KBANK------------

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหุ้น… KBANK

1. KBANK ไม่ได้มีรายได้จากการเป็นธนาคารพาณิชย์ 100% แต่มีบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น บริษัทจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์วิจัย บริษัทลีสซิ่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ และบริษัทประกัน

2. โครงสร้างรายได้ของ KBANK มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิประมาณ 60% ค่าธรรมเนียมประมาณ 25% รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยประมาณ 10% และกำไรจากการแลกเปลี่ยนเงินตราประมาณ 5%

3. ในปี 2558 KBANK มีเงินรับฝากกินส่วนแบ่งตลาดประมาณ 14.21% มีเงินปล่อยสินเชื่อสุทธิกินส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 13.55% โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองลงมาจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ตามลำดับ

4. เทียบระหว่างปี 2557 ไปปี 2558 จำนวนสาขาธนาคาร จำนวนตู้ ATM จำนวนตู้ CDM จำนวนตู้ PUM จำนวนศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราลดลง ในขณะที่ศูนย์บริการลูกค้า the wisdom เพิ่มขึ้น

5. อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM; net interest margin) ของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ 3.81 ในขณะที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 2.78 2.25 และ 3.22 ตามลำดับ

6. เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างเงินฝากของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยพิจารณาจำนวนเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดาและเงินฝากกระแสรายวันต่อจำนวนเงินฝากรวม (CASA; current and saving account to total deposit) พบว่า ธนาคารกสิกรไทยมี CASA สูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ไล่น้อยลงมาตามลำดับ

7. เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ธนาคารกรุงไทยมีสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐสูงที่สุด ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทต่างประเทศสูงที่สุด ธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลสูงที่สุด และธนาคารกสิกรไทยมีสัดส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) สูงที่สุด

8. เมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยพิจารณาจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D ratio; loan to deposit ratio) พบว่า ธนาคารกรุงเทพมีค่าน้อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

9. ในปี 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา โครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร โดยหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ โครงการระบบการชำระเงินแบบนานานาม หรือ any ID โดยให้ประชาชนสามารถโอนหรือรับโอนเงิน โดยใช้เพียงหมายเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น

10. ในปัจจุบัน คุณปั้น หรือเจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่พูคาน่านฟ้าซึ่งเป็นบ้านพักที่จังหวัดน่าน ประมาณเดือนละหนึ่งสัปดาห์ โดยคุณปั้นได้ย้ายทะเบียนบ้านมาเป็นคนน่านเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากวางมือจากการบริหารงานที่ธนาคารกสิกรไทยก็จะมาลงหลักปักฐานที่นี่ไปตลอดชีวิต

ลงทุนศาสตร์ – Investerest