6 เหตุผลที่ทำไมหุ้นเล็กถึงน่าสนใจ

1. กำไรโตง่ายจากฐานที่ต่ำ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนเราจะหาเงิน 10 บาทกับหาเงิน 1,000 บาทอันไหนยากกว่ากัน เช่นเดียวกับกิจการที่หากำไร 10 ล้านบาทกับ 1,000 ล้านบาท กำไรที่น้อยย่อมหาง่ายกว่ากำไรที่มาก และยิ่งหุ้นนั้นมีฐานกำไรที่ต่ำยิ่งทำให้การเติบโตคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ย่อมสูงกว่า เช่น หุ้นที่มีฐานกำไรเก่า 10 ล้านบาท หากหากำไรได้อีก 10 ล้านบาท หมายถึงกำไรโต 100% ในขณะที่หุ้นที่มีฐานกำไรเก่า 100 บาท หากหากำไรได้อีก 10 ล้านบาท หมายถึงกำไรโตเพียง 10% เท่านั้น

2. โครงสร้างบริษัทมักไม่ซับซ้อน

เนื่องจากเป็นกิจการที่มีขนาดไม่ใหญ่ ส่วนใหญ่หุ้นเล็กจะมีโครงสร้างธุรกิจที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน นักลงทุนสามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นใหญ่ซึ่งบางครั้งมีรายได้หลักหมื่นล้านแสนล้านมีกิจการในเครือมากมาย หุ้นเล็กในอุตสาหกรรมที่เรียบง่ายจึงเหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่เริ่มต้นศึกษาและประเมินมูลค่าเพราะภาพที่มองจะซับซ้อนน้อยกว่า

3. การเติบโตพึ่งพิงภาวะเศรษฐกิจน้อย (กว่า)

หุ้นขนาดเล็กส่วนมากเติบโตจากการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากกิจการขนาดใหญ่ ต่างจากหุ้นขนาดใหญ่ที่มักเติบโตจากการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า ดังนั้น ถึงแม้ที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หุ้นเล็กก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ขอเพียงให้มีกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งและชัดเจน ต่างจากหุ้นขนาดใหญ่ที่มักเคลื่อนไหวอิงกับ GDP อยู่มาก ดังนั้น ถึงแม้ว่ากิจการจะดีมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจภาพรวมมหภาคชะลอตัว กิจการก็ยากที่จะเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจได้

4. นักลงทุนให้ความสนใจน้อย

นักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อยที่พอร์ตใหญ่กว่า 1,000 ล้านขึ้นไป มักไม่ค่อยให้ความสนใจกับหุ้นเล็กเท่าไหร่ เนื่องจากสภาพคล่องที่จะซื้อหรือขายหุ้นอย่างเป็นอิสระนั้นยาก ถึงแม้ว่าจะลงทุนได้ก็ซื้อได้ปริมาณไม่มาก ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตก็ไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก นักลงทุนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยสนใจหุ้นเล็กเท่าไหร่ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ก็มักไม่สนใจเช่นกัน เนื่องจากหุ้นเล็กเหล่านี้มักติดตามข้อมูลยาก ข่าวน้อย บทวิเคราะห์น้อย ทำให้นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามอย่างตั้งใจจริงก็อาจจะแทบไม่เคยสนใจหุ้นเหล่านี้เลย

5. มีโอกาสที่ราคาจะต่ำมูลค่าสูง

ตามข้อที่แล้วที่พูดถึงการที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจน้อย นั่นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก เนื่องจากมีคนซื้อขายอยู่น้อยกลุ่ม ราคาจึงไม่ค่อยสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง มิหนำซ้ำนักลงทุนรายย่อยที่อาจจะซื้อขายอยู่บ้างก็มักจะไม่ถือลงทุนยาว เน้นเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ชอบมีอคติว่าหุ้นเล็กคือหุ้นปั่นไปเสียทุกตัว ดังนั้น หากธุรกิจดีจริง นักลงทุนที่ถือลงทุนยาวก็อาจจะได้กำไรมหาศาลได้ เนื่องจากหากรอจนกำไรเติบโตและมูลค่าบริษัทเติบโตไปถึงระดับหนึ่งที่นักลงทุนรายใหญ่เริ่มเข้าลงทุนได้แล้ว ราคาก็อาจจะถูกไล่ซื้อจนเข้าใกล้มูลค่าอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งกำไรที่มากมายคุ้มการรอคอย

6. ราคาหุ้นอิงภาวะตลาดน้อย

หุ้นเล็กมีผลต่อตลาดน้อย เนื่องจากขนาดที่เล็กจึงทำให้ถึงแม้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ไม่ส่งผลต่อตลาดเท่าไหร่นัก พูดให้ง่ายคือ หุ้น 1,000 ล้านกลายเป็นหุ้น 10,000 อาจเกิดขึ้นได้ในตลาด sideways คือดัชนีไม่ได้เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะถ้าจะหวังให้หุ้นขนาด 100,000 ล้านกลายเป็นหุ้นขนาด 1,000,000 ล้านอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตลาดขาขึ้นเท่านั้น เพราะขนาดหุ้นที่ใหญ่จะทำให้ดัชนีเคลื่อนที่ไปด้วย ซึ่งการเคลื่อนที่ของดัชนีนั้นส่งผลมากมายต่อตลาด เพราะจะอิงกับนักลงทุนแทบทุกกลุ่ม เงินทุนจากต่างประเทศ ตลาดตราสารอนุพันธ์มากมาย ในขณะที่หุ้นเล็กมีผลต่อตลาดน้อย future, forward หรือ option ให้เปิดสถานะก็แทบไม่มี หุ้นจะยืมมาขายเพื่อช้อนซื้อกลับก็ทำไม่ได้ วางเป็นหลักประกันก็ไม่ได้ ใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อก็ไม่ได้ ทำให้หลายครั้งถูกการใช้วิศวกรรมทางการเงินมามีผลต่อราคาที่น้อยกว่า

ขีดเส้นใต้อีกครั้ง

การลงทุนในหุ้นเล็กมีลักษณะ high risk, high expected return คือความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำตลาด และแน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นเล็กย่อมต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงเหล่านั้น อย่าลืมว่าข้อดีทุกข้อของหุ้นเล็กหากมองเป็นข้อเสียหรือความเสี่ยงของขาลงนั้นก็ทำได้ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็กต้องมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างมาก ราคาที่ซื้อได้ต้องต่ำจากมูลค่าอย่างมีแต้มต่อ แต่หุ้นเล็กที่เติบโตอย่างมหาศาลเหล่านี้แหละที่กลายร่างเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ของนักลงทุนมามากมายนักต่อนักแล้ว

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

iran-israel-war