CPALL จะขยายได้อีกกี่สาขา

CPALL จะขยายได้อีกกี่สาขา??

คำถามนี้คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจใครหลายคน

เพราะ CPALL ถือเป็นสุดยอดหุ้นค้าปลีกตัวหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จากเซเว่นอีเลฟเว่นจำนวนสาขาไม่ถึงพันตอนนี้ขึ้นมาแตะหลักหมื่นเป็นที่เรียบร้อย ราคาหุ้นเองก็ขึ้นมาหลายสิบเด้งจนกลายเป็นตำนานของตลาดหุ้นและเป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน

คำถามคือแล้วต่อไปนี้ CPALL จะยังโตได้อีกไหม

กว่าหนึ่งหมื่นสาขาของเซเว่นอีเลฟเว่นใกล้ถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง ด้วยความสงสัย ผมจึงพยายามหาคำตอบนี้ด้วยคำอธิบายทางตัวเลขที่น่าจะเกี่ยวข้องที่สุด โดยอ้างอิงจากข้อมูลประเทศที่น่าจะมีจำนวนร้านสะดวกซื้อสูงมากจนถึงจุดอิ่มตัวแล้วอย่างญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นจุดเปรียบเทียบ

ประเทศญี่ปุ่น

จำนวนประชากร 127 ล้านคน
ขนาดพื้นที่ประเทศ 377,962 ตารางกิโลเมตร
จำนวนร้านสะดวกซื้อประมาณ 50,000 ร้าน

ประเทศไทย

จำนวนประชากร 69 ล้านคน
ขนาดพื้นที่ประเทศ 513,120 ตารางกิโลเมตร
จำนวนร้านสะดวกซื้อประมาณ 12,000 ร้าน

หากเปรียบเทียบประเทศญี่ปุ่นเป็นจุดอิ่มตัวของร้านสะดวกซื้อ

ประเทศญี่ปุ่น

จำนวนร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากร 394 ร้านต่อประชากรล้านคน
จำนวนร้านสะดวกซื้อต่อขนาดพื้นที่ประเทศ 0.1323 ร้านต่อตารางกิโลเมตร

เปรียบเทียบย้อนกลับมาที่จุดอิ่มตัวของประเทศไทย

ประเทศไทย

จำนวนร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากร 394 ร้านต่อประชากรล้านคน
เทียบเท่ากับร้านสะดวกซื้อ 26,398 ร้าน
จำนวนร้านสะดวกซื้อต่อขนาดพื้นที่ประเทศ 0.1323 ร้านต่อตารางกิโลเมตร
เทียบเท่ากับร้านสะดวกซื้อ 67,885 ร้าน

หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ยังพบว่าประเทศไทยน่าจะยังมีศักยภาพในการเติบโตของจำนวนร้านสะดวกซื้ออีกประมาณหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นเพียงการเปรียบเทียบเชิงเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวคิดพื้นฐานในการวิเคราะห์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องพิจารณาถึงส่วนแบ่งการตลาดรวมของร้านสะดวกซื้อในอนาคตด้วย เพราะตัวเลขเปรียบเทียบดังกล่าวใช้ตัวเลขร้านสะดวกซื้อรวมของประเทศ ซึ่งหากสนใจแต่ CPALL ก็จำเป็นต้องไปวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดที่เหมาะสมในอนาคตเพื่อหาจำนวนสาขาที่น่าจะเป็นอีกด้วย

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำการซื้อ ถือ หรือขายแต่อย่างใด เพียงแต่อยากแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดในการหาคำตอบใหม่ๆ ด้านการลงทุนที่อาจจะถูกหรือผิดก็แล้วแต่ให้ทุกคนได้ลองนำไปใช้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการคิดวิเคราะห์เผื่อสำหรับการตัดสินใจในเรื่องอื่นในอนาคต

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

——————-

Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้