Shadow economy ระบบเศรษฐกิจในเงามืด

Shadow economy หรือระบบเศรษฐกิจใต้ดิน หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของรัฐ ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เช่น ธุรกิจการพนัน ธุรกิจยาเสพติด ธุรกิจการค้ามนุษย์ รวมไปถึงธุรกิจที่ถูกกฎหมายแต่หลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งก็จะมีส่วนทำให้ธุรกิจเหล่านั้นหลุดออกจากวงจรการตรวจสอบของรัฐไปเช่นกัน

ทุกประเทศในโลกล้วนมีระบบเศรษฐกิจใต้ดินทั้งสิ้น ขึ้นอยู่เพียงกับว่าจะมีมากหรือมีน้อยเท่านั้นเอง โดยปกติ shadow economy จะนิยมแสดงในรูปสัดส่วนต่อ GDP ประเทศนั้น จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ชาวยุโรปบ่งชี้ว่า ระบบเศรษฐกิจใต้ดินของประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนต่อ GDP น้อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 17% ในขณะที่ในประเทศกลุ่มที่กำลังพัฒนาอยู่ที่ประมาณ 35% โดยกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตของ shadow economy สูงที่สุด คือ กลุ่มประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสังคมนิยมมาเป็นระบอบทุนนิยม เช่น กลุ่มประเทศที่เกิดจากการแยกตัวมาจากสหภาพโซเวียตในอดีต เป็นต้น

Shadow economy ถือเป็นภัยทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นช่องทางในการเคลื่อนย้ายเงินอย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบการคอรัปชัน หรือการฟอกเงิน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 50 ล้านล้านบาททั่วโลกต่อปี ซึ่งการที่มีเงินหมุนเวียนอยู่ใต้ดินมากมายขนาดนี้ย่อมหมายถึง เงินที่ถูกกฎหมายที่จะลดลงในการมาหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการอาจจะนำมาซึ่งภัยคุกคามใต้ดินที่ผิดกฎหมาย เช่น การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ เป็นต้น

จากการสำรวจสัดส่วนของ shadow economy ต่อ GDP ของประเทศต่างๆ โดย Friedrich Schmeider และ Andreas Buehn พบผลลัพธ์ ดังนี้

Shadow Eco

สังเกตได้ว่าประเทศมีอัตราส่วนระบบเศรษฐกิจใต้ดินต่อ GDP สูงถึง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ค่า GDP ของไทยที่แสดงอยู่ในเวลานี้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงไปถึง 30 กว่าเปอร์เซนต์เลยทีเดียว

เหตุผลที่ลงทุนศาสตร์นำเรื่องเศรษฐกิจผิดกฎหมายมาเล่าให้ฟังก็เพื่ออยากให้นักลงทุนมองภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศในมุมมองความเป็นจริงมากขึ้น หลายครั้งที่นักลงทุนทำการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาคด้วยพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น ปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลงทุนศาสตร์อยากจะเสนออีกมุมมองหนึ่งให้ดูว่า GDP ที่นำมาใช้อาจจะไม่ใช่ค่า “จริง” ก็เป็นได้ การประมาณการณ์ shadow economy คร่าวๆ ได้อาจจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าทำไมค่าบางอย่างถึงดูผิดไปจากความเป็นจริงที่เห็นในระบบเศรษฐกิจที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน

และอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีสิ่งใดในโลกใบนี้ที่ขาวสะอาดหรือดำสนิททั้งสิ้น ทุกสิ่งล้วนเป็นสีเทา ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเป็นเทาอ่อนหรือเทาเข้มก็เท่านั้น ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ก็เช่นกัน การจะคาดหวังให้กิจการขาวสะอาด 100% นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะถึงแม้ว่าผู้บริหารอยากจะขาวเท่าไหร่ก็ตาม แต่ธุรกิจที่ทำยังมีความสัมพันธ์กับ shadow economy แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจการก็จะถูกย้อมให้กลายเป็นสีเทาแบบที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

หากนักลงทุนวิเคราะห์งบการเงินแล้วพบ “ความผิดปรกติ” นักลงทุนต้องถามตัวเองว่านี่เป็นความปรกติที่ “รับได้” หรือ “รับไม่ได้” หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจหรือกิจการหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมบางอย่างไม่สามารถออก “ใบเสร็จ” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้หมายถึงการทุจริตของกิจการ แต่มันหมายถึงธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจที่มีทั้งขาวและดำนั่นเอง

นักลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าการลงทุนของตนนั้นรับได้ที่สีเทา “เข้ม” ระดับไหน มากแค่ไหนถึงจะอยู่ในจุดที่จะต้องหลีกเลี่ยงในกิจการเหล่านั้น ในชีวิตจริงไม่มีสิ่งที่ขาวสะอาด เพราะแม้แต่ตัวของเราเอง เราก็เป็นสี “เทา” ไม่ต่างจากเงินที่กำลังไหลเวียนอยู่ในระบบด้วยเช่นกัน

ลงทุนศาสตร์ – Investerest