยนี่ก็คือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

ผมเชื่อว่าเราคงไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากสองคนนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่นโยบายต่างประเทศจะเป็นเอียงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมขอสรุปเป็นประเด็นจำง่ายๆ โดยจะแบ่งเป็นสี่แนวทางหลังการประชุม

แบบแรกคือ ทั้งคู่ “ไม่ยอมเปลี่ยน”

เกาหลีเหนือจะลดนิวเคลียร์แบบค่อยเป็นค่อยไป และสหรัฐจะไม่หยุดข่มขู่ และกดดันทางเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ กรณีนี้เราเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ถึง 50% แต่คิดให้ดีผลที่ตามมาก็เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน

แบบที่สอง “เกาหลียอมแต่สหรัฐไม่ยอม”

ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะการลดอาวุธเร็วอาจนำไปสู่ “ลิเบียโมเดล” ที่สุดท้ายความช่วยเหลือของนานาชาติก็ไม่มาตามนัด แถมยังเพิ่มความเสี่ยงที่คิม จองอึนอาจถูกรัฐประหารอีกด้วยซึ่งคิดอย่างนี้เกาหลีเหนือก็คงยากที่จะตกลง อีกทั้งจีนและรัสเซียก็อาจไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเพิ่มอำนาจสหรัฐมากเกินไป โอกาสเกิดจึงมีเพียง 5% เท่านั้น

แบบที่สาม “ทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือยอม”

ซึ่งเป็นกรณีที่ดีที่สุดและจบทุกอย่าง เกาหลีเหนือลดอาวุธเร็ว สหรัฐรีบส่งความช่วยเหลือเข้ามา แม้จะดูดีหลุดโลกไปหน่อยแต่ผู้นำทั้งสองประเทศก็ไม่เคยมีใครเดาใจได้ถูกอยู่แล้ว โอกาสเกิดขึ้นน่าจะมีประมาณ 10%

แบบสุดท้าย “เกาหลีไม่ยอมแต่สหรัฐยอม”

เหตุการณ์นี้จะเรียกว่า Denuclearization คือเกาหลีเหนือค่อยๆ ลดอาวุธนิวเคลียร์ลงภายใน 10ปี ขณะที่สหรัฐก็อนุญาตให้มีการค้าระหว่างประเทศพันธมิตรกับเกาหลีเหนือ และค่อยๆ ยกเลิกการแสดงแสนยานุภาพในคาบสมุทรเกาหลี แม้จะดูไม่เข้มแข็ง แต่สหรัฐก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความสงบในคาบสมุทรเกาหลี ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คงต้องระวังตัวกันเองถ้าเกาหลีเหนือกลับลำ

ถ้าโอกาสต้องรวมกันให้ครบ 100% กรณีนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ราว 35% หรือสรุปได้ว่า ความเสี่ยงที่ผลการหารือจะออกมาน่ากลัวนั้นมีน้อยมากและโอกาสที่จะเห็นสันติภาพก็ยังมีอยู่

อย่างไรก็ตามอดีตบอกเราว่า “ทุกอย่างเป็นเพียงจุดเริ่มต้นไม่ใช่บทสรุป” และสิ่งที่ตลาดการเงินควรระมัดระวัง ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม แต่เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ต่างหาก

ยกตัวอย่างที่ดีก็มี เช่นการหารือระหว่างเหมา เจ๋อตุงของจีน และริชาร์ด นิกสันของสหรัฐกรุงปักกิ่งในปี 1972 ตอนนั้นนิกสันเรียกมันว่าเป็น “สัปดาห์ที่เปลี่ยนโลก” สุดท้ายไม่เกิดอะไรขึ้นในระยะสั้น นิกสันพ้นจากตำแหน่งในปี 1974 ประธานเหมาเสียชีวิตในปี 1976 แต่เราก็เห็นชัดเจนว่าหลังจากนั้น การค้าและการลงทุนระหว่างจีนและอเมริกาก็ฟื้นขึ้นตามลำดับ

แต่ตัวอย่างที่ไม่ดีก็มี ย้อนกลับไปที่ Munich Agreement ในปี 1938 ฝ่ายสัมพันธมิตรเจรจากับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยแลกเปลี่ยนสันติภาพกับพื้นที่ของประเทศเช็กโกสโลวาเกีย ในตอนนั้นเนวิลล์ แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้รับคำสรรเสริญมากมาย แต่สุดท้ายหลังการประชุมฮิตเลอร์ก็ก่อสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ดี ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ชี้ให้เราเห็นว่า การเจรจาเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดแล้วจบหลังการเซ็นสัญญา จับมือ หรือถ่ายรูปร่วมกัน

กลับมาในมุมของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ผลกระทบโดยตรงอาจไม่มากแต่ผลกระทบทางอ้อมยังพอมี แม้สันติภาพจะดูเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ผลทางเศรษฐกิจจะค่อนข้างซับซ้อน ด้วยขนาดของเศรษฐกิจเกาหลีเหนือราว 1.2 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 0.3% ของจีดีพีโลกถือว่าน้อยมาก แต่แค่เกาหลีใต้ส่งเครื่องป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐออกและจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ได้ก็อาจส่งผลกับการท่องเที่ยวถึง 7 หมื่นล้านเหรียญหรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพีโสมขาวเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับตลาดการเงิน แม้เราจะไม่เคยเห็นผลของเหตุการณ์นี้มาก่อน แต่ถ้า “มองกลับหัว” จากเหตุการณ์ทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ก็มีความเป็นไปได้ที่การประชุมนี้เป็นบวกต่อตลาดทุน ในอดีตการยั่วยุของเกาหลีเหนือส่งผลให้หุ้นทั่วเอเชียปรับตัวลง 1-2% เช่นเดียวกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ก็เคยกดดันให้ตลาดปรับตัวลง 3-4% สันติภาพอาจกลับตลาดเป็นบวกในดีกรีที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอก็คือเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นเพียง “เรื่องสั้น” ที่ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว ใครที่มองเป็นโอกาส ก็ต้องจับจังหวะการลงทุนให้ดี

ในยุคของคิมทรัมป์ ที่สร้างความตื่นเต้นได้ตลอด เราต้องมองเกมยาวให้เป็น และท่องไว้เสมอว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เกาหลีเหนือ หรือสหรัฐ แต่ยังมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย ที่เป็นตัวแปรในสันติภาพและเศรษฐกิจของคาบสมุทรเกาหลีในระยะยาว

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์