10 คำถามต้องตอบก่อนลงทุน

“ระบบ” คือเข็มทิศแห่งความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานก็ได้ เพราะการลงทุนก็เหมือนการปีนป่ายภูเขา หนทางสู่ยอดเขามีทางให้เลือกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเลือกทางไหนทางหนึ่งในการเดินทางเพียงเฉพาะ ขอเพียงแค่มี “ระบบ” ที่ดีพอในการเดินทางก็เพียงพอ

10 คำถามต้องตอบก่อนลงทุน

“ระบบ” เป็นสิ่งจำเป็นในการลงทุน เพราะระบบคือการตัดสินใจล่วงหน้าถึงกลยุทธ์ที่เราจะใช้ในการลงทุนต่อจากนี้ ระบบสำคัญเพราะการสร้างระบบขึ้นมาจะถูกสร้างในตอนที่นักลงทุนไม่มีอคติหรือปราศจากอารมณ์นั่นเอง เพราะเมื่อลงทุนจริง ปัจจัยแวดล้อมหรือสิ่งเร้ามากมายจะทำให้นักลงทุนไขว้เขวไปจากทางที่ควรจะทำได้ แต่เมื่อมีระบบที่สร้างไว้ดีแล้ว การทำตามระบบก็คือการบังคับให้นักลงทุนตัดสินใจอย่างปราศจากอารมณ์ หรือก้าวผ่านจากกับดักอคติทางจิตวิทยานั่นเอง

10 คำถามสำคัญที่สุดในการสร้างระบบ 10 คำถามนี้ควรเป็นคำถามที่นักลงทุนต้องตอบให้ได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงทุน หากนักลงทุนตอบได้ครบถ้วนและชัดเจนในทุกกรณี นั่นแปลว่าระบบของนักลงทุนเริ่มถูกจัดสรรไว้ดีแล้ว

10 คำถามต้องตอบก่อนลงทุน

1. หุ้นแบบไหนที่คุณจะซื้อ?

เราใช้ปัจจัยหรือหลักการใดในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุน งบการเงินควรเป็นแบบไหน ลักษณะธุรกิจควรเป็นแบบไหน อุตสาหกรรมที่อยู่ควรเป็นแบบไหน ภาพการเติบโตควรเป็นแบบไหน นักลงทุนควรมีภาพที่ชัดเจนในใจว่าหุ้นอะไรเอา อะไรไม่เอา ข้อนี้สำคัญมาก นักลงทุนควรรู้จุดอ่อนตัวเองและตั้งกฎเกณฑ์ที่จะไม่เล่นเกมที่ไม่ถนัดเพื่อขจัดโอกาสจะขาดทุนตั้งแต่ต้น เช่น ถ้ารู้ว่าเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานไม่หวือหวาก็ควรจะตัดรายชื่อหุ้นปั่นออกจากชื่อหุ้นแบบไหนที่คุณจะซื้อเสียตั้งแต่ต้น

2. เมื่อไหร่จะซื้อ?

เราใช้ปัจจัยอะไรในการซื้อหุ้น หากเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐาน เราใช้หลักการไหนในการประเมินมูลค่า หากเป็นนักลงทุนแนวเทคนิค เราใช้อินดิเคเตอร์ใดในการตัดสินใจเข้าซื้อ หากเป็นแนวพื้นฐานแต่ประเมินมูลค่าไม่เป็น เราจะสร้างการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย DCA ขึ้นมาอย่างไร จุดนี้เป็นจุดที่นักลงทุนผิดพลาดกันเยอะมากที่สุด จากประสบการณ์ นักลงทุนรู้ว่าหุ้นตัวไหนดี แต่มักไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรหรือไม่ควรซื้อ ดังนั้น สร้างเหตุผลในการตัดสินใจตั้งแต่ต้น

3. เมื่อไหร่จะถือ?

เราใช้ปัจจัยอะไรในการถือหุ้น หรือแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าเราจะถือหุ้นนานเท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรใช้ตัวเลขตายตัวเป็นการตัดสินใจ แต่ควรใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเป็นสิ่งตัดสินใจมากกว่า เช่น ดูจากธุรกิจ ดูจากความถูกแพง ดูจากอินดิเคเตอร์ในกราฟ ดูจากภาพมหภาพ ดูจากปัจจัยด้านฟันด์โฟลว์ การคิดตั้งแต่ต้นว่าจะถืออย่างไรจะทำให้เราถือหุ้นได้เหมาะสมและถูกที่ถูกเวลามากขึ้น

4. เมื่อไหร่จะขาย?

เราใช้ปัจจัยอะไรในการขายหุ้น นี่ก็เป็นอีกคำถามสำคัญที่หากไม่คิดไว้ก่อน ตัวเรามักจะใจไม่แข็งพอให้ขาย จนสุดท้ายก็นำมาซึ่งการดอยซ้ำซาก เราควรคิดไว้ตั้งแต่ตอนซื้อเลยว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เราตัดสินใจขายหุ้นนี้ออกไป เช่น ราคาแพงเกินไป ธุรกิจไม่โตแล้ว เกิดสัญญาณขาย วิเคราะห์ผิดตั้งแต่ต้น ผู้บริหารไม่โปร่งใส การวางระบบซื้อถือขายถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนอยู่รอดได้ในระยะยาวเลยทีเดียว

5. พอร์ตจะมีหุ้นกี่ตัว?

พอร์ตที่ดีควรมีการโฟกัสและการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม การถือหุ้นน้อยเกินไปทำให้มีความเสี่ยงมาก หากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิดปัจจัยมากระทบ พอร์ตอาจเสียหายได้มาก แต่การถือหุ้นมากเกินไปก็ทำให้การลงทุนเป็นเบี้ยหัวแตก ติดตามไม่ทัน สิ่งสำคัญคือเราควรจัดพอร์ตให้มากพอแต่อยู่ในขอบเขตที่ติดตามอย่างใกล้ชิดไหว โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 ตัว แต่ก็ปรับได้ตามขนาด ประสบการณ์ และความสามารถที่มี เพิ่มเติม นักลงทุนสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการจัดพอร์ตได้ที่ “ความเสี่ยงของการกระจายความเสี่ยง”

10 คำถามต้องตอบก่อนลงทุน

6. คุณจะถือหุ้นตัวละกี่เปอร์เซ็นต์?

นอกจากคิดจำนวนหุ้นที่จะถือแล้ว ยังต้องคิดสัดส่วนหรือน้ำหนักของแต่ละตัวที่จะถืออีกด้วย โดยนักลงทุนควรมีเกณฑ์ในใจว่าหากหุ้นดีมากจะซื้อสูงสุดไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์และถ้าหุ้นตัวที่ชอบน้อยลงมาจะซื้อไม่ต่ำกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ การตั้งเพดานบนไว้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการทุ่มลงทุนได้ และการตั้งเพดานล่างจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยจนขี้เกียจติดตาม

7. คุณจะถือเงินสดกี่เปอร์เซ็นต์?

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การจัดสัดส่วนหุ้น การจัดสัดส่วนเงินสดจะช่วยให้เรารักษาระดับความเสี่ยงและเหลือเงินไปซื้อหุ้นตอนเกิดวิกฤตได้ โดยทั่วไป หากเรามีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากหรือยังหาเงินมาเติมพอร์ตได้เรื่อยๆ เราอาจถือเงินสดในสัดส่วนที่น้อย แต่ในกรณีที่เรารับความเสี่ยงได้ไม่มากแล้ว เราควรจะคงสัดส่วนเงินสดในสัดส่วนที่สูง หรือหันนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นต่อไป

8. คุณจะจัดสรรความมั่งคั่งไปในสินทรัพย์อย่างไร?

ในสัดส่วนความมั่งคั่งรวม 100% นักลงทุนจะจัดสรรความมั่งคั่งอย่างไรบ้าง หากเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก อาจจะมีการแบ่งสัดส่วนแค่เงินสดกับหุ้น แต่ในกรณีที่เราต้องการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เราควรมีการวางแผนว่าเราจะแบ่งปันเงินไปแต่ละส่วนอย่างไร เช่น จะไปซื้อกองทุนรวมกี่เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้ในอสังหาริมทรัพย์กี่เปอร์เซ็นต์ การบริหารความมั่งคั่งเป็นภาพรวมจะทำให้เราบริหารความเสี่ยงแบบเป็นองค์รวมได้

9. คุณจะบริหารเงินเข้าออกจากพอร์ตอย่างไร?

การจะทำให้พอร์ตโตได้ในระยะยาวจะต้องมีการเติมทุนเข้าไปเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น เราควรมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนว่าจะสะสมเพิ่มเดือนละเท่าไหร่ ปีละเท่าไหร่ หากได้เงินก้อนใหม่มาจะแบ่งมาลงทุนอย่างไร หรือเงินปันผลที่ได้จากการลงทุนจะนำมาลงทุนซ้ำหรือใช้จ่าย ยิ่งพอร์ตใหญ่มากเท่าไหร่ พอร์ตก็จะโตได้มากขึ้นเท่านั้น นักลงทุนจึงควรวางแผนหาเงินเติมพอร์ตตลอดเวลาและลดการนำเงินจากพอร์ตออกไปใช้จ่ายเพื่อเพิ่มการสร้างดอกเบี้ยทบต้นให้สูงที่สุด

10. คุณหวังผลตอบแทนปีละเท่าไหร่?

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากไม่แพ้ระบบการซื้อถือขายเลย เพียงแต่นักลงทุนจำนวนมากมักไม่ให้ความสนใจในการสร้างระบบให้ดี นักลงทุนที่จะสำเร็จได้ในระยะยาวควรตั้งผลตอบแทนที่คาดหวังอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อทำให้เราดำรงอยู่ในเกมที่ไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียเงินต้นจนเกินไป โดยทั่วไป แนะนำอยู่ที่ระดับ 10 – 15 % โดยเฉลี่ยในระยะยาวเท่านั้น การเห็นภาพผลตอบแทนที่คาดหวังได้ชัดเจนนั้นจะไม่กระตุ้นให้เรารับความเสี่ยงที่มากขึ้นซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในที่สุด

จบไปแล้ว 10 ข้อ และเป็น 10 ข้อที่ผมแนะนำให้นักลงทุนมีคำตอบอยู่ในใจเสมอ เพราะเรื่องราวง่ายๆ เหล่านี้แหละที่มักจะเป็นคำถามยากๆ และเป็นอคติบังตาที่ทำให้นักลงทุนผิดพลาดในตอนที่มีจิตวิทยาตลาดมาควบคุม

อย่าลืม! ตอบคำถาม 10 ข้อสำหรับตัวคุณเองให้ได้นะ

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

iran-israel-war