การจัดประเภทหุ้น 6 ประเภทของลงทุนศาสตร์เป็นแนวคิดการจัดประเภทหุ้นตามลักษณะกำไรของบริษัทจดทะเบียน เพื่อใช้ในการแยกประเภทหุ้นอย่างง่ายเพื่อการลงทุน

1. หุ้นกำไรขาขึ้น

หุ้นขาขึ้นมักเป็นหุ้นผู้นำในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตดี เช่น หุ้นเครือโรงแรม หุ้นเครือร้านอาหาร หุ้นกลุ่มค้าปลีก หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว หุ้นโรงพยาบาล รวมไปถึงหุ้นที่เติบโตได้ดีชนะอุตสาหกรรม (สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี) ในอุตสาหกรรมที่อาจจะไม่เติบโต เช่น หุ้นค้าปลีกน้ำมันในอุตสาหกรรมพลังงาน รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การลงทุนในระยะยาว เนื่องจากการเติบโตของกำไรในระยะยาวจะช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นโตไปได้อย่างสม่ำเสมอ การถือยาวจะช่วยลดโอกาสในการขายและไม่ได้กลับมาซื้อคืน

2. หุ้นกำไรขาลง

หุ้นขาลงมักเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเสื่อมถอย เช่น หุ้นสิ่งพิมพ์ หุ้นสิ่งทอ หุ้นโทรศัพท์บ้าน หุ้นสมุดหน้าเหลือง หุ้นโรงถลุงเหล็ก หุ้นเหมืองทองคำ รวมไปถึงหุ้นในอุตสาหกรรมทั่วไปที่มีปัญหาภายในบริษัทของตนเอง เช่น หุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กบางบริษัท รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การเก็งกำไร โดยเฉพาะการในอนุพันธ์ต่างๆ เช่น short future, put option รวมไปถึงการขายแล้วกลับมาซื้อคืน (short against port) โดยนักลงทุนต้องติดตามภาวะบริษัทอย่างใกล้ชิด แต่อาจจะต่างกับหุ้นขาขึ้นตรงที่นักลงทุนจะมองหาข่าวร้ายที่จะส่งผลประกอบให้แย่ลงและนำไปสู่ราคาหุ้นที่ตกต่ำ

3. หุ้นกำไรคงที่

หุ้นคงที่มักเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีการผลิตเต็มกำลังผลิตและมีสัญญาซื้อเต็มกำลังผลิตเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นประปา หุ้นไฟฟ้า หุ้นทางด่วน รวมไปถึงหุ้นที่รับรายได้จากสัญญาจ้างแบบคงที่ เช่น หุ้นรับจ้างบริหารรถไฟฟ้า หุ้นรับจ้างบริหารรถไฟใต้ดิน หุ้นรับจ้างบริหารธุรกิจ รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การลงทุนแบบเน้นเงินปันผล เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้มักให้ปันผลค่อนข้างมาก เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดเป็นหลัก เพราะราคาหุ้นอาจจะไม่เคลื่อนไหวอย่างหวือหวามากนัก

4. หุ้นกำไรวัฏจักร

หุ้นวัฏจักรมักเป็นหุ้นที่ผลประกอบการอิงอยู่กับสิ่งที่เป็นโภคภัณฑ์ซึ่งราคาแปรไปตามกลไกตลาดโลก บริษัทแทบจะไม่มีความสามารถในการควบคุมราคาได้เลย เช่น ราคาน้ำมันโลกกับหุ้นขุดเจาะน้ำมัน หุ้นปิโตรเคมี หุ้นโรงกลั่น หุ้นยางมะตอย หุ้นสายการบิน หุ้นขนส่ง ราคาถ่านหินกับหุ้นถ่านหิน ดัชนีค่าระวางเรือกับหุ้นเดินเรือ ราคาเหล็กกับหุ้นถลุงเหล็ก เหล็กแปรรูป ราคาน้ำตาลกับหุ้นน้ำตาล หุ้นน้ำหวาน หุ้นอาหารแปรรูป ราคาสินค้าการเกษตรกับหุ้นสินค้าการเกษตร หุ้นปุ๋ย หุ้นอาหารสัตว์ รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การเก็งกำไร โดยการคาดการณ์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ นักลงทุนจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมนั้นอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเข้าใจกลไกของอุตสาหกรรมอย่างดี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างราคาโภคภัณฑ์และผลประกอบการของบริษัท

5. หุ้นกำไรตาม GDP

หุ้นตาม GDP มักเป็นหุ้นที่ผลประกอบการอิงอยู่กับ GDP หรือภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น หุ้นที่อิงอยู่กับกำลังซื้อและปริมาณเงินที่หมุนอยู่ในระบบ ได้แก่ หุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงหุ้นที่มีขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ไม่มีช่องทางการเติบโตทั้งตัวบริษัทและอุตสาหกรรม เช่น หุ้นสื่อขนาดใหญ่ หุ้นอาหารขนาดใหญ่ หุ้นรับเหมาตกแต่งขนาดใหญ่ รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ การเก็งกำไร โดยเฉพาะการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและการไหลของเงินทุน (fund flow) นักลงทุนต้องมีความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน รวมไปถึงวงจรเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อจับจังหวะการลงทุนตาม GDP และ fund flow ได้อย่างเหมาะสม

6. หุ้นกำไรไม่แน่นอน

หุ้นไม่แน่นอนมักเป็นหุ้นที่ผลประกอบการมีความไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก เนื่องจากหาความสัมพันธ์ของผลประกอบการกับปัจจัยต่างๆ ไม่ค่อยได้ เช่น หุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่มีแบบแผนการทำงานไม่ชัดเจน หุ้นพลังงานทดแทนที่มีแบบแผนการทำงานไม่ชัดเจน หุ้นที่กำลังเปลี่ยนแผนธุรกิจและยังไม่มีความแน่นอนในกิจการ รูปแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ หลีกเลี่ยงการลงทุนประเภทนี้ เนื่องจากคาดการณ์ทิศทางราคาได้ยาก ถึงแม้ว่าหุ้นบางตัวจะให้ผลตอบแทนที่มาก แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่ตรวจสอบความโปร่งใสได้ยาก ผู้บริหารไม่มีธรรมาภิบาล สภาพการประกอบธุรกิจไม่ชัดเจน นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ การจัดประเภทหุ้น 6 ประเภทของลงทุนศาสตร์เป็นเพียงการตีกรอบภาพความคิดของการวิเคราะห์หุ้นในการลงทุนเท่านั้น หุ้นบางตัวอาจเคยเป็นหุ้นขาขึ้นมาก่อน ต่อมากลายเป็นหุ้นคงที่ และกลายเป็นหุ้นขาลงในที่สุด หน้าที่ของนักลงทุนไม่ใช่การลงทุนในช่วงของการกลับตัวหรือ turning point แต่ควรลงทุนในขณะที่ภาพของบริษัทมีความชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือกราฟเทคนิคคอลกับการลงทุนแบบโมเมนตัมก็ตาม

ลงทุนศาสตร์