frontier-market ตลาดหุ้นชายขอบ

ตลาดหุ้นในโลกนี้มักถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับการพัฒนาของตลาด กลุ่มแรกก็คือตลาดที่ที่พัฒนาแล้วซึ่งก็มักเป็นตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ตลาดหุ้นนิวยอร์ค ตลาดหุ้นลอนดอน ตลาดหุ้นโตเกียว และอื่น ๆ กลุ่มที่สองเป็นตลาดหุ้นของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือใกล้ที่จะพัฒนาแล้วหรือพัฒนาแล้วแต่ยัง “ใหม่” เช่นตลาดหุ้นไทย มาเลเซีย เกาหลี จีน รัสเซีย และประเทศในละตินอเมริกาและอื่น ๆ ที่ “กำลังพัฒนา” ตลาดหุ้นเหล่านี้ถูกเรียกว่า “Emerging Market” หรือ “ตลาดหุ้นเกิดใหม่” และสุดท้ายก็คือตลาดหุ้นในประเทศที่ “ด้อยพัฒนา” หรือเพิ่งจะพัฒนา รายได้ต่อหัวของประชากรค่อนข้างต่ำ สัดส่วนของ “คนชั้นกลาง” ค่อนข้างน้อย ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และประเทศ “ยากจน” ทั้งหลายที่อาจจะเริ่มมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “Frontier Market” หรือ “ตลาดหุ้นชายขอบ”

การลงทุนในตลาดหุ้นแต่ละกลุ่มนั้น ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่นักลงทุนจะต้องพิจารณา

หุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้วนั้นโดยปกติก็มักจะมี “ความเสี่ยง” โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องการฉ้อฉลหลอกลวงที่ต่ำกว่าตลาดกลุ่มอื่น ข้อมูลสามารถหาได้ง่ายและเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นก็มักจะมี “ประสิทธิภาพ” ที่สูงเนื่องจากมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่มี “คุณภาพ” จำนวนมากที่ซื้อขายหุ้นตลอดเวลาทำให้ราคาหุ้นสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการได้รวดเร็ว ผลก็คือ การที่จะลงทุนในหุ้นและทำกำไรมาก ๆ กว่าปกติก็มักจะทำได้ยาก ได้ผลตอบแทนปีละ 10% ก็หรูแล้ว

ในตลาดหุ้นที่ล้าหลังกว่า เช่น ตลาดหุ้นเกิดใหม่นั้น ความเสี่ยงก็จะมีมากกว่าทั้งความเสี่ยงของการฉ้อฉลและความเสี่ยงเนื่องจากผลประกอบการที่มักจะผันผวนกว่าก็จะสูงกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว แต่ข้อดีก็คือ ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนก็มักจะสูงกว่าด้วยโดยเฉพาะถ้าเราได้วิเคราะห์หุ้นหรือตลาดหุ้นเป็นอย่างดีก่อนที่จะลงทุน เหตุผลก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในเอเชียนั้น ในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้บริษัทในตลาดหุ้นมีรายได้และกำไรที่เติบโตสูงส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากกว่าในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว การลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนถึงระดับ 15-20% ต่อปีก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ก็ดูเหมือนว่าราคาของหุ้นในตลาดหุ้นเกิดใหม่ก็แพงขึ้นมากจนอาจจะแพงกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว การเริ่มลงทุนในวันนี้และหวังที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงเหมือนอย่างในอดีตก็อาจจะไม่ง่ายนัก และนี่นำไปสู่ตลาดหุ้นกลุ่มสุดท้ายที่น่าจับตามองนั่นคือ ตลาดหุ้นชายขอบ

ตลาดหุ้นชายขอบเริ่มเป็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะจากนักลงทุนที่ “กล้าผจญภัย” และหวังจะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมจากการลงทุน เหตุผลที่จะทำให้ตลาดหุ้นชายขอบให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ที่ว่าประเทศที่ “ด้อยพัฒนา” หลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียกำลังเริ่มพัฒนาตนเองขนานใหญ่ พวกเขาต่างหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจตลาดแทนการควบคุมจากส่วนกลางหลังจากพบว่าระบบเดิมนั้นใช้ไม่ได้ผล ขณะเดียวกัน โลกาภิวัตร ทำให้ทุน เทคโนโลยีและผู้ประกอบการสามารถย้ายฐานการผลิตไปได้ทั่วโลกที่มีแรงงานและตลาดรองรับกับธุรกิจที่แสวงหาผลกำไรในทุกแห่งโดยไม่จำกัด ผลก็คือ ประเทศเหล่านั้นเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ธุรกิจการลงทุนและการบริโภครวมถึงการส่งออกเติบโตและส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หลายประเทศมี GDP เติบโตเฉลี่ยถึง 6-7% ต่อปีติดต่อกันมาหลาย ๆ ปี เฉกเช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเมื่อ 20-30 ปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาที่ค่อนข้างก้าวหน้าบางประเทศเช่นไทยกลับเติบโตช้าลง ดูเหมือนว่าทศวรรษต่อจากนี้อาจจะเป็นของประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า

สถิติปี 2015 นั้น GDP อินเดียโต 7.5% เวียดนาม 6.7% บังคลาเทศ 6.6% เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ต่างก็โต 7% และคาดว่าอัตราการเติบโตยังคงสูงต่อไปแม้ว่าเศรษฐกิจโลกก็ยังอาจจะย่ำแย่ต่อไปอีกหลังจากที่โตน้อยมากมาหลายปี เหตุผลที่ประเทศเหล่านั้นยังจะโตเร็วต่อไปนั้นสิ่งที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของประชากรที่ยังมีอายุน้อย หลายประเทศก็มีประชากรจำนวนมากที่ยังสามารถเข้ามาในตลาดแรงงานที่ทำรายได้สูงขึ้นจากฐานของรายได้ต่อหัวของประชากรที่ยังต่ำมาก โดยที่อินเดียมีรายได้ต่อหัวที่ปีละประมาณ 1,600 เหรียญเทียบกับไทยที่ประมาณ 6,000 เวียดนามอยู่ปีละ 2,100 บังคลาเทศ 1,200 เท่า ๆ กับเมียนมาร์และกัมพูชา ในขณะที่ลาวอยู่ที่ 1,800

อินเดียมีประชากรถึง 1,300 ล้านคนอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปี เวียดนามมี 92 ล้านคนอายุเฉลี่ย 30 ปี บังคลาเทศ 161 ล้านคนอายุ 26 ปี เมียนมาร์ 54 ล้านคนอายุ 29 ปี กัมพูชา 16 ล้านคนอายุเฉลี่ยเพียง 25 ปี และลาวมีประชากรเพียง 7 ล้านคนแต่มีอายุเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 23 ปี ในขณะที่ไทยมี 68 ล้านคนและอายุเฉลี่ยสูงถึง 37 ปี โดยที่เกือบทุกประเทศนั้นมีเด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี ถึงประมาณเกือบ 30% ของคนทั้งประเทศ ยกเว้นไทยที่มีเด็กเพียง 17% เท่านั้น และด้วยจำนวนแรงงานและประชากรที่ยังมีอายุน้อยดังกล่าว ประเทศเหล่านั้นก็น่าจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีกนาน

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของประเทศที่กำลังเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วเหล่านั้นก็คือเรื่องของตลาดหุ้นที่เราสามารถเข้าไปลงทุนได้

อินเดียนั้นมีตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่และอยู่มานานมาก Market Cap. ของตลาดหุ้นอินเดียอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านล้านบาทหรือเทียบกับของไทยที่ 14.5 ล้านล้านบาทก็คือใหญ่กว่าไทยประมาณ 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ค่า PE ของอินเดียนั้นเข้าใจว่าไม่เกิน 10 เท่าเทียบกับไทยที่ประมาณ 20 เท่า ตลาดหุ้นเวียดนามและบังคลาเทศนั้นมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดพอ ๆ กันและมีค่าเพียง 2.6 ล้านล้านบาทหรือเป็นเพียง 18% ของตลาดหุ้นไทย และเมื่อเทียบกับ GDP แล้ว ทั้งตลาดหุ้นเวียดนามและบังคลาเทศมีอัตราส่วน Market Cap. ต่อ GDP พอ ๆ กันที่ประมาณ 40% ในขณะที่ของไทยนั้นเท่ากับประมาณ 105% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นเวียดนามและบังคลาเทศนั้นยังมีขนาดเล็กมากและน่าจะสามารถเติบโตไปได้อีกมาก

ตลาดหุ้นของลาวและกัมพูชา นั้นยังเล็กมากและมีบริษัทจดทะเบียนเพียงไม่กี่แห่งส่วนตลาดเมียนมาร์นั้นเพิ่งจะจัดตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่อยู่ติดกับไทย นี่ก็เป็นตลาดที่เราอาจจะมีโอกาสไปลงทุนได้สะดวกและอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อระบบเศรษฐกิจของ CLMV เชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตลาดหุ้นชายขอบที่ผมกล่าวถึงทั้งหมดนั้น ในอดีตคนอาจจะดูว่ามีความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน่าจะลดลงมาก อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันของเวียดนาม กัมพูชา และลาวปัจจุบันเหลือเพียงไม่เกิน 3-4% แม้ว่าเมียนมาร์ยังสูงอยู่ แต่ในอนาคตผมคิดว่าน่าจะบริหารได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับบังคลาเทศและอินเดียที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะเกิน 5% แต่ก็ไม่มีปัญหานัก ส่วนเรื่องค่าเงินเองนั้นถึงแม้ว่าในอดีตจะเป็นความเสี่ยงที่สูงแต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นมากโดยเฉพาะที่เวียดนามซึ่งค่าเงินเคยลดลงถึง 30% แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นมีเสถียรภาพมาก

ข้อสรุปสุดท้ายของผม

ตลาดหุ้นชายขอบนั้น ในอนาคตอันไม่ไกลก็อาจจะเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเช่นเดียวกับที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่เคยเป็น “ดารา” มาแล้วเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน ตลาดหุ้นชายขอบหลาย ๆ ตลาดที่ผมพูดถึงนั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเปรียบเทียบ ยังน่าจะมีตลาดอื่น ๆ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน ที่เราสามารถศึกษาติดตามได้ ผมเองเพิ่งจะเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเมื่อ 2 ปีที่แล้วเนื่องจากมันเป็นตลาดหุ้นชายขอบที่น่าจะ “ร้อนแรงที่สุด” ในเวลานั้นและขณะนี้ ผลการลงทุนเป็นที่น่าประทับใจและผมคิดว่าคงจะดีต่อไปจนถึงขั้นที่มันอาจจะถูก “ยกระดับ” ขึ้นเป็น “ตลาดเกิดใหม่” ในอนาคต ซึ่งน่าจะส่งผลถึงดัชนีตลาดที่น่าจะปรับตัวขึ้นมากได้ ผมเองยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะเข้าสู่ตลาดอื่น แต่ลึก ๆ แล้วก็เคยคิดว่าอยากจะดูหุ้นในลาวที่ดูเหมือนว่าจะน่าสนใจเช่นเดียวกันแม้ว่าจะมีตัวเลือกน้อย ในระหว่างนี้ผมก็ “ฝัน” ว่าซักวันหนึ่งตลาดหุ้นในย่านนี้จะต่อถึงกันหมดที่ทำให้เราสามารถลงทุนได้สะดวกจากจุดเดียว

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/ตลาดหุ้นชายขอบ/