บริษัทค้าปลีกถือได้ว่าเป็นหุ้นยอดนิยมตลอดกาลของนักลงทุนในประเทศไทย ส่วนหนึ่งด้วยพื้นฐานธุรกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่งโดยธรรมชาติ และส่วนใหญ่สร้างผลตอบแทนที่ดีมาโดยตลอด ธุรกิจค้าปลีกนั้นได้ถูกจัดประเภทออกเป็น 10 ประเภทหลัก ซึ่งแต่ละประเภทก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันออกไป
1. Department Stores
กิจการค้าปลีกที่มีพื้นที่สำหรับขายสินค้าหลากหลายประเภท หลากหลายยี่ห้อ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีเพื่อขายสินค้าเท่านั้น แต่ละยี่ห้อมักขายรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน ไม่มีการแบ่งเขตอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่เจ้าของสินค้าจะนำสินค้ามาลงเหมือนฝากขายและจะรับรู้รายได้เมื่อขายสินค้าได้แล้ว โดยต้องมีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการวางขายให้กับร้านค้าปลีก รายได้ของการค้าปลีกจะมาจากยอดขายโดยตรง เนื่องจากรับรู้จากส่วนต่างกำไร ตัวอย่าง : ROBINS (ห้างโรบินสัน)
2. Shopping Malls
กิจการค้าปลีกที่ประกอบด้วยพื้นที่ในส่วนของ Department Stores และพื้นที่อื่น เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง เป็นต้น ธุรกิจประเภทนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่ามากกว่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ รายได้มาจากค่าเช่าจากผู้ค้าปลีกรายย่อยอีกที แต่ในแง่การวิเคราะห์กิจการ นักลงทุนต้องมองแง่มุมของธุรกิจค้าปลีกเข้าร่วมด้วยเสมอ เนื่องจากรายได้ของบริษัทขึ้นกับค่าเช่าจากผู้ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งผูกอยู่กับอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยตรง นอกจากนี้ บริษัทส่วนใหญ่ยังมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ของผู้เช่าอีกด้วย ตัวอย่าง : CPN (ห้างเซ็นทรัล), SF (ห้างเมกะบางนา), MBK (ห้างมาบุญครอง), PLAT (ห้างแพลทินัม)
3.Community Malls
กิจการค้าปลีกที่เน้นพื้นที่ให้เช่าเป็นหลัก ลักษณะคล้าย Shopping Malls ขนาดเล็กที่ไม่มี Department Stores ลักษณะโครงสร้างรายได้และการวิเคราะห์กิจการจะคล้ายกับ Shopping Malls เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกจะต่างกัน และโดยส่วนใหญ่มักเป็นโครงการขนาดเล็กทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรงกว่า ตัวอย่าง : SF (ลา วิลล่า), MBK (เดอะไนน์ เซ็นเตอร์), PF (เมโทร เวสท์ทาวน์), J (เดอะแจส), PPM (เดอะศาลายา)
4. Supermarkets
กิจการค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยส่วนมากจะขายตามกลุ่มประเภทสินค้าและไม่มีการแยกบริเวณยี่ห้อสินค้าเท่า Department Stores โดยทั่วไป Supermarkets มีลักษณะคล้าย Hypermarkets แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปลูกค้าใช้เพียงตะกร้าถือสำหรับซื้อสินค้า ในขณะที่ Hypermarkets จะมีขนาดใหญ่กว่า พื้นที่กว้างกว่า และอาจใช้รถเข็นเพื่อเลือกซื้อ ตัวอย่าง : BIGC (บิ๊กซีมาร์เก๊ต), TNP (ธนพิริยะ), AEONTS (แม็กซ์แวลู่)
5. Hypermarkets
กิจการค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยส่วนมากจะขายตามกลุ่มประเภทสินค้าและไม่มีการแยกบริเวณยี่ห้อสินค้าเท่า Department Stores โดยทั่วไป Hypermarkets มีลักษณะคล้าย Supermarkets แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า พื้นที่กว้างกว่า และอาจใช้รถเข็นเพื่อเลือกซื้อสินค้า สินค้าใน Hypermarkets มักมีราคาถูกเนื่องจากเน้นขายปริมาณมาก โดยมีกำไรต่อชิ้นน้อย Hypermarkets ที่เน้นขายสินค้าราคาถูกมาก เพื่อให้พ่อค้าคนกลางไปขายในร้านค้าปลีกจำพวก Convenience Stores อีกทอดอาจใช้ชื่อเรียกเฉพาะว่า Discount Stores ตัวอย่าง : BIGC (บิ๊กซี), MAKRO (แมคโคร)
6. Category Killers
กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เน้นขายสินค้าจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ลักษณะโดยทั่วไปคล้าย Department Stores แต่จะมีสินค้าแค่บางประเภท แต่ร้านค้าจะมีสินค้าจำพวกนั้นหลากหลายมาก ดึงดูดให้ลูกค้าที่สนใจสินค้าเฉพาะกลุ่มมาเลือกซื้อสินค้าแทนที่จะไปที่ร้านค้าปลีกประเภทอื่นที่ขายสินค้ารวมกันและมีสินค้าให้เลือกน้อยกว่า ตัวอย่าง : HMPRO (ห้างโฮมโปร), GLOBAL (ห้างโกลบอล)
7. Specialty Stores
กิจการค้าปลีกร้านขนาดเล็กที่ขายสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับ Category Killers ด้านความเฉพาะเจาะจง แต่จะมีขนาดร้านคล้าย Convenience Stores ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยส่วนมากร้านค้าปลีกประเภทนี้จะเป็นผู้เช่าสำคัญของ Shopping Malls และ Community Malls ตัวอย่าง : BEAUTY (ร้านขายเครื่องสำอางบิวตี้บุฟเฟ่), BIG (ร้านขายกล้องบิ๊กคาเมร่า), COM7 (ร้านขายโทรศัพท์ ไอสตูดิโอ), COL (ร้านขายอุปกรณ์ออฟฟิศ ออฟฟิศเมต), IT (ร้านขายคอมพิวเตอร์ ไอทีซิตี้), KAMART (ร้านขายเครื่องสำอางคาร์มาร์ท), MC (ร้านขายเสื้อผ้าแม็ค), SE-ED (ร้านขายหนังสือซีเอ็ดเซ็นเตอร์), JUBILE (ร้านขายเพชรยูบิลลี่), MPG (ร้านขายเครื่องสำอางสตาร์ดัส), JMART (ร้านขายโทรศัพท์ เจมาร์ท), BGT (ร้านขายเสื้อผ้า บอดี้โกลฟ), AMARIN (ร้านขายหนังสือนายอินทร์), CPN (ร้านขายอุปกรณ์กีฬา ซูเปอร์สปอร์ต)
8. Convenience Stores
กิจการร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่เน้นขายสินค้าหลากหลายประเภทตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเน้นจุดเด่นในความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้า จุดสำคัญของร้านสะดวกซื้อคือทำเลต้องเข้าถึงได้ง่าย เดินทางสะดวก โดยลักษณะสำคัญของร้านสะดวกซื้อคืออัตราการทำกำไรมักจะสูงกว่าร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า และราคาสินค้ามักแพงกว่าเมื่อเทียบชิ้นต่อชิ้น ตัวอย่าง : CPALL (ร้านเซเว่นอีเลเฟ่น), BIGC (ร้านบิ๊กซีมินิ)
9. Online Categories
กิจการร้านค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยทั่วไปค้าปลีกประเภทนี้มักมีต้นทุนด้านสินทรัพย์ถาวรต่ำกว่าเนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจำนวนมาก รวมไปถึงพนักงานขายประจำสาขา แต่อย่างไรก็ตาม ร้านค้าออนไลน์มักมีความจงรักภักดีต่อตราสินค้าต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่เป็นค้าปลีกที่ไม่ได้มีสินค้ายี่ห้อตนเองเป็นสินค้าหลัก เนื่องจากตลาดนี้มักแข่งขันที่ราคาเป็นสำคัญ ตัวอย่าง : COL (เซ็นทรัลออนไลน์)
10. Distributors
กิจการค้าปลีกที่เน้นการซื้อสินค้าและขายส่งให้พ่อค้าคนกลางมากกว่าลูกค้ารายย่อย โดยส่วนใหญ่กิจการมักทำหน้าที่เป็นผู้จัดการด้านการตลาดเอง แต่ไม่ได้มีโรงงานการผลิตของตนเองและไม่ได้มีหน้าร้านของตนเองเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่าย ตัวอย่าง : MEGA, BJC, SPC
แน่นอนว่าถึงจะเป็นค้าปลีกเหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละธุรกิจก็แตกต่างกันไปได้มาก โดยเฉพาะการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ก็ต่างออกไปแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ห้างขายของลดราคาจะมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อ แต่จะมีปริมาณการขายสูงกว่ามาก หรือร้านขายโทรศัพท์มือถือจะต้องเป็นห่วงเรื่องสินค้าคงคลังเสื่อมสภาพมากกว่าร้านขายอุปกรณ์ออฟฟิศเพราะสินค้าล้าสมัยได้เร็วกว่า เป็นต้น
นักลงทุนผู้วิเคราะห์กิจการค้าปลีกจึงต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ เพราะกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของแต่ละกิจการนั้นก็แตกต่างกันออกไปตามลักษณะธุรกิจ
Retail is Detail !
ลงทุนศาสตร์ – Investerest