ภาษีหุ้น-คริปโต

การเก็บ “ภาษี” จากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตราสารหนี้ หุ้นกู้หรือพันธบัตรนั้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างก็หวั่นเกรงกันมาตลอดคิดเป็นเวลาก็หลายสิบปีมาแล้ว ครั้งหนึ่งประมาณ 15 ปีมาแล้ว ผมยังจำได้ว่ารัฐมนตรีคลังในยุคนั้นได้ประกาศเก็บ “เงินสำรอง” หรือก็คือ “ภาษี” 30% สำหรับนักลงทุนที่นำเงินดอลลาร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเหตุผลที่ทำก็เพื่อที่จะขจัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่กำลังแข็งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุเพราะว่านักลงทุนเหล่านั้นนำเงินดอลลาร์จำนวนมากเข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  และก็อาจจะถอนเงินกลับอย่างรวดเร็ว  ซึ่งเป็นการ “เก็งกำไร” ที่จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและการเงินของไทย อย่างไรก็ตาม  เงินที่จะเข้ามานั้น  ไม่มีใครรู้ว่าจะเข้ามาลงทุนอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน จำนวนหนึ่งก็น่าจะต้องเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน การ “ควบคุมเงินตรา” ทางอ้อมโดยการเก็บภาษี 30% คงจะ “ทำลายตลาดหุ้น” อย่างแน่นอน เพราะนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีมากถึงกว่า 30% ของตลาด

ดังนั้น  ทันทีที่ประกาศ ราคาหุ้นจึง “ทิ้งดิ่ง” ช่วงแรกถึงพื้นหรือฟลอร์ที่ 10% ซึ่งทำให้ต้องปิดตลาดเป็นเวลา 30 นาทีตามระบบ “เซอร์กิตเบรกเกอร์”  พอตลาดเปิดใหม่อีกครั้ง หุ้นก็ตกลงไปอีกจนถึงเกือบ 20% ซึ่งจะทำให้ต้องปิดตลาดอีกครั้ง  แต่แล้วมันก็หยุดตกและปรับตัวขึ้นมาบ้างและปิดตลาดวันนั้นที่ 622 จุด ตกลงไป 108 จุดหรือติดลบ 14.8% ซึ่งน่าจะเป็นการตกลงมาใน 1 วัน ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นไทย หลังจากตลาดหุ้นปิดวันนั้น รัฐบาลก็ประกาศ “ถอย” ตลาดหุ้นก็กลับสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่นั้นมา  เรื่องของการเก็บภาษีในการซื้อขายหุ้นที่จะทำให้คนบางส่วนถอนตัวจากการลงทุนในตลาดก็กลายเป็น “ของแสลง” ทุกครั้งที่มีการพูดถึง ราคาหุ้นก็มักจะตกลงมา ดังนั้น ความคิดที่จะเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีที่มีอยู่เช่นภาษีเงินปันผลจึงห่างหายไปนานจนถึงช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ที่กระทรวงการคลังเริ่มที่จะคิดเก็บภาษีใหม่  คราวนี้ไม่ใช่เฉพาะหุ้นแต่รวมถึงเหรียญคริปโตที่กำลังร้อนแรงและโตระเบิดที่จะเข้าข่ายต้องถูกเก็บภาษีด้วย

เหตุผลที่ต้องเก็บภาษีนั้น ที่จริงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องหาเงินมาใช้ในฐานะรัฐบาลที่ต้องบริหารประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 นอกจากนั้น ที่ต้องเป็นตลาดหุ้นก็เพื่อที่จะให้เกิด “ความเป็นธรรม” กับภาคเศรษฐกิจอื่นที่ต้อง “เสียภาษีกันทั้งนั้น” อย่างไรก็ตาม ในฐานะทางเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย ข้อยกเว้นก็ต้องมี โดยเฉพาะในกรณีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้นและให้เจริญเติบโตและก้าวหน้าขึ้น ในกรณีดังกล่าว ถ้าเราจะเก็บภาษีเต็มรูปแบบ มันก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหรือเกิดแล้วก็ไม่โต  ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า นอกจากนั้น ภาษีที่คาดว่าจะได้ก็จะไม่ได้ด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องการส่งเสริมโดยการลดหรือยกเว้นเรื่องภาษีก็เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผ่าน BOI หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือเขตอุตสาหกรรมพิเศษต่าง ๆ  เป็นต้น ในส่วนของตลาดทุนเองนั้น เราก็ส่งเสริมโดยการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์และงดเว้นภาษีในการซื้อขายหุ้นและกำไรจากการลงทุนของนักลงทุน ทั้งสองสามกรณีดังกล่าวนั้น ก็มีการทำกันทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งไม่ได้ส่งเสริมและก็เก็บภาษีตามปกติ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ก็ยังส่งเสริมโดยไม่เก็บภาษีซื้อขายหุ้นอย่างสิงคโปร์เพราะเขาอาจจะคิดว่าเก็บไปก็ไม่คุ้ม เพราะคนอาจจะหนีไปเทรดที่อื่นได้ แล้วเขาก็จะไม่ได้อะไรเลยแต่กลับเสียโอกาสที่จะมีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ  สามารถระดมทุนเพื่อพัฒนากิจการและพัฒนาประเทศดีกว่า

หน้าที่ของรัฐบาลหรือคนที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องภาษีนั้นจึงอยู่ที่การประเมินว่าเราจะได้อะไรและเสียอะไรถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเก็บภาษี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่งจะปรากฏขึ้นไม่นานมานี้ก็คือเรื่องของ “Globalizations” โดยเฉพาะในด้านของตลาดทุนและตลาดเงินที่ทำให้การลงทุนข้ามพรมแดนหรือไร้พรมแดนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นไปได้อย่างสะดวกที่ทำให้กิจกรรมการซื้อขายนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพราะนี่อาจจะทำให้การบังคับใช้ในเรื่องของการเก็บภาษีไร้ผลหรือมีผลน้อยลงไปมาก พูดง่าย ๆ  คุณจะเก็บเท่าไรก็ได้ แต่นักลงทุนก็มีทางเลือกที่จะไปหาที่ที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีคุณภาพที่สูงกว่าได้  นั่นหมายความว่าผู้กำหนดนโยบายจะต้องคำนึงถึง “การแข่งขัน” ที่มาจากตลาดอื่นหรือประเทศอื่นด้วย พูดง่าย ๆ การกำหนดนโยบายจะต้องดูที่อื่นด้วย ไม่สามารถที่จะคิดแค่ในประเทศอย่างสมัยก่อนที่คนใช้บริการ “ไม่มีทางเลือก”

ในมุมของนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือเหรียญคริปโตนั้น แน่นอนว่าแทบทุกคนต่างก็ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการเก็บภาษีใหม่ เพราะนี่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยที่ประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มแทบจะไม่มี เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นเองนั้นคิดว่ากระบวนการลงทุนของตนเองนั้นได้ก่อให้เกิดบริษัทและกิจการต่าง ๆ  ที่เติบโตก้าวหน้าขึ้นมากและได้ “จ่ายภาษี” มาไม่รู้กี่รอบ พูดก็พูด บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นจ่ายภาษีมากและเลี่ยงภาษีน้อยกว่าบริษัทนอกตลาดมากแค่ไหนทุกคนก็รู้กันดีอยู่ ภาษีที่เสียไปนั้นน่าจะมากกว่าภาคธุรกิจอื่นด้วยซ้ำ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลที่บริษัทได้จ่ายไปแล้ว และภาษีอื่น ๆ รวมถึงภาษีจากปันผลก็ต้องจ่ายเต็ม การที่จะเก็บเพิ่มเช่นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์หรือภาษีจากการซื้อ-ขายหลักทรัพย์นั้นก็อาจจะเป็น “ภาษีซ้ำซ้อน”

มาถึงจุดนี้ดูเหมือนว่าเรื่องภาษีบางอย่างที่กำลังเสนอนั้นคงต้องออกมา  ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น มาดูกันว่าผลกระทบต่อภาพใหญ่ของประเทศและนักลงทุนจะเป็นอย่างไร เริ่มจากภาษีการซื้อ-ขายหุ้นที่จะคิดเพียง 0.1% ของปริมาณการซื้อขายนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวหรือแม้แต่นักลงทุนระยะสั้นที่ไม่ได้เล่น Day Trade หรือวันต่อวัน  จริง ๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนัก  เพราะเมื่อคิดรวมกับค่าคอมมิชชั่นที่ค่อนข้างต่ำมากสำหรับตลาดหุ้นไทยก็แค่ประมาณ 0.2-0.3% เทียบกับอีกหลายประเทศแล้วก็ไม่ถือว่าสูง  อย่างไรก็ตาม  สำหรับพวก High Frequency Trade หรือพวกที่เทรดเร็วมากและบางทีก็ใช้หุ่นยนต์เทรด  ก็จะมีปัญหามากและอาจจะต้องหยุดไปเลย  ซึ่งนี่ก็จะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงไปมาก  และก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นหงอยลง  ความนิยมในการซื้อขายหุ้นในตลาดลดลงส่งผลให้ค่า PE ของหุ้นและตลาดต่ำลง  ต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วผลกระทบก็อาจจะไม่มากอย่างที่คิด โดยเฉพาะในยามที่คนไทยยังค่อนข้างสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเช่นในปัจจุบัน

ภาษีกำไรจากการขายหุ้นซึ่งยังไม่ได้มีการเสนอให้นำมาใช้นั้น ถ้าเกิดขึ้นก็น่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงกับตลาดหุ้นไทยมากกว่ามาก เหตุผลก็เพราะว่านักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่ทุ่มเทกับการลงทุนและหลายคนนั้น “ลงทุนเพื่อชีวิต” คือลงทุนเพื่อให้หุ้นเติบโตขึ้นและหวังว่าจะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณนั้น  จะถูกภาษีกินไปมากจนยากที่จะสร้างพอร์ตให้โตเร็วอย่างที่คิด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เวลาหุ้นตัวไหนทำกำไรมากก็จะถูกหักภาษีมาก  ในขณะที่หุ้นที่ขาดทุนก็ไม่สามารถจะนำมาลดภาษีลงได้  ผลก็คือ  อัตราภาษีจริง ๆ  ของการลงทุนทั้งพอร์ตน่าจะสูงมาก  ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทย  “ไม่ค่อยคุ้ม”  ทางแก้ก็คือ  เลิกลงทุน  หรือไม่ก็ไปลงทุนต่างประเทศซึ่งจะไม่มีภาระภาษีตัวนี้  นอกจากนั้น  เจ้าของธุรกิจที่คิดจะเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดก็คงจะอยากเข้าน้อยลง  เหตุผลก็เพราะว่าถ้าอยากจะขายหุ้นก็จะถูกภาษีกำไรจากการขายหุ้นสูงมากเพราะหุ้นเดิมมักจะมีราคาต้นทุนต่ำมากคือต้นทุนอาจจะเท่ากับราคาพาร์ในขณะที่ราคาตลาดมักจะสูงกว่ามาก  บางทีเป็น 10 เท่าหรือ 100 เท่า  ดังนั้น  ตลาดหุ้นก็น่าจะโตยากเช่นเดียวกับการระดมเงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจก็คงจะด้อยประสิทธิภาพลงมาก

ในกรณีของเหรียญคริปโตที่จะต้องเสียภาษีกำไรจากการขายเหรียญนั้น  ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่  เหตุเพราะว่าราคาคริปโตขึ้นลงแกว่งตัวสูงมาก  คนเล่นมักจะต้องขายถ้าราคาขึ้นไปแรง การขายทุกครั้งจะต้องเสียภาษี แต่เวลาขาดทุนไม่ได้คืน ผลก็คือ โดยเฉลี่ยอัตราภาษีจริงนั้นจะสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะเล่น ดังนั้น ในความรู้สึกของผมก็คือ  ถ้าทำจริง ๆ ก็มีโอกาสเกิด  หายนะ” ของตลาดซื้อขายคริปโตในเมืองไทย  คนที่อยากจะเล่นก็ต้องหันไปใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ  เงินภาษีรัฐก็คงไม่ได้อยู่ดีครับ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/01/17/2618