best-3-strategies-investing-overpopulation-world

เงินกำลังล้นโลก… และนี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงไปแม้แต่นิดเดียว

ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เป็นต้นมา ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ก็ดำเนินนโยบายการเงินมาแบบผ่อนคลายโดยตลอด โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่เปรียบเสมือนต้นกำเนิดของการล้มของโดมิโนยักษ์ที่ลามไปทั่วโลกนั้นจำเป็นต้องทำนโยบาย Quantitative Easing หรือ QE มาหลายต่อหลายครั้งเพื่อช่วยพยุงสถาบันการเงินไม่ให้ล้มไปตามวิกฤต ซึ่งแน่นอนว่าถ้าระบบสถาบันการเงินล้ม นั่นหมายความว่ามันอาจจะนำมาซึ่งหายนะของระบบทุนนิยมอย่างแท้จริง

นโยบายที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจมีทั้งในแง่การเงินและการคลัง แต่นโยบายที่เห็นผลชัดๆ ต่อตลาดเงินคงหนีไม่พ้นนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศ นโยบายที่เรียกได้ว่าเป็นยาแรงชั้นดี ขอแค่มีการประชุมเกิดขึ้นตลาดทุนก็ปั่นป่วนรอไปเป็นที่เรียบร้อย

นโยบายที่เห็นกันบ่อยๆ คือ นโยบายการอัดฉีดเงินเข้าระบบและนโยบายการลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป้าหมายโดยตรงของนโยบายคือการเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนภาคธุรกิจ แต่หลายครั้งผลกลับออกมาเป็นตรงกันข้าม ในเมื่อพื้นฐานในภาคธุรกิจยังไม่แข็งแกร่ง เม็ดเงินจำนวนมากจึงไหลไปยังตลาดเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้หรือตลาดตราสารทุน ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อตลาดหุ้นนั่นเอง

“เงินล้นโลก” จึงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงนัก ตลาดหุ้นไทยวิ่งมาจากจุดต่ำสุดที่ประมาณ 300 จุดมาทำจุดสูงสุดที่ 1,600 จุดเมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา คำถามคือสภาพเศรษฐกิจไทยเติบโตเท่ากับการเติบโตของตลาดหุ้นไหม เชื่อว่าหลายคนคงรู้คำตอบในใจกันดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินไม่มีที่ไปจึงไหลเข้าตลาดหุ้น valuation ของตลาดตอนนี้ก็ไม่ถูกนักและในบางช่วงก็ค่อนไปทางแพงเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งกลับมามองด้านพื้นฐานเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พอจะมองเห็นได้ว่าเป็น new s-curve อย่างชัดเจน เมื่อตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น แต่เศรษฐกิจยังไม่ขึ้นตาม พอเกิดความไม่แน่นอนขึ้น หุ้นก็พร้อมจะถูกเทขายลงมา สลับไปมาจนสภาพตลาดตอนนี้น่าจะเรียกว่า Sideways อย่างที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคชอบใช้กันก็ได้ เงินล้นโลกทำให้ตลาดหุ้นในระยะสั้นวิ่งไปตามกระแสเม็ดเงินเป็นหลัก และหลายครั้งเม็ดเงินดังกล่าวก็สวนทางกับพื้นฐานที่แท้จริงของเศรษฐกิจเสียด้วย

คำถามคือนักลงทุนควรวางกลยุทธ์อย่างไรดี?

คำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคนคงไม่มี แต่ถ้าเป็นแนวทางหรือมุมมองในการลงทุนที่จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อก็คงจะทางเลือกที่ดีที่จะเป็นคำตอบของคำถามนี้ และบทความนี้ลงทุนศาสตร์ก็ได้กลั่นกรองกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในภาวะเงินล้นโลกแบบนี้ไว้ 3 แนวทางด้วยกัน ซึ่งหากนักลงทุนสนใจก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนของตัวเองได้

แนวทางกลยุทธ์ทั้ง 3 ได้แก่ หุ้นแน่นอนปันผลหนัก หุ้นแข็งแกร่ง PE อิงค่าเฉลี่ย และหุ้นเติบโตดี PEG เท่ากับ 1

1. หุ้นแน่นอนปันผลหนัก

ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินหรืออาจไปจนถึงขั้นติดลบในบางประเทศ นักลงทุนแนวเน้นปันผล (yield investors) ย่อมมองหาผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างปลอดภัย เมื่อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ให้ผลตอบแทนต่ำเกินลงทุนได้แบบนี้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ดีคือหุ้นแน่นอนที่ปันผลหนัก

ในบางสถานการณ์ หุ้นที่พื้นฐานดียังมีความเสี่ยงน้อยกว่าพันธบัตรของประเทศที่เครดิตแย่เสียอีก กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการค่อนข้างแน่นอนจึงเป็นทางเลือกที่ดีในสภาวะเช่นนี้ เนื่องจาก downside risk ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีปันผลค้ำไว้อยู่ สังเกตว่าหุ้นที่ปันผลดีๆ มักจะลงไม่ค่อยมาก เนื่องจากพอ %yield สูงมากขึ้น นักลงทุนที่เน้นเงินปันผลก็จะแห่เข้ามาซื้อกันจนราคาลงไปไม่ได้มาก (ยกเว้นเกิดวิกฤตขึ้นจริงๆ)

แนวทางการลงทุนในหุ้นแน่นอนปันผลหนักควรเน้นไปที่หุ้นปลอดภัยเป็นหลัก โดยหุ้นกลุ่มดังกล่าวควรมีผลประกอบการที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็มีผลไม่มากนัก ตัวอย่างหุ้นในกลุ่มนี้ เช่น หุ้นโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแน่นอน หุ้นโรงน้ำประปาที่มีสัญญาซื้อขายน้ำแน่นอน หุ้นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่มีการลงทุนหนักในอนาคตอันใกล้ หุ้นรับเหมาบริหารสินทรัพย์หรือกิจการที่มีสัญญาคงที่ระยะยาว หุ้นโรงพยาบาลที่มีรายได้ผันผวนต่ำ หุ้นสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันไม่รุนแรง หุ้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ demand ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

นักลงทุนควรเลือกคำนึงถึงเงินปันผลเป็นหลัก โดยลงทุนศาสตร์แนะนำอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4% และสิ่งที่สำคัญคือพื้นฐานของกิจการต้องแข็งแกร่งด้วย นักลงทุนต้องนึกอยู่เสมอว่าการลงทุนแบบเน้นปันผลอาจให้ผลตอบแทนไม่มาก ดังนั้นหุ้นที่เลือกซื้อต้องมีความผันผวนค่อนข้างต่ำ ไม่ใช่ไปติดกับดักหุ้นปันผลสูงแต่กิจการไม่แน่นอน เช่น หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ แบบนี้เมื่อตลาดเกิดความผันผวน หุ้นก็อาจจะตกหนักได้ เพราะพื้นฐานกิจการไม่แน่นอนจริง ซึ่งหมายถึงเงินปันผลในอนาคตอาจลดลงตามไปด้วย

2. หุ้นแข็งแกร่ง PE อิงค่าเฉลี่ย

ในสภาวะที่ตลาดหุ้นถูกซื้อขายกันด้วย PE สูงลิบลิ่วแบบนี้ หุ้นใหญ่มักได้รับความนิยมน้อยกว่าหุ้นเล็กที่มีสตอรี่การเติบโตแรงเสมอ ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนรายย่อยมองหาแต่การเติบโตที่จะมาชดเชยราคาที่แพงหูฉี่ จนบางที่หุ้นดีๆ พื้นฐานแข็งแกร่งถูกมองข้ามไป แต่ไม่ใช่สำหรับนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า (value investors) ซึ่งจะมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นเสมอ

หุ้นแข็งแกร่งคือหุ้นที่เป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ข้อสำคัญคือนักลงทุนควรเลือกผู้ชนะในธุรกิจที่เป็นขาขึ้นในระยะยาว ซึ่งโดยพื้นฐานของลงทุนศาสตร์แล้วแนะนำหุ้นในกลุ่มบริการ อันได้แก่ ค้าปลีก โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง สินค้าอุปโภค สินค้าบริโภค ประกัน และบริการเฉพาะ ซึ่งหุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากความผันผวนของผลประกอบการ

จุดเข้าซื้อควรดู PE อิงค่าเฉลี่ยย้อนหลังของหุ้นนั้นเป็นหลัก ถึงแม้ว่า PE ย้อนหลังจะไม่การันตีว่าราคานี้ถูกหรือคุ้มค่าที่จะซื้อ แต่มันก็เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนที่ให้มูลค่ากับพื้นฐานกิจการมากกว่าการประเมินมูลค่า

หุ้นแข็งแกร่งคือหุ้นแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าตลาดจะเกิดการ correction จนราคาหุ้นหลุดลงค่าเฉลี่ย PE ลงไป แต่สุดท้าย ผลประกอบการที่ดีและความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะดึงราคาหุ้นกลับมาที่เหนือค่าเฉลี่ยได้ การลงทุนแบบนี้จึงต้องเลือกผู้ชนะเท่านั้น เพราะผู้แพ้ในอุตสาหกรรมอาจมีผลประกอบการและ valuation ที่ลดลงในระยะยาว ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความเสียหายของพอร์ตนักลงทุนอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

3. หุ้นเติบโตดี PEG เท่ากับ 1

นี่คือทศวรรษของหุ้นเติบโต – ลงทุนศาสตร์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหุ้นเติบโตกลายเป็นหุ้นยอดนิยมแห่งยุคไปเสียแล้ว นักลงทุนแนวเน้นการเติบโต (growth investors) ต่างมองหาหุ้นดีที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างมากในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่าถ้ากำไรโตดี ราคาหุ้นยิ่งโตดี ผลกำไรจากการลงทุนย่อมมากมายมหาศาล แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นเติบโตนั้นมีความเสี่ยง เสี่ยงจากการที่หุ้นจะไม่เติบโต และเสี่ยงจากการที่ซื้อหุ้นนั้นแพงเกินไปจนผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่า

การลงทุนในหุ้นเติบโตมีความเสี่ยงสูงในสภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ แต่นักลงทุนสามารถจำกัดความเสี่ยงได้โดยการถือยาว ยิ่งถือหุ้นเติบโตได้ยาวและผลกำไรเติบโตไปตามที่ประมาณไว้จริง สุดท้ายราคาหุ้นจะไปชดเชยความแพงของราคาหุ้นได้ แน่นอนว่าความสำเร็จในหุ้นเติบโตมีมากมายให้เห็นในยุคสมัยนี้

ราคาที่ดีที่สุดในการลงทุนสำหรับลงทุนศาสตร์คือที่ PEG เท่ากับ 1 สรุปง่ายๆ คือ ถ้าประเมินว่าหุ้นนี้จะเติบโตทบต้นที่ 5 ปีได้ปีละกี่เปอร์เซ็นต์ PE ที่ควรซื้อก็คือเท่านั้นนั่นแหละ เช่น ประเมินว่าหุ้นค้าปลีกหนึ่งมีน่าจะมีการเติบโตที่ 20% ทบต้นไป 5 ปี PE ที่เหมาะสมจะลงทุนคือ PE เท่ากับ 20 นั่นเอง

สิ่งสำคัญมากคือนักลงทุนต้องติดตามผลประกอบการอย่างใกล้ชิดว่าเป็นไปตามที่ประเมินไว้หรือไม่ หากบริษัทมีแนวโน้มจะทำผลกำไรได้ต่างจากที่ตั้งสมมติฐานไว้อย่างชัดเจน นักลงทุนต้องทำการประเมินมูลค่าใหม่ เพื่อจะตัดสินใจว่าจะซื้อ ถือ หรือขายเป็นการต่อไป

“เงินล้นโลก” คือภาวะที่เงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงเกินมูลค่าพื้นฐานของมัน ตลาดจะเคลื่อนไหวไปตามเม็ดเงินเป็นหลัก ตลาดหุ้นมีความผันผวนไปตามเศรษฐกิจโลก การจะถือเงินสดรอตลาดกลับมามีราคาถูกก็ตอบได้ยากว่าเหตุการณ์นั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

นักลงทุนจึงอาจเลือกใช้กลยุทธ์ที่ลงทุนศาสตร์แนะนำ – หุ้นแน่นอนปันผลหนัก หุ้นแข็งแกร่ง PE อิงค่าเฉลี่ย และหุ้นเติบโตดี PEG เท่ากับ 1 – เพื่อไปพิจารณาใช้ในการลงทุน เพราะวิธีการลงทุนดังกล่าวมี downside risk ที่ค่อนข้างน้อย ถึงแม้ว่าจะมี แต่ก็จำกัดได้โดยการลงทุนในระยะยาวที่จะลดความผันผวนได้ด้วยผลประกอบการของบริษัทที่ดี

การลงทุนมีความเสี่ยง… แต่การไม่ยอมรับความเสี่ยงอะไรเลยก็ถือเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

ลงทุนศาสตร์ – Investerest