ทำไมการดูหุ้นแต่ PBV ถึงอันตราย?

PBV หรือ price per book value คือการประเมินมูลค่าวิธีหนึ่ง

โดย PBV จะคำนวณจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหารด้วยมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน เช่น บริษัท ปุณค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มีหุ้นจดทะเบียนชำระแล้วอยู่ที่ 1 พันล้านหุ้น ปัจจุบันราคาหุ้นถูกซื้อขายอยู่ที่ 1 บาท งบแสดงฐานะทางการเงินล่าสุดบ่งชี้ว่ากิจการมีสินทรัพย์ 1,000 ล้านบาท และหนี้สิน 500 ล้านบาท กรณีนี้ บริษัทดังกล่าวจะมี PBV = 1,000/(1,000 – 500) = 2 เท่านั่นเอง

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย PBV จะมีความอนุรักษ์นิยมสูงมาก เนื่องจากประเมินกิจการจากสิ่งที่มีอยู่จริงในงบดุล ซึ่งโดยปรกติแล้วจะถูกบันทึกด้วยราคาทุนปรับมูลค่า ดังนั้น โดยปรกติ การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย PBV จะได้ราคาต่ำมาก นักลงทุนจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจซื้อหุ้นเพื่อลงทุนจาก PBV เป็นหลักโดยแทบไม่มองปัจจัยอื่นเลย เพราะคิดว่าการซื้อหุ้นที่ PBV ต่ำ 1 นั้นมีปลอดภัยมากแล้ว

นั่นคือความคิดที่อันตรายพอสมควร

เพราะการซื้อกิจการนั้นต้องซื้อการดำเนินธุรกิจด้วย ไม่ใช่ซื้อแต่ทรัพย์สิน การประเมินมูลค่าด้วย PBV นั้นจะสมเหตุสมผลมากหากนักลงทุนสามารถซื้อกิจการแล้วสั่งปิดบริษัทเพื่อทำการขายสินทรัพย์ออกมาทำกำไรได้เลย แต่อย่าลืมว่าความเป็นจริงนั้นยากมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นนักลงทุนแนว Activists ที่เน้นซื้อกิจการมาชำแหละขาย แต่ขั้นตอนการยกเลิกกิจการก็นานพอสมควร หากธุรกิจดั้งเดิมแย่มากแล้ว เวลาเพียงไม่นานก็อาจจะทำให้การลงทุนนั้นเป็นการตัดสินใจที่ย่ำแย่ได้ ยิ่งประเทศไทยแทบไม่มีการลงทุนแบบชำแหละกิจการอยู่เลย การซื้อหุ้นโดยดูแต่ PBV จึงมีความหนักแน่นอยู่ค่อนข้างน้อยพอสมควร

จากตัวอย่างข้างต้นสังเกตว่าหากในปี 2556 นักลงทุนตัดสินใจซื้อหุ้นนี้ที่ราคา 0.3 บาทเพราะคิดว่าราคาถูกมาก เพราะราคานี้ PBV อยู่ที่ 0.84 เท่า ต่อมานักลงทุนจะพบว่าการตัดสินใจนั้นไม่ใช่การตัดสินใจที่ราคาถูกเลย เพราะธุรกิจที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ผลขาดทุนของบริษัทสามารถกัดกินส่วนของผู้ถือหุ้นได้เรื่อยๆ จนมีค่าติดลบซึ่งหมายความว่าอาจจะล้มละลายและทุกอย่างมีค่ากลายเป็น 0 สังเกตว่าหุ้นราคา 0.3 บาท PBV 0.84 เท่าในปี 2556 จะกลายเป็น PBV 1.5 เท่ากว่าๆ ในปีถัดมา และหลังจากนั้นก็ไม่สามารถคำนวณ PBV ได้อีกต่อไป เพราะมูลค่าทางบัญชีติดลบแล้ว

การวิเคราะห์หุ้นเพื่อลงทุนจึงควรดูคุณภาพธุรกิจด้วยเสมอ

โดยนักลงทุนควรพิจารณาถึงคุณภาพธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไร ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ความสามารถในการชำระหนี้ รวมไปถึงความสามารถในการบริหารของผู้บริหาร เพราะการซื้อของถูกก็ควรจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่ดีด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีคุณภาพสมราคา

ธุรกิจที่ราคาถูกมากแค่ไหน แต่ถ้าอนาคตจะย่ำแย่ลงไปมาก ส่วนทุนก็อาจจะหดหายจนราคาที่คิดว่าถูกแล้วกลายเป็นแพงมหาศาลก็เป็นได้ อย่าลืมว่าถ้าอนาคตกิจการจะล้มละลาย ไม่ว่าจะซื้อหุ้นมาที่ราคาเท่าไหร่มันก็ถือว่าแพงไปเสมอ

ถ้าอนาคตมูลค่ากิจการเท่ากับศูนย์ ถมเงินไปเท่าไหร่ สุดท้ายอะไรคูณศูนย์ก็ได้ศูนย์อยู่ดี

ลงทุนศาสตร์ – Investerest