เวลาซื้อ-ขายหุ้น

คำถาม “ยอดฮิต” ในเรื่องของการลงทุนที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้รับเป็นประจำก็คือ  “เข้าได้หรือยัง”  ซึ่งก็คือ  “ภาวะตลาดหรือดัชนีตลาดระดับนี้เราควรเข้าไปซื้อหุ้นได้หรือยัง”  ส่วนคำถามที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงและอาจจะมีผลพอ ๆ  กันก็คือ  “ควรขายหรือยัง”  นั้น  มักจะมีน้อยกว่ามาก  เพราะคนที่คิดจะขายส่วนใหญ่ก็มักจะขายไปแล้วเวลามีกำไรหรือกำไรงดงามไม่มารอถามผู้เชี่ยวชาญ  ส่วนคนที่ขาดทุนนั้นก็มักจะขายไปแล้วเช่นกันเวลาขาดทุนไม่มาก  หรือถ้าขาดทุนมากก็มักจะไม่ยอมขายและยอมรับว่า  “ติดหุ้น” ยังไงก็  “ขายไม่ลง”  แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าควรขาย

คำถามว่าควรเข้าลงทุนในตลาดหรือยังหรือควรเข้าไปซื้อหุ้นหรือยังนั้น  มองเฉพาะในระยะยาวแล้ว  ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะที่เป็นนักวิชาการก็มักจะบอกว่าเราแทบไม่ต้องสนใจเรื่องของเวลาหรือระดับดัชนีที่เหมาะสม  เหตุผลก็เพราะเราไม่รู้ว่าดัชนีระดับไหนเหมาะสม  ราคาหุ้นหรือดัชนีที่เห็นตลอดเวลานั้นเป็นดัชนีที่เหมาะสมอยู่แล้ว  ไม่มีคำว่าหุ้นถูกหรือแพงไม่ต้องพูดว่าดัชนีตลาดหุ้นสูงหรือต่ำเกินไป  ดังนั้น  พวกเขาก็จะบอกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะยาวแล้วก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด  และเฉลี่ยแล้วก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 10%  ต่อปีแบบทบต้น  บางคนบอกว่า 12% ก็มี  โดยที่เขาไม่เคยบอกเลยว่าต้องลงทุนตอนไหน  ที่จริงถ้าถูกจี้ให้บอกเขาก็จะบอกว่าลงได้ทุกเวลา  แต่สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่อาจจะไม่จริง  มันอาจจะจริงใน “บางเวลา”และ “บางตลาด”  โดยที่บางเวลาก็คือในช่วงเวลาที่หุ้นหรือตลาดหุ้นมีราคาถูกหรือราคายุติธรรม   และบางตลาดก็คือตลาดในประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีต่อเนื่องยาวนานนับจากวันที่ลงทุน

หุ้นในตลาดสหรัฐนั้น  จากการศึกษาอาจจะพบว่าในระยะยาวมาก เช่น ประมาณ 30 ปีขึ้นไป  ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนั้นมักจะสูงถึง 10% ต่อปีแบบทบต้นโดยเฉลี่ย  แต่หากมองในระยะสั้นกว่านั้น  เช่นอาจจะ 10-20 ปี  ผมคิดว่ามีช่วงเวลาค่อนข้างมากที่เราเข้าไปลงทุนแล้วถือไปอีก 10 หรือแม้แต่ 20 ปี  ผลตอบแทนกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด  บางทีอาจจะยังไม่มีกำไรด้วยซ้ำไป  กลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า  และคนที่เจออย่างนั้นก็มักจะมีไม่น้อย  เหตุผลก็เพราะว่าวันที่เขาเข้าไปลงทุนนั้น  มักจะเป็นวันที่ตลาดหุ้นคึกคักมาก  ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงสุดพร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายมหาศาลที่มาจากนักลงทุนรายย่อยที่กำลัง  “บ้าหุ้น”  เพราะเห็นคนที่ร่ำรวยจากตลาดหุ้นเต็มไปหมด  แต่วันที่เขาเข้าไปลงทุนนั้นกลับกลายเป็นวันที่เลวร้ายมาก  ไม่ใช่วันที่ควรเข้าไปซื้อหุ้น  แต่เป็นวันที่ควรขายหุ้นถ้าเขาถืออยู่

เรื่องของตลาดหรือประเทศเองก็เป็นเรื่องสำคัญ  ผมคิดว่าเราอาจจะไม่เคยคิด  เราศึกษาจากประเทศอเมริกาที่มีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีมากต่อเนื่องยาวนาน  และมีระบบการปกครองที่มีความเป็นเสรีโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ที่เอื้ออำนวยให้บริษัทเอกชนแสวงหากำไรโดยการแข่งขันที่สมบูรณ์ในตลาดซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนมีค่าเต็มที่ตามพื้นฐานของมัน  ดังนั้น  มูลค่าของหุ้นก็เพิ่มขึ้นเร็วโดยมีอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 10% ต่อปี  และนี่ก็คือผลตอบแทนที่สูง  “ระดับโลก” น่าจะมีน้อยประเทศหรือน้อยตลาดในโลกที่ทำผลตอบแทนได้ในระดับนี้

บังเอิญว่าประเทศไทยเองก็มีเศรษฐกิจที่โตเร็วมากต่อเนื่องมายาวนานน่าจะไม่น้อยกว่า 50 ปี  และก็มีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีเสรีในการประกอบธุรกิจที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถทำกำไรได้เต็มที่ตามพื้นฐานของมัน  ดังนั้น  มูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่เปิดตลาดในปี 2518 เป็นเวลากว่า 43 ปีจึงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานและสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ประมาณ 10% แบบทบต้น  โดยที่ผลตอบแทนจากราคาหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็น 1756 ในวันที่ 21 กันยายน 2561 คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 6.82%  และมาจากเงินปันผลน่าจะประมาณ 3% เศษ ๆ  ต่อปี ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนถือหุ้นไทยโดยเฉลี่ยเท่ากับประมาณ 10% ต่อปีพอ ๆ  กับตลาดหุ้นสหรัฐเช่นเดียวกัน

แต่นั่นคือ  “อดีต”  ผลตอบแทนใน “อนาคต” นับจากวันนี้อาจจะไม่เหมือนกันถ้าประเทศไทยไม่ได้เติบโตเหมือนเดิม  และผมก็เชื่อว่าไทยจะโตช้าลงมาก  เหตุผลก็เพราะเรื่องของสังคมสูงอายุที่ไทยกำลังเผชิญอยู่  ซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจของเราจะโตแบบเดิม  และนั่นอาจจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นนับจากนี้จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่า 10% ในระยะยาว  ตัวอย่างที่เห็นก็คือ ประเทศและตลาดหุ้นของญี่ปุ่นที่นอกจากจะไม่ได้ผลตอบแทนสูงเป็น 10% ต่อปีแล้ว  ยังมีผลตอบแทนที่ “ติดลบ”  ในระยะยาวในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาอานิสงค์จากการที่สังคมญี่ปุ่นแก่ตัวลงอย่างมาก

นอกจากการที่ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีเลิศถึง 10% ต่อปีในระยะยาวในอนาคตแล้ว  ถ้าดูกันในรายละเอียดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ยิ่งน่าตกใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแม้แต่ในระยะยาว  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  ถ้าคุณลงทุน “ผิดเวลา” เช่น  คุณลงทุนซื้อหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในปี 2518 และถือหุ้นมา 10 ปีจนถึงปี 2528 ดัชนีปรับตัวขึ้นจาก 100 จุดเป็นประมาณ 140 จุด  คิดแล้วให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแค่ 3.4% รวมปันผล 3% ก็เท่ากับปีละ 6.4%  น้อยกว่าการฝากเงินในยุคนั้นที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเสียอีก

หรือที่เลวร้ายกว่านั้นมากก็คือ  คุณลงทุนในช่วง Peak หรือช่วงที่ตลาดหุ้นบูมหนักมากในช่วงที่เศรษฐกิจไทยโตเป็น 10% ต่อปีติดต่อกันหลายปีและตลาดหุ้นขึ้นถึง 1754 จุดในช่วงต้นปี 2537  และคุณ  “ถือหุ้นระยะยาว”  ไม่ได้ขายมาจนถึงวันนี้  คุณก็จะไม่ได้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นเลยเป็นเวลาถึงเกือบ 25 ปี ปันผลที่ได้ก็อาจจะไม่ถึง 3% ต่อปีด้วยซ้ำในช่วงนี้เนื่องจากมีช่วงที่บริษัทจดทะเบียนประสบภาวะวิกฤติในปี 2540 อยู่ด้วย

ที่กล่าวถึงนั้นก็คือ  “ภาพใหญ่” ที่มองค่าเฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาดซึ่งสะท้อนถึงคนที่เน้นลงทุนในกองทุนรวมโดยเฉพาะที่อิงดัชนีเช่นคนที่ลงทุนในกองทุน SET50 เป็นต้น  แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เล่นหุ้นในตลาดเป็นประจำและนักลงทุน “VI” นั้น  พวกเขามักมีความคิดอีกแบบหนึ่ง  พวกเขามักจะบอกว่าเขาเล่นหุ้นหรือลงทุนในหุ้นรายตัว  ดังนั้น  ภาวะหรือดัชนีตลาดนั้นไม่สำคัญหรือสำคัญน้อย  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดอาจจะไม่ดีแต่หุ้นบางตัวนั้นก็สามารถให้ผลตอบแทนดีเยี่ยมถ้าเรา “เข้าซื้อ” ถูกจังหวะถูกเวลา  เช่นเดียวกัน  แม้ว่าตลาดหุ้นจะดีมากแต่ก็มักจะมีหุ้นบางตัวมีผลงานที่แย่มาก  เข้าไปซื้อผิดเวลาก็เจ๊งได้  อย่างไรก็ตาม  ภาวะตลาดที่ดีผิดปกติหรือเลวร้ายผิดปกติก็มักจะมีผลต่อผลตอบแทนในการลงทุนในหุ้นรายตัวไม่น้อย  โดยเฉพาะถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวแนว VI

สิ่งที่ผมระวังมากเวลาจะลงทุนซื้อหุ้นก็คือผมกลัวซื้อ  “ผิดเวลา”   แน่นอน  ภาวะตลาดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจที่จะซื้อหุ้น  แต่มันก็มีส่วนที่ทำให้การตัดสินใจซื้อหุ้นรายตัวเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน  เหตุผลก็เพราะเมื่อดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นแรงหรือแรงมาก  โดยปกติหุ้นส่วนใหญ่หรือเกือบทุกตัวก็มักจะปรับขึ้นด้วย  และนั่นมักจะลด Margin of Safety ของการลงทุนลง  ตรงกันข้าม  เมื่อตลาดแย่  หุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะถูกลง  ความปลอดภัยในการลงทุนระยะยาวของเราก็จะเพิ่มขึ้น  ตัวอย่างเช่น  ช่วงเร็ว ๆ  นี้  หุ้นที่มีผลประกอบการดีมักมีราคาแพงมาก  การซื้อหุ้นเหล่านี้เราก็มีความเสี่ยงที่หุ้นอาจจะตกลงมาและทำให้ผลตอบแทนระยะยาวของเราลดลง  เป็นต้น  ดังนั้น  นี่อาจจะไม่ใช่เวลาซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็ได้

ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ  ไม่ว่าเราจะลงทุนแบบไหนรวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนี  จังหวะเวลาของการลงทุนเป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ  จริงอยู่  ส่วนใหญ่แล้วมันก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่  “ลงทุนได้”  โดยเฉพาะคนที่ลงทุนแบบ DCA หรือการลงทุนแบบเฉลี่ยลงทุนเท่า ๆ  กันทุกเดือนหรือทุกปี  แต่ในบางครั้งเราก็ต้องดูภาวการณ์ของตลาดหุ้นด้วย  ซึ่งปกติเวลาที่ดีกว่าก็คือช่วงที่ดัชนีตกต่ำถ้าเราลงทุนระยะยาว  นอกจากนั้น  บางทีเราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของประเทศและตลาดหุ้นของประเทศด้วยว่า  ในอนาคตระยะยาวแล้ว  มันจะยังเอื้ออำนวยให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีแค่ไหน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เวลานี้การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกก็ค่อนข้างเปิดกว้าง  ถ้าเราต้องการได้ผลตอบแทนที่สูงเป็น 10% ต่อปีเราก็ต้องวิเคราะห์และทำการบ้านเพื่อให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวด้วย

ที่มาบทความ: thaivi.org

iran-israel-war