เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เช้าวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมากลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์ที่ปกครองฉนวนกาซาตั้งแต่ปี 2007 ได้สร้างความตระหนกให้กับโลกอีกครั้ง ด้วยการโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กลุ่มฮามาสคือใคร ทำไมถึงโจมตีอิสราเอล และสาเหตุแห่งความขัดแย้งคืออะไร?

การอ้างสิทธิ์ครองครองพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 1 ภาพกรุงเยรูซาเล็ม Source : touristisrael.com

อิสราเอลในปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นประเทศของชาวยิวที่มีอายุเพียง 75 ปีเท่านั้น แต่สามารถย้อนประวัติศาสตร์ของนครเยรูซาเล็มอันเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลได้กว่า 3,000 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นครเยรูซาเล็มถูกประกาศเป็นเมืองหลวงครั้งแรกในฐานะดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าจะมอบให้ หลังชาวฮิบรู ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชาวยิวได้เอาชนะชาวฟิลิสไตน์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าปาเลสไตน์ในปัจจุบันได้อย่างเด็ดขาดโดยกษัตริย์ดาวิด กษัตริย์ชาวยิวพระองค์แรกของชาวฮิบรู ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ไว้ของชาวยิวมากมาย

เมื่อเวลาผ่านไป นครเยรูซาเล็มยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับอีก 2 ศาสนาคือคริสต์และอิสลามในฐานะดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพิ่มเติม จากการที่นครเยรูซาเล็มนั้นเป็นสถานที่ตรึงกางเขนของพระเยซู และเป็นสถานที่ที่ศาสดามูฮัมหมัด ขึ้นสรวงสวรรค์ไปพบกับพระเจ้า และเป็นสถานที่ที่ศาสดาอีซา (พระเยซู) ตามคัมภีร์อัลกุรอาน ไม่ได้ถูกตรึงกางเขนและขึ้นสรวงสวรรค์ ทำให้นครเยรูซาเล็มทวีความสำคัญทางจิตใจเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 2 แผนที่อิสราเอล Source : google.com/maps

เมื่อประกอบกับประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ชัยภูมิที่เป็นทางเชื่อมระหว่าง 3 ทวีปคือ แอฟริกา เอเชีย ยุโรป และความอุดมสมบูรณ์ ทำให้นครเยรูซาเล็ม และอิสราเอลมีประวัติศาสตร์การถูกรุกราน เปลี่ยนผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนผ่านทางสถิติการถูกทำลายอย่างน้อย 2 ครั้ง ถูกปิดล้อม 23 ครั้ง ถูกโจมตี 52 ครั้ง ถูกยึดและถูกเอาคืนถึง 42 ครั้ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีประวัติร่วมกับหลากหลายชนชาติ อาทิ ชาวบาบิโลน ชาวโรมัน อาณาจักรไบแซนไทน์ อาณาจักรออตโตมัน และอื่นๆ 

สถานการณ์ศึกสงครามที่มากเช่นนี้ ทำให้ประชาชนอพยพออกและเข้าจำนวนมาก ทั้งเพื่อหนีภัยสงครามและเข้ามาพักอาศัยในฐานะผู้ชนะสงคราม รวมไปถึงการอพยพเข้าออกเพื่อแสวงหาโอกาสและหนีภัยต่างๆ ตามปรกติ โดยชาวยิวจำนวนมากลี้ภัยไปยังทวีปยุโรป สวนทางชาวปาเลสไตน์ที่เข้ามาอยู่อาศัยแทน ทำให้มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน ทั้งในฐานะดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และในฐานะของบ้านเกิดเมืองนอนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานของตน

โลกสมัยใหม่ วุ่นวายกว่าเดิม

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 3 นายพลเอ็ดมันด์ อัลเลนบี เข้ายึดนครเยรูซาเล็ม 11 ธ.ค. 1917 ยุติการปกครอง 400 ปีของอาณาจักรออตโตมัน

แต่ทั้งหมดนั้นก็วุ่นวายมากยิ่งขึ้นในยุคล่าอาณานิคม เมื่ออาณาจักรออตโตมัน ซึ่งเป็นผู้ปกครองพื้นที่รอบๆ นครเยรูซาเล็ม ซึ่งถูกเรียกว่าปาเลสไตน์ในขณะนั้นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษมีข้อตกลงกับทั้งชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่เดิมที่จะให้อิสระหากช่วยรบ พร้อมกับข้อตกลงกับชาวยิวที่คล้ายคลึงกันคือหากช่วยอังกฤษชนะสงครามจะสนับสนุนให้ชาวยิวได้ตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลได้อีกครั้ง

ส่งผลให้เมื่ออังกฤษชนะสงครามครั้งนั้นจริง ความขัดแย้งบนพื้นที่เดิมในโลกสมัยใหม่จึงเริ่มต้นอีกครั้ง เนื่องจากชาวยิวจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ปาเลสไตน์มากขึ้นทำให้เกิดกระทบกระทั่งกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างชาวปาเลสไตน์เดิม กับชาวยิวผู้อพยพมาภายหลัง

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 4 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตรวจแถวการสวนสนาม Source : nationalww2museum.org

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น ซึ่งชาวยิวในยุโรปที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีเยอรมันอพยพมายังปาเลสไตน์มากขึ้นจนกระทั่งอังกฤษไม่สามารถรับมือได้ ต้องให้สหประชาชาติ (UN) เข้ามาระงับข้อพิพาท โดยที่ประชุม UN มีมติ 31:13 ให้แบ่งดินแดนออกเป็น 2 ส่วนคือดินแดนของชาวยิว และ ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ โดยที่นครเยรูซาเล็มจะอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ และในปี ค.ศ. 1948 ชาวยิวได้ประกาศก่อตั้งรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการโดยมี เดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับชาติอาหรับโดยรอบ ก่อกำเนิดเป็นสันนิบาตอาหรับ (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล และเริ่มทำสงครามกันอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเวลาต่อมา

กำเนิดฉนวนกาซ่า และเวสต์แบงค์

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 5 การบุกของสันนิบาตอาหรับในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1
Source : arab israeli war ; Author Mr. Edward J. Krasnoborski and Mr. Frank Martini, Department of History, U.S. Military Academy

จนกระทั่งในช่วงกลางปี 1948 เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 1 สันนิบาตอาหรับได้ส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอลจากรอบด้าน อย่างไรก็ตามอิสราเอลที่ได้รับการหนุนโดยสหรัฐฯ ก็สามารถกำชัยชนะเอาไว้ได้ แต่เสียดินแดน 2 ส่วนด้วยกันคือ ฉนวนกาซ่า พื้นที่ติดกับอียิปต์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนให้แก่อียิปต์ กับเสียพื้นที่เวสต์แบงค์ให้กับจอร์แดน และเสียนครเยรูซาเล็มครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความเสียหายนั้นยังเกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ด้วย ส่งผลให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามมากกว่า 700,000 คนไปยังพื้นที่ประเทศรอบข้างอิสราเอล โดยเป็นการอพยพไปยังประเทศเลบานอน ซึ่งอยู่ตอนบนของอิสราเอลมากที่สุด และความขัดแย้งก็ดำเนินต่อเนื่องไป

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 6 การบุกของชาติอาหรับช่วงสงคราม 6 วัน Source : Embassies.gov.il

พื้นที่ฉนวนกาซาและเวสต์แบงค์ กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากจวบจนถึงปัจจุบัน หากแต่การปกครองนั้นถูกยึดคืนกลับมาสู่อิสราเอลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1967 ที่ชาติอาหรับเปิดการโจมตีอิสราเอลรอบด้านอีกครั้ง ผลปรากฏว่าอิสราเอลสามารถเอาชนะได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 6 วัน (Six Day War) ทำให้อิสราเอลมีอำนาจเหนือทั้งฉนวนกาซา เวสต์แบงค์ และนครเยรูซาเล็มอีกครั้ง

กำเนิดกลุ่มฮามาส

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 7 นายยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต ผู้นำกลุ่ม PLO Source :britannica.com

ค.ศ. 1964 องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization, PLO) ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของนายยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต (Yasser al-Arafat) โดยใช้พื้นที่เวสต์แบงค์เป็นฐานที่มั่นหลัก ก่อวินาศกรรมเป็นจำนวนมากนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งช่วงค.ศ.1988 กลุ่ม PLO ได้ประกาศยุติการก่อการร้าย และจะเจรจาด้วยสันติ พร้อมกับตั้งกลุ่มการเมืองฟะตะห์ขึ้น เพื่อรณรงค์การเจรจาการปกครองตนเองโดยสันติ ทำให้กลุ่มฮามาสกำเนิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1987 จากการไม่เห็นด้วยกับสันติวิธีดังกล่าว เนื่องจากมองว่าชาวปาเลสไตน์เสียเปรียบและใช้พื้นที่ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหลัก

นอกจากนั้นแล้วใน ค.ศ. 1982 ยังมีการก่อตั้งกลุ่มฮิซบัลลอฮ์ ในพื้นที่เลบานอน เพื่อต่อต้านการรุกคืบของอิสราเอลที่ต้องการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ จนกระทั่งสามารถขับไล่กองทัพอิสราเอลออกจากเลบานอนได้สำเร็จในช่วง ค.ศ. 1985 และกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่ทรงอำนาจ ได้เข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติเลบานอนในเวลาต่อมา โดยที่กลุ่มฮิซบัลลอฮ์ยังคงมีกองกำลังติดอาวุธของตนซึ่งให้การสนับสนุนการโจมตีในครั้งล่าสุดนี้ด้วย

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 8 การจับมือระหว่าง นายยิตส์ฮัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กับ นายยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต ผู้นำกลุ่ม PLO ระหว่างการบรรลุข้อตกลงออสโล ที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 1993 Source :britannica.com

โดยกลุ่ม PLO มีข้อตกลงสันติภาพออสโล เป็นผลงานชิ้นเอก ในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปาเลสไตน์รับรองสถานะความเป็นประเทศของอิสราเอล พร้อมกับที่อิสราเอลรับรองสถานะขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ว่าเป็นตัวแทนปาเลสไตน์ ผู้ดูแลบริหารปกครองภายในดินแดนส่วนต่างๆ ของเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซาแต่ยังไม่ได้รับรองรัฐปาเลสไตน์ อิสราเอลต้องทยอยมอบอำนาจการดูแลพื้นที่คืนแก่ PLO (ปัจจุบันคือ Palestine Authority) ท้ายที่สุดจะเกิดรัฐปาเลสไตน์ มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง ที่แม้จะผ่านมานานกว่า 30 ปี ข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว ยังไม่บรรลุจุดประสงค์แต่อย่างใด

เปิดประวัติศาสตร์สงครามอิสราเอล - ปาเลสไตน์

รูปที่ 9 เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับการมาเยือนซาอุดิอาระเบียของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กรกฏาคม 2023 Source : npr.org

เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศอาหรับที่เคยให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ เริ่มมีท่าทีเป็นกลางมากขึ้น ทั้งในกรณีของอียิปต์ที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตประจำอิสราเอลมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 และพยายามวางตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลเสมอมา ไปจนถึงท่าทีของซาอุดิอาระเบียที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของอิสราเอลมากขึ้น รวมไปถึงการเตรียมประชุมเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลในช่วงปี ค.ศ. 2024

เมื่อประกอบกับสถานภาพของอิสราเอลที่แข็งแกร่งมากขึ้นทุกวัน ทำให้แม้จะมีข้อตกลงสันติภาพอย่าง ข้อตกลงสันติภาพออสโล เกิดขึ้นแต่สถานการณ์ก็ไม่สู้ดีขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ทั้งในฉนวนกาซา และเวสต์แบงค์นั้นย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่สาธารณูปโภคที่ขาดแคลน การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ในนครเยรูซาเล็ม และการรุกล้ำศาสนสถานที่สำคัญอย่างมัสยิดอัลอักซอ  ส่งผลให้ความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์ที่มีต่ออิสราเอลนั้นมากขึ้นต่อเนื่อง นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันเป็นระยะๆ ถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะไปจบที่จุดใด

Source

FINNOMENA FUNDS Investment Team