คานที่ดีดกลับ

เมื่อผมเริ่มเรียนวิชาฟิสิกส์สมัยที่อยู่มัธยมปลาย สิ่งที่ผมรู้สึก “ทึ่ง” ก็คือ “วาทะ” ของอะคีเมดิส “ปรมาจารย์” คนหนึ่งในแวดวงฟิสิกส์ยุคบุกเบิกที่ว่า ถ้าให้ “ไม้คาน” ที่ยาวและแข็งแกร่งพอ กับ “จุดค้ำจุน” ที่รับน้ำหนัก เขาจะสามารถ “งัด” ดวงจันทร์ให้ลอยขึ้นได้ด้วย “มือ” ของเขา ผมไม่รู้ว่าอะคีเมดิสเป็นคนพูดจริงหรือเปล่า เพราะ “เรื่องเล่า” ของอะคีเมดิส เช่น ที่บอกว่าเขาลงอ่างอาบน้ำที่เต็มแล้วน้ำล้นอ่าง ทำให้เขาค้นพบ “กฎของการลอยตัว” ของวัตถุแล้วเขาก็ตระโกนขึ้นอย่างตื่นเต้นว่า “ยูเรกา” ซึ่งแปลว่า “ผมพบแล้ว” ซึ่งหลายคนบอกว่ามันเป็น “เรื่องเล่า” ที่ทำให้ดูน่าตื่นเต้นเหมือนเรื่อง “แอปเปิลตกใส่หัว” ขณะที่นอนเล่นอยู่ใต้ร่มไม้ของเซอร์ไอแซกนิวตัน ปรมาจารย์ทางฟิสิกส์รุ่นต่อมาที่ทำให้เขาค้นพบ “กฎของแรงโน้มถ่วง”

“กฎของไม้คาน” ก็คือ เราสามารถ “ขยายกำลัง” โดยใช้ไม้คานวางบนจุดค้ำจุนที่อยู่ใกล้กับของหรือน้ำหนักที่เราจะงัด ยิ่งไม้คานยาวเท่าไร เราก็จะสามารถงัดหรือยกของที่หนักมากเท่านั้น แม้แต่น้ำหนักของดวงจันทร์เราก็สามารถ “ยก” ได้ด้วยมือถ้าคานเรายาวพอ และนั่นก็คือเรื่องของฟิสิกส์ที่ผมเรียนและใช้มันในวิชาชีพวิศวกรรมที่ผมทำในช่วงแรกของการทำงานของผม ต่อมา ผมก็เปลี่ยนมาเรียนทางการเงินและการลงทุนในระดับปริญญาเอกและคิดว่าผมคงไม่ต้องใช้วิชาทางด้านฟิสิกส์อีกต่อไป แต่แล้วผมกลับพบว่า การเงินการลงทุนนั้น อาศัยหลักการทางด้านฟิสิกส์อยู่ไม่น้อย ว่าที่จริงศาสตราจารย์ทางด้านการเงินที่ได้รับรางวัลโนเบิลหลายคนก็เคยมีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมมาก่อน ศัพท์ทางการเงินหลาย ๆ คำก็แทบจะยืมมาจากวิศวกรรม ว่าที่จริงมีแม้แต่คณะหรือสาขา “วิศวกรรมการเงิน” หรือ Financial Engineering ดังนั้น การเงินกับวิศวกรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์นั้น มีความเกี่ยวข้องกันไม่น้อย

คำหรือแนวความคิดหรือทฤษฎีทางการเงินการลงทุนที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งที่ใช้หลักหรือ “กฎของไม้คาน” ก็คือ การกู้เงินเพื่อทำธุรกิจหรือลงทุนหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า การ Leverage นี่ก็คือการที่นักการเงินหรือนักลงทุนพยายาม “ขยายกำลัง” หรือ “ขยายผลตอบแทน” ที่จะได้จากการลงทุนโดยการกู้ยืมเงินมาเพิ่มจากเงินในส่วนของตนเอง เช่น ตนเองมีเงิน 1 ล้านบาท แต่แทนที่จะลงทุนเงิน 1 ล้านบาทที่เขาคาดว่าจะได้ผลตอบแทนปีละ 200,000 บาท หรือ 20% ต่อปี เขาก็ไปกู้มาเพิ่มอีก 1 ล้านบาทกลายเป็นเงินลงทุน 2 ล้านบาท ซึ่งถ้าเขาได้ผลตอบแทนปีละ 20% เท่าเดิม เขาก็จะได้ผลตอบแทนปีละ 400,000 บาท ซึ่งเมื่อหักดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายปีละ 5% เป็นเงิน 50,000 บาท เขาก็จะเหลือกำไร 350,000 หรือเท่ากับ กำไรปีละ 35% แทนที่จะเป็น 20% และนี่ก็คือสิ่งที่เย้ายวนให้คนอยากใช้ “ไม้คาน” หรือ Leverage ในการลงทุน

แต่การลงทุนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนโดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ เพราะถ้าแทนที่จะได้ผลตอบแทนจากปีละ 20% มันกลายเป็นขาดทุน 20% หรือขาดทุน 400,000 บาท แถมต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท กลายเป็น 450,000 บาท ก็เท่ากับขาดทุน 45% คิดไปแล้วเราจะเหลือเงินในส่วนของตัวเองเพียง 550,000 บาท แทนที่จะขาดทุนเพียง 200,000 บาทและเหลือเงิน 800,000 บาท ถ้าเราไม่กู้เงินหรือไม่ใช้ Leverage ดังนั้น การใช้ไม้คานช่วยเพิ่มกำลังหรือเพิ่มผลตอบแทนจึงเป็นเสมือน “ดาบสองคม” คือ ถ้าดีก็จะยิ่งดีขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ถ้าเลวร้าย ความเลวร้ายก็จะทวีคูณเช่นกัน ยิ่งเราใช้ไม้คานที่ยาวหรือกู้เงินมากขึ้นเท่าไรเทียบกับเงินของตนเองที่มีอยู่ การ “ทวีคูณ” ก็มากขึ้นเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ผลตอบแทนกับความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นเท่านั้น

นักลงทุนหลายคนที่ใช้ Leverage สูงมากนั้นมักจะมีความมั่นใจสูง และในบางครั้งคิดว่าตนเองได้พบกับหุ้นที่เขาคิดว่าดีเยี่ยมและจะต้องชนะหรือมีราคาเพิ่มขึ้นแน่นอนโดยที่ความเสี่ยงที่หุ้นจะตกลงมีน้อยมาก ดังนั้นเขาจึงกู้เงินมาลงทุนเพิ่มสูงมาก บางคนใช้มาร์จินซื้อหุ้นยังไม่พอแต่อาจจะเอาทรัพย์สินอื่นมาจำนำหรือจำนองเป็นหลักประกันที่จะกู้เงินเพิ่ม พวกเขาอาจจะกำลังคิดที่จะ “งัดดวงจันทร์” ด้วยมือ พวกเขาไม่กลัวว่า “ไม้คานจะดีดกลับ” กล่าวคือ แทนที่ดวงจันทร์จะลอยตัวเขาเองอาจจะลอยไปไกลกลายเป็น “หายนะ” เพราะเขาคิดว่ายังไงหุ้นตัวนั้นก็ไม่มีทางที่จะตกลงมามากได้ “มันเป็นหุ้น Defensive” ที่มีแต่จะโตขึ้น “ราคาก็กำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ” ทุกคนในวงการต่างก็เชียร์ให้ซื้อ “จะมีอะไรที่ทำให้มันตกแรง?” เหนือสิ่งอื่นใด จำนวนหุ้นที่ “หมุนเวียน” ในตลาดก็เหลือน้อยแล้ว มันแทบจะถูก “Corner” แล้ว จะมีแรงขายแค่ไหนที่จะทำให้หุ้นตกแรง?

แต่สิ่งเลวร้ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอในตลาดหุ้น บางครั้งเหตุการณ์สั้น ๆ ก็อาจจะกระทบกับราคาหุ้นจนทำให้ราคามันตกลงมามากทั้ง ๆ ที่พื้นฐานก็อาจจะไม่ได้แย่ลงมาก เราอาจจะไม่ต้องการขาย เช่นเดียวกับนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นคนอื่นก็อาจจะไม่อยากขายเพราะเราเชื่อมั่นในพื้นฐานของบริษัทและคิดว่าในที่สุดราคาหุ้นก็จะต้องปรับตัวขึ้นไปตามพื้นฐานที่ควรเป็น แต่สำหรับคนที่ให้กู้เพื่อซื้อหุ้น พวกเขาไม่ได้อะไรเพิ่มเติมถ้าหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมา แต่ถ้าหุ้นตกลงไปอีก เงินกู้ที่เขาปล่อยไปก็จะเสียหาย ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาจะทำก็คือ พยายามขอหลักประกันเพิ่ม ถ้าไม่มีเขาก็จะขอเงินกู้คืนโดยการขายหุ้นที่จำนำไว้ การขายแบบนั้นอย่างรวดเร็วก็มักจะทำให้หุ้นตกลงไปอีกและก็ยิ่งทำให้ต้องรีบขายเร็วขึ้นไปอีก ภายในเวลาไม่นานหุ้นก็กลายเป็น “หายนะ” ความหวังของคนที่ใช้คานยาวเพื่อหวังจะ “งัดดวงจันทร์”กลายเป็น “คานที่ดีดกลับ” ทำให้ตนเองต้องไป “นรก” แทน

ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็น “กระทิง” ราคาหุ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนโดยเฉพาะที่อยากรวยเร็วรวมถึงคนที่รวยอยู่แล้วก็อยากจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก อยาก “รวยเป็นบ้า” ไปเลย แม้แต่เจ้าของบริษัทจดทะเบียนที่หุ้นเพิ่งเข้าตลาดและถ้าไม่ทำอะไรก็ได้ชื่อว่าเป็นคนรวยจัดอยู่แล้วเพราะราคาหุ้น IPO เข้าตลาดตั้งแต่วันแรกก็วิ่งขึ้นไปอีกบางทีหลายเท่าอยู่แล้วแต่ก็เห็นโอกาสว่าจะสามารถรวยขึ้นไปได้อีกมากก็อาจจะ “ขอยืมคาน” ที่สถาบันการเงินต่างก็อยากให้ มาใช้งัด “ดวงจันทร์” มันคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลาย ๆ คนที่จะเห็น “เพื่อน” ในวงการรวยเอา ๆ และรวยเร็วกว่าตนเอง ดังนั้น เราจึงเห็นคนจำนวนไม่น้อยใช้ “คาน” ในการเพิ่มพลังเพิ่มความร่ำรวยโดยที่ไม่คิดว่ามันมีความเสี่ยงสูง เหนือสิ่งอื่นใด มีคนมีปัญหาน้อยไม่กี่คน พวกเขาอาจจะคิดว่า “ก็มันไม่เป็นหรือไม่แน่จริง” “ไม่ใช่เรา” “ของเราปลอดภัยเพราะเราใช้เงินกู้ไม่มาก”

ปัญหาของคานที่ทำให้คนเจ๊งจริง ๆ มักจะอยู่ที่หลายคนเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ไม่สามารถหยุดได้ พวกเขามักจะเคยคิดว่าจะหยุดเมื่อ “รวยพอแล้ว” ตลาดหุ้นที่คึกคักและดัชนีหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นยาวนานทำให้หลาย ๆ คนที่ใช้คานยาวรวยได้จริง ๆ อย่าง “เหนือจินตนาการ” ก่อนที่จะรวยพวกเขาคิดว่าการมีเงินพันล้านบาทคือ “ความฝันอันสูงสุด” แล้ว แต่พอเขาได้มาจริง ๆ เขากลับไม่ค่อยรู้สึกว่ามันจะมากมายอะไร เพื่อนหรือคนรู้จักหลายคนมีมากกว่านั้นมาก บางคนก็ทำแบบเดียวกับที่เขาทำ เขารู้สึกว่าจะต้องเพิ่มขนาดของพอร์ตต่อไป ในอัตราที่อาจจะต้องเร่งเหมือนเดิมหรือเร็วขึ้นไปอีก ต้องตาม “คนอื่น” ที่เคยอยู่ในระดับเดียวกันหรือเคยเหนือกว่าให้ทัน เดี๋ยวนี้เราก็เป็น “หนึ่งในตองอู” หรือได้รับการยอมรับว่าเป็น “เซียนหุ้น” จะชะลอหรือ “ถอยหลัง” ได้อย่างไรในเมื่อคนอื่นยังก้าวไปข้างหน้าเรื่อย ๆ

ประวัติศาสตร์สอนเราว่านักลงทุนที่ “ใช้ไม้คาน” สูงมากในการก้าวสู่ความสำเร็จที่สูงยิ่งกว่าตัวตนของตนเองนั้น มักจะ “ตาย” เพราะถูกคานดีดกลับในช่วงที่เลวร้ายที่ “ไม่คาดคิด” นอกจากนั้น การใช้ไม้คานยาวมากนั้น แม้ว่าจะมีความสุขจากการลงทุนในบางช่วงบางตอนโดยเฉพาะที่ตลาดหุ้นคึกคักเป็นกระทิงและผลตอบแทนการลงทุนนั้น “สุดยอด” แต่เวลาส่วนใหญ่แล้ว คนที่ใช้กลับมีความกังวลสูง อาหารระดับมิชลินที่ได้กินนั้นก็อาจจะไม่ได้อร่อยไปกว่าอาหารข้างทางในยามที่เขามีจิตใจที่ปลอดโปร่งปราศจากความกังวล ในส่วนตัวผมเองนั้น ผมจึงแทบไม่เคยใช้คานในการเพิ่มผลตอบแทนของการลงทุน ผมคิดว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะรวยเร็วขึ้นแต่ชีวิตอาจจะสั้นลงเพราะความเครียด การรวยช้าลงบ้างแต่มีความสุขนั้น ผมคิดว่าดีกว่า และถ้ามันทำให้เราอายุยืนขึ้น วันหนึ่งเราก็อาจจะรวยเท่ากันอยู่ดี

ที่มาบทความ : http://www.thaivi.org/คานที่ดีดกลับ