ในระยะหลัง ๆ นี้ หุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มที่จะมีหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียี่ห้อเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น หลาย ๆ ยี่ห้อเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาด หุ้นบางตัวมี Market Cap. เกือบแสนล้านบาทหรือเคยมีขนาดเกือบแสนล้านบาทในช่วงสูงสุด หลายตัวก็ยังเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีขนาดแค่หลักพันล้านบาทหรือหมื่นล้านต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คือหุ้นที่นักลงทุนเริ่มสนใจเข้ามาลงทุน เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งอาจจะเป็นว่าหุ้นเหล่านี้มักจะมีผลกำไรที่ดีและมั่นคงพอสมควรเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่น การเติบโตหรือสตอรี่ที่จะเติบโตก็พอจะมีอยู่ ฐานะทางการเงินก็มักจะดีและมีหนี้ไม่มาก หลายบริษัทไม่มีหนี้เลย เหตุผลเพราะว่าบริษัทมักจะไม่ต้องลงทุนมากและขายสินค้าเป็นเงินสดหรือได้เงินเร็วในขณะที่จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ช้ากว่า และสุดท้ายที่ทำให้หุ้นเหล่านี้บางตัว “ร้อนแรงมาก” ก็คือ มันเป็นหุ้นที่ “มีเจ้าของ” หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้หุ้นขึ้น สิ่งนี้เมื่อนำมาประกอบกับการที่หุ้นมี Free Float หรือหุ้นที่ถือโดยนักลงทุนน้อย ก็ทำให้หุ้นสามารถถูก Corner หรือต้อนเข้ามุมง่าย ผลก็คือ หุ้นขึ้นได้สูงมากและลงได้รุนแรงทำให้คนรวยหรือจนได้อย่างรวดเร็ว
หุ้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคหรือหุ้น Consumer นั้น มีศักยภาพที่จะเป็น “หุ้น VI” ได้ด้วยเหตุผลที่ว่ามันสามารถที่จะสร้าง Durable Competitive Advantage CA) หรือความได้เปรียบที่ยั่งยืนได้ผ่าน “ยี่ห้อสินค้าที่โดดเด่น” ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อมากกว่าหรือยอมจ่ายราคาที่แพงกว่าเพราะติดในยี่ห้อ คุณภาพหรือภาพพจน์ของสินค้าในใจผู้บริโภคที่เหนือกว่านั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนยาก ดังนั้น บริษัทที่เป็นเจ้าของขายสินค้าเหล่านี้ก็มักจะสบายในการที่จะแข่งขัน คุณไม่ต้องทำอะไรมาก แค่รักษาภาพให้ดีผ่านการทำการตลาดมาตรฐาน ควบคุมการผลิตและการบริการไม่ให้ถดถอยด้อยลง คุณก็รักษายอดขายไว้ได้แล้ว—โดยเฉพาะใน “โลกธุรกิจยุคก่อน” ที่ยังไม่มีเรื่องของการ “ปฏิวัติทางเทคโนโลยี” ที่ทำลายธุรกิจเดิมจำนวนมาก ว่าที่จริงถ้าศึกษาเรื่องการลงทุนแบบ VI แนว วอเร็น บัฟเฟตต์มานานก็จะพบว่า เขาลงทุนในหุ้น Consumer ชั้นนำจำนวนมาก อาทิเช่น โค๊กและใบมีดโกนยิลเลตที่เขาทำกำไรได้สูงมาก และซอสมะเขือเทศไฮน์ที่เขาเพิ่งลงทุนไม่นานและดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
หุ้น Consumer “ระดับโลก” นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย หุ้นอย่างโค๊กหรือยิลเล็ตผมคิดว่ามันก็ยังเป็นบริษัทที่ยังอยู่ได้เช่นเดียวกับหุ้นของแม็คโดนัลด์หรือไนกี้ จริงอยู่ มันอาจจะไม่ถูก Disrupt หรือทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่การเติบโตของมันก็น่าจะน้อยถึงอิ่มตัวแล้ว ราคาหุ้นที่จะขึ้นไปหวือหวานั้นคงจะยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทที่ถูก Disrupt หรือกำลังถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีหรือแนวทางการทำธุรกิจแบบใหม่ อย่างเช่นหุ้นที่ขายแผ่นซีดีหรือหนังสือพิมพ์ก็อาจจะล้มละลายในที่สุด ในทางตรงกันข้าม หุ้น Consumer รุ่นใหม่ที่เป็น “ผู้ชนะ” เช่นหุ้นแอ็บเปิลหรืออาลีบาบาที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ก็จะรุ่งเรืองเป็นซุปเปอร์สต็อกที่ “VI รุ่นใหม่” เสาะแสวงหาต่อไป หุ้น Consumer ของไทยนั้น ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ 4-5 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิด “กระแสซุปเปอร์สต็อก” รุ่นใหม่ที่เราเห็นการเข้ามาลงทุนของ “VI” ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและกองทุนที่เข้ามา “ร่วมขบวน” ในการสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าปกติผ่านการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก-กลางที่มีคุณภาพดีและเติบโตสูง และหุ้นที่พวกเขาเลือกกลุ่มหนึ่งก็คือ หุ้น Consumer ที่มียี่ห้อเด่นหรือมีแนวทางใหม่ในการเติบโตของยอดขายสินค้าที่ “ชัดเจน” และด้วยขนาดของเม็ดเงินมหาศาลของคนที่เข้ามาร่วมลงทุน มันก็ขับดันให้ราคาหุ้นขึ้นไป “หลุดโลก” ทำให้นักลงทุนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่แรกต้องเข้าไปร่วมขบวนด้วย และนั่นทำให้หุ้น Consumer ของไทยหลาย ๆ ตัวกลายเป็น “Super Stock” ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วก็อาจจะไม่ใช่เลย จริงอยู่ หลาย ๆ บริษัทนั้นมีคุณสมบัติคล้าย ๆ หุ้นโค๊กหรือหุ้นแม็คโดนัลด์ แต่มันเป็นหุ้นโค๊กที่อิ่มตัวแล้ว ดังนั้น ราคาของหุ้นก็ไม่ควรจะสูง ค่า PE ประเภทเกิน 40-50 เท่าแบบซุปเปอร์สต็อกนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ในความเห็นของผม หุ้น Consumer แม้แต่ที่เป็น “ชั้นนำ” ของไทยในยามนี้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็โตช้าหรืออิ่มตัวแล้ว เหตุผลก็คือ คนไทยแก่ตัวลงและเกิดน้อยลงมาก จำนวนการเพิ่มของคนที่จะบริโภคน่าจะทรงหรือเริ่มลดลง การบริโภคต่อหัวสำหรับสินค้าแต่ละยี่ห้อผมก็คิดว่าเพิ่มขึ้นน้อยหรืออิ่มตัวแล้วเพราะว่าเป็นสินค้าดั้งเดิมและเป็นยี่ห้อที่อยู่มานาน บางทีแค่รักษาให้เท่าเดิมก็ยากแล้วเนื่องจากการเข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินจากสินค้าใหม่อื่น ๆ ดังนั้น สำหรับตลาดดั้งเดิมของสินค้าซึ่งก็คือประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าหุ้น Consumer ที่อิงอยู่กับสินค้าเดิมนั้น แม้ว่าจะยังเป็นกิจการที่ดีทำกำไรได้ดีและมั่นคง มันก็คงไม่ค่อยโต ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นก็ไม่น่าจะเกิน 20 เท่าที่มองว่าสมเหตุผลเพราะให้ผลตอบแทนปีละ 5% และให้ปันผลตอบแทนปีละ 3-5% ราคาที่มากกว่านั้นจะต้องมาจากตลาดอื่นหรือสินค้าอย่างอื่นหรือยี่ห้ออื่น
หุ้น Consumer หลายบริษัทพยายามที่จะขยายตลาดสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจีน ประเด็นนี้ผมเองไม่ค่อยให้มูลค่าหุ้น เหตุผลเพราะผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแม้ว่าคนจีนบางส่วนอาจจะรู้จักสินค้าของบริษัทจากการมาท่องเที่ยวในประเทศไทยและซื้อสินค้านั้นกลับบ้านเป็นของที่ระลึก ผมคิดว่าคนจีนหรือชาวต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่นิยมสินค้าจากไทย เหตุผลก็เพราะว่ารสนิยมของคนจีนหรือต่างประเทศนั้นมักจะแตกต่างจากคนไทย เขาไม่คุ้นกับรสชาติหรือการใช้สินค้าไทย ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของรสชาติที่คนจีนอาจจะไม่ชอบรสหวานหรือรสเผ็ดเท่าไทย เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากหรืออาจจะมากกว่าก็คือในเรื่องของภาพพจน์หรือความรู้สึกต่อสินค้าไทย ประเทศจีนในวันนี้ หรือต่างชาติเช่นยุโรปหรืออเมริกานั้น ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะคิดว่าไทยนั้น “ด้อยกว่า” และธรรมชาติของคนก็คือ เขาอยากใช้หรือบริโภคสินค้าจากสังคมหรือประเทศที่ “เหนือกว่า” ตัวอย่างเช่น เรารู้สึกว่าสินค้าญี่ปุ่นนั้นดี สินค้าอเมริกันดี สินค้าเกาหลี เท่ห์ เราไม่ชอบสินค้าของลาวหรือประเทศรอบบ้าน ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่ามีร้านกาแฟจากลาวมาเปิดและมีการโฆษณาใหญ่โต แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น สินค้า Consumer ของไทยที่ไปต่างประเทศที่อาจจะมีโอกาสสำเร็จได้ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเทศรอบบ้านเช่น เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา ซึ่งรู้สึกว่าของไทยนั้นเหนือกว่าของเขา ส่วนคนที่บอกว่าคนจีนชอบสินค้าไทยนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องในอดีตที่คนจีนจนหรือด้อยกว่าไทย แต่วันนี้คนจีนน่าจะชอบสินค้าญี่ปุ่น เกาหลี หรืออเมริกันมากกว่า เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีสินค้า Consumer ไหนของไทยที่ไปดังทั่วโลกหรือในประเทศใหญ่ ๆ ได้จริง ๆ
หุ้นผู้ผลิตสินค้า Consumer ของไทยนั้น ผมคิดว่าโอกาสโตได้เร็วขึ้นน่าจะอยู่ที่การหันไปทำกิจการอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องในแนวตั้งเพื่อลดต้นทุนเช่น การตั้งโรงงานผลิตเองหรือการจัดการด้าน Logistic เป็นต้น อีกทางหนึ่งก็คือการเพิ่มยี่ห้อสินค้าใหม่เพื่อจับ Segment หรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การทำกิจการเกี่ยวเนื่องก็มักจะไม่ทำเงินมากนักเทียบกับกิจการเดิม ส่วนการเพิ่มสินค้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลก็เพราะว่าในทุกส่วนนั้นก็มี “เจ้าถิ่น” ที่ครองตลาดอยู่แล้ว
ข้อสรุปของผมก็คือ หุ้น Consumer ของไทยที่เป็นผู้นำในธุรกิจนั้น ดีพอใช้ เป็นแนว “บีบวก” แต่น่าจะโตช้า คนที่ชอบความมั่นคงและชอบกินปันผลนั้นน่าจะลงทุนถือยาวได้ถ้าได้ปันผลปีละ 4% บวกลบซึ่งตีออกมาว่าค่า PE ปกติของหุ้นควรจะไม่เกิน 20 เท่า บวกลบ การลงทุนด้วยความคาดหวังว่าบริษัทจะเติบโตเร็วมากจากการขยายงานโดยเฉพาะการส่งออกไปต่างประเทศและเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงและมีค่า PE สูงมากนั้นเป็นความเสี่ยงที่รุนแรง และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่หุ้น “นางฟ้า” รวมถึงหุ้น Consumer ตกลงมามากมายควรจะเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำ
ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2019/09/30/2215