ในช่วงปลายปี 2548 บริษัทหนึ่งได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแบกประสบการณ์ความสำเร็จส่งตรงมาจากฮ่องกง ธุรกิจที่เรียกว่าสร้างความแปลกใหม่และพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมไปเลยในช่วงขณะนั้น หุ้นที่นักลงทุนมือฉมังหลายคนในยุคนั้นเรียกว่าหุ้นแห่งยุคสมัยใหม่ หุ้นตัวนั้นมีชื่อว่า CAWOW หรือที่รู้จักกันดีในชื่อบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน)
ธุรกิจฟิตเนส California Wow ถือว่าสร้างความแปลกใหม่ให้กับประเทศไทยมาก เพราะน่าจะเป็นฟิตเนสแบรนด์แรกๆ ในประเทศไทยที่เน้นการทำการตลาดแบบขยายสาขาอย่างจริงจัง โดยเน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัย รักสุขภาพ จับกลุ่มเป้าหมายชาวเมืองที่มีรายได้ปานกลางไปถึงสูงอย่างติดหนับ ถึงว่าค่าฟิตเนสในยุคสมัยนั้นของแคลิฟอร์เนียว้าวจะไม่ได้ถูกเลย แต่สมาชิกจำนวนมากก็ยินดีควักกระเป๋าเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
แคลิฟอร์เนียว้าวขยายกิจการอย่างก้าวกระโดด CEO แอริค มาร์ค เลอวีน สร้างฟิตเนสแบบเชิงรุกบุกหัวเมืองทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว โดยแคลิฟอร์เนียว้าวเข้ายึดหัวหาดในตลาดสถานออกกำลังกายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยสามารถกุมส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 55% จากสมาชิ 8,500 รายในปี 2544 พุ่งกระโดดสูงถึงกว่า 160,000 รายในปี 2553 มีสมาชิกมาใช้บริการเฉลี่ยที่สาขาสูงกว่าวันละ 20,000 ราย
ลางร้ายเริ่มปรากฎเมื่อยักษ์ใหญ่ผู้ร่วมทุนอย่างเครือเมเจอร์ตัดสินใจถอนทุนเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีดำเนินการทางตลาดอย่างก้าวร้าวที่เน้นการเพิ่มจำนวนสมาชิก รวมไปถึงการเปิดเมมเบอร์สมาชิกตลอดชีวิต ที่นำมาซึ่งการร้องเรียนจำนวนมากของสมาชิก ตั้งแต่การปิดสาขาฟิตเนส การทำผิดสัญญา รวมไปถึงการต่อสมาชิกสภาพที่ยากเย็นจนทำให้หลายคนหมดสภาพสมาชิกที่ควักจ่ายสมัครไปแบบตลอดชีวิตอย่างไม่รู้ตัว
จากสุดยอดธุรกิจแห่งสังคมอนาคต กลายเป็นหนี้กึ่งดีกึ่งเน่าที่ไม่เร้าใจนักลงทุนอีกต่อไปแล้ว เจ้าหนี้จำนวนมากที่เคยปล่อยกู้อย่างตื่นเต้นในแผนธุรกิจก็ถึงกับกุมขมับในการเรียกร้องหนี้คืน แคลิฟอร์เนียว้าวเริ่มค้างชำระหนี้เจ้าของสถานที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนโดนตัดน้ำตัดไฟเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม หมดแล้วภาพลักษณ์ของสุดยอดหุ้นจดทะเบียน เหลือเพียงแต่สภาพหุ้นร่อแร่ที่ขาดทุนบักโกรก เรียกร้องขอเพิ่มทุนหลายต่อหลายครั้ง และขว้างหนี้ที่ถาถมไว้ออกไปไม่พ้นคอสักที
ปี 2549 บริษัทกำไร 29.48 ล้านบาท
ปี 2550 บริษัทขาดทุน 93.68 ล้านบาท
ปี 2551 บริษัทขาดทุน 120.60 ล้านบาท
ปี 2552 บริษัทขาดทุน 274.09 ล้านบาท
ปี 2553 บริษัทขาดทุน 467.36 ล้านบาท
ปี 2554 บริษัทขาดทุน 246.64 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทกำลังย่ำแย่ถึงขีดสุด แอริค มาร์ค เลอวีน ผู้บริหารประกาศแต่งงานกับดาราพรีเซนเตอร์ของฟิตเนสอย่างเอิกเกริก จัดงานยิ่งใหญ่โด่งดังในทั้งในและต่างประเทศ ควักกระเป๋าจ่ายค่าสินสอดกว่า 1,000 ล้านขัดกับภาพความล่มสลายของธุรกิจแคลิฟอร์เนียว้าวอย่างสิ้นเชิง
หนึ่งเดือนต่อมาบริษัทถูกฟ้องล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกมาให้ข้อมูลว่าการล่มสลายของอาณาจักรแคลิฟอร์เนียว้าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่ความผิดพลาดทางธุรกิจ แต่เป็นความตั้งใจในการเล่นเกมการโกงมาตั้งแต่ต้น เงินจำนวนมากถูกถ่ายผองออกไปต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขงบการเงินออกมาสวยงามเกินจริงจากการแต่งบัญชีครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการที่เป็นช่วงเวลาเลวร้ายของธุรกิจ เงินจำนวนมากก็ไหลออกไปยังต่างประเทศอย่างร้ายกาจ
แคลิฟอร์เนียถึงกาลอวสานอย่างสมบูรณ์
หันมามองที่ True Group บริษัทสุขภาพและความงามที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2004 ก่อนจะขยายงามออกไปอย่างน่าตื่นเต้นที่ประเทศมาเลเซีย ไทย ไต้หวัน และจีน โดยมีจำนวนสมาชิกของฟิตเนสในเครือทรูฟิตเนสมากถึง 200,000 รายทั่วภูมิภาค
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทรูฟิตเนสสาขาเอสพลานาด แคราย และ สาขาอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก เริ่มทยอยปิดตัวลงอย่างไม่แจ้งล่วงหน้า ปล่อยลอยแพสมาชิกที่ตั้งใจจะออกกำลังกายให้งงไปตามๆ กัน หลายคนควักเงินกว่าครึ่งแสนเพื่อสมัครสมาชิกก่อนจะพบว่าวันรุ่งขึ้นฟิตเนสที่ว่าปิดตัวไปแล้วทั้งที่ยังไม่ได้ใช้บริการแม้แต่วันเดียว
ทางฟากทรูฟิตเนสชี้แจงว่ามีปัญหาด้านการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจจนไม่อาจฝืนต่อไปได้ พนักงานภายในองค์กรถูกค้างค่าแรงเป็นจำนวนมาก บริษัทค้างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่จนเจ้าของสถานที่ตั้งสั่งหยุดดำเนินงาน ถึงแม้ว่าทางทรูฟิตเนสจะเอ่ยอ้างขอเวลาในการหาผู้ร่วมทุนในการเข้ามากอบกู้กิจการ แต่ทุกอย่างก็ช้าเกินไป มูลค่าหนี้หลายสิบล้านทำให้เจ้าของพื้นที่ให้เช่าไม่อาจทนเฝ้ารอได้อีก
และแมลงสาปไม่มีเพียงแค่ตัวเดียว ทรูฟิตเนสและทรูสปาทุกสาขาในประเทศมาเลเซียก็ปิดให้บริการลงเสียดื้อๆ แบบที่ไม่แจ้งล่วงหน้าเช่นกัน สมาชิกจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะโดนลอยแพ ค่าสมาชิกล่วงหน้าโดยเฉพาะค่าสมาชิกรายปีละลายหายไปในอากาศอย่างไม่อาจเรียกคืน
เมื่อหันมามองงบการเงินของบริษัท ทรูฟิตเนส จำกัดก็พอจะเข้าใจถึงสภาพความตึงตัวของฐานะทางการเงินของธุรกิจ
ปี 2557 บริษัทมีรายได้ 302,535,246 บาท ขาดทุน 11,654,125 บาท
ปี 2558 บริษัทมีรายได้ 273,810,115 บาท ขาดทุน 49,653,400 บาท
ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลงบการเงินโดยละเอียด แต่จากข้อมูลเบื้องต้น งบกำไรขาดทุนของบริษัทก็อ่อนแอมาก เพราะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ถ้าดูงบดุลของบริษัทก็จะค้นพบว่าอ่อนแอไม่แพ้กัน
ปี 2557 สินทรัพย์รวม 363,319,575 บาท หนี้สินรวม 733,592,725 บาท
ปี 2557 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 370,273,150 บาท
ปี 2558 สินทรัพย์รวม 401,031,572 บาท หนี้สินรวม 820,958,122 บาท
ปี 2558 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 419,926,550 บาท
สังเกตว่าส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีแบบนี้ เรียกได้ว่านับถอยหลังรอวันล้มละลายได้เลย หากไม่มีการเพิ่มทุนหรือได้กำไรสุทธิใหม่เข้ามาจุนเจือ
มหากาพย์จากแคลิฟอร์เนียว้าวถึงทรูฟิตเนสบอกอะไรบ้าง
ถึงแม้ว่าทั้งสองบริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ก็มีลักษณะความหนักหนาของวิกฤตก็ดูเหมือนจะมาจากคนละประเด็น คาลิฟอร์เนียว้าวนั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์ค่อนข้างชัดเจนว่าปัญหาเกิดมาจากการตั้งใจทุจริตของผู้บริหาร ในขณะที่ทรูฟิตเนสนั้นไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอจะสรุปถึงต้นตอปัญหาได้ รู้เพียงแต่คำชี้แจงจากทีมบริหารเท่านั้นที่บอกว่ามาจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ดุเดือดเกินไป
ถ้ามองในมุมผู้ประกอบการหน้าใหม่ การจะลงทุนในธุรกิจฟิตเนสก็คงจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งเพราะเหตุการณ์ไม่ดีดูจะเกิดขึ้นซ้ำรอยหลายต่อหลายครั้ง ในขณะที่ในมุมของผู้บริโภคอย่างประชาชนทั่วไป การเลือกประเภทสมาชิกภาพในการสมัครฟิตเนสครั้งต่อไปก็คงเป็นคำถามที่ต้องคิดว่าการสมัครสมาชิกฟิตเนสแบบนานเกินไปหรือดูดีเกินไปอย่างสมาชิกตลอดชีวิตมีความเสี่ยงอะไรแฝงอยู่หรือไม่
บทเรียนการล่มสลายของอาณาจักรฟิตเนสเหล่านี้คงให้บทเรียนกับคนไทยได้เป็นอย่างดี
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
เอกสารอ้างอิงบทความ
1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,856 วันที่ 27 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556
2 https://www.thairath.co.th/content/969108
3 https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000059131