รูปที่ 1 ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 และจำนวนวันนับตั้งแต่ผู้ติดเชื้อรายที่ 100 ได้รับการยืนยัน I Source : Source Our World in Data as of 28/04/2020
หลังผ่านพ้นวันที่ 23 มีนาคม อันเป็นจุดเริ่มของการทำ Unlimited QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และจุดกลับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก จนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือนที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาท่ามกลางความหวังจากการผ่อนคลายมาตรการ lockdown อย่างไรก็ตามการระบาดระลอกที่ 2 ยังเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายตลาดการเงินนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
ขณะเดียวกันผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ประกาศออกมาไม่ได้แย่กว่าคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทไม่ได้เปิดเผยประมาณการผลประกอบการสำหรับปีนี้หรือไตรมาสต่อไป และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแต่ครอบคลุมไปถึงหุ้นในกลุ่มบริโภค เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
FINNOMENA มองว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาด้วยความหวัง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการระบาดระลอกที่ 2 ยังมีความเป็นไปได้ รวมไปถึงผลประกอบการสำหรับหุ้นในหลายอุตสาหกรรมที่ยังไม่ปรากฏผลกระทบอันเกิดจากการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจึงติดตามสถานการณ์และความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดเพื่อมองหาโอกาสสำหรับคำแนะนำลงทุนที่เหมาะสมในอนาคต
รูปที่ 2 South Korea Mobility Change I Source : Google Mobility Change as of 28/04/2020
เกาหลีใต้หนึ่งในประเทศที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่อนคลายมาตรการ lockdown เรียบร้อยแล้ว โดยเปิดร้านอาหารที่เว้นระยะห่างของผู้ใช้บริการ เช่นเดียวกับสถานบันเทิงและสถานที่ทางศาสนา ขณะเดียวกันมีแผนการด้านอนามัยเพื่อเตรียมกลับไปเปิดสถานศึกษาอีกครั้ง
ขณะที่ประเทศที่เคยมีผู้ติดเชื้อในระดับที่ต่ำอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นนั้น กลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของสิงคโปร์นั้น เกิดขึ้นจากความกระจุกของมาตรการรับมือต่อการแพร่ระบาดในประชาชนชาวสิงคโปร์เป็นหลัก ส่งผลให้เกิดพาหะแฝงอยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติกว่า 300,000 ราย ที่มีโอกาสแพร่เชื้อสูงจากความแออัดของที่อยู่ จนเกิดเป็นการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในที่สุด
ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นจากอำนาจทางกฎหมายของคำสั่งฉุกเฉินที่ยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความกังวลด้านการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในระดับที่สูง ส่งผลให้ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายแม้บริษัท หรือ ห้างร้านที่ถูกขอความร่วมมือให้ปิดทำการตามมาตรการควบคุมผู้ติดเชื้อจะไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ประชาชนในญี่ปุ่นยังใช้ชีวิตตามภาวะปรกติกว่า 60% และเกิดการแพร่ระบาดในที่สุด
รูปที่ 3 กำหนดการผ่านคลายมาตรการ lockdown ของยุโรปและสหรัฐฯ และประมาณการวันที่ควรผ่อนคลายมาตรการของ Deutsche bank I Source : Deutsche bank as of 25/4/2020
หลายประเทศในยุโรปเริ่มประกาศแผนผ่อนคลายมาตรการ lockdown แล้ว เช่น สเปนจะเริ่มเปิดให้ประชาชนออกกำลังกายกลางแจ้งได้นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ด้านรัฐบาลอิตาลีมีแผนการเปิดภาคอุตสาหกรรมในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ส่วนนายกฯ ฝรั่งเศสเตรียมนำแผนยุทธศาสตร์เข้าสภาเพื่ออภิปรายและออกเสียงอนุมัติ ขณะที่เยอรมนีผ่อนคลายมาตรการเรียบร้อยแล้ว ทำให้กิจกรรมทางสังคมกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
รูปที่ 4 คาดการณ์การผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในประเทศสหรัฐฯ I Source : mynorthwest.com as of 28/4/2020
ขณะที่หลายรัฐในประเทศสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown แล้วเช่นเดียวกัน โดยรัฐ Texas เริ่มผ่อนคลายแต่ยังมีข้อจำกัดให้ร้านอาหารยังต้องปิด ส่วนพิพิธภัณฑ์ต้องจำกัดผู้เข้าชมที่ 25% ของความจุสูงสุด ส่วนรัฐ Ohio เตรียมผ่อนคลายมาตรการในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับเมือง New York ที่เลื่อนการผ่อนคลายไปช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ขณะที่รัฐอื่น เช่น Alabama, Florida ยังไม่มีแผนการผ่อนคลายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
การผ่อนคลายมาตรการ lockdown แม้จะยังไม่สามารถคาดการณ์ผลที่ตามมาหรือกิจกรรมทางสังคมอาจยังซบเซาเช่นเดียวกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ แต่ก็หนุนให้นักลงทุนในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รูปที่ 5 คาดการณ์การลดกำลังการผลิตและความต้องการน้ำมันดิบ (ล้านบาร์เรลต่อวัน) I Source : ig.com as of 27/4/2020
IEA คาดการณ์ว่าสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบโลกจะย่ำแย่ที่สุดในเดือนเมษายนซึ่งความต้องการลดลงไปถึง 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนในเดือนพฤษภาคมความต้องการน้ำมันดิบโลกจะลดลงประมาณ 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากนั้นจะฟื้นตัวตามลำดับหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายลงไป โดยคาดว่าความต้องการจะฟื้นตัวกลับไปแตะระดับเดิมที่ 100.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีหน้า
สำหรับการลดกำลังการผลิตมีคาดการณ์จาก IEA ว่าในไตรมาสที่ 2 ทั้งกลุ่ม OPEC และ G20 จะลดกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการที่เริ่มฟื้นตัวราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฏาคม นอกจากนี้จำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ยังลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยอัตราการลดลงใน 1 สัปดาห์มากที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของ Demand และข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตยังต้องใช้เวลา ซึ่งทำให้ความจุสูงสุดของคลังน้ำมันทั่วโลกที่มีเหลือประมาณ 1-1.2 ล้านล้านบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ล่าสุดลดลงเหลือประมาณ 400 ล้านบาร์เรล และนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs คาดว่าความจุดังกล่าวจะมีโอกาสเต็มความจุในอีก 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า
สถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้การกลับมาเปิดเศรษฐกิจ (reopening) ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดต่อความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลก โดยเฉพาะสถานการณ์การบริโภคของประเทศสหรัฐฯ
รูปที่ 6 อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ I Source : Bloomberg.com as of 30/4/2020
คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) แถลงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0 – 0.25% ไว้จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอีกครั้ง โดยวัดผลจากการจ้างงานเต็มอัตรา (Full employment) และเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% นอกจากนี้ยังคงนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ agency residential และ commercial MBS รวมไปถึงนโยบายการเพิ่มสภาพคล่องผ่านตลาด Repo เป็นการประกาศทิศทางนโยบายการเงินสร้างความมั่นใจให้ตลาดการเงิน ในสัปดาห์เดียวกัน สหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี ซึ่งหดตัว 4.8% มากกว่าคาดที่หดตัว 4%
รูปที่ 7 ปริมาณการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) I Source : Bloomberg.com as of 27/4/2020
คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% พร้อมปรับปริมาณสูงที่สุดของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (JGB) จากเดิมที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เป็นไม่จำกัดและจะซื้อเท่าที่จำเป็น พร้อมปรับปริมาณการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นและระยะยาวจาก 5.4 ล้านล้านเยนต่อปี ไปที่ 20 ล้านล้านเยน ไปจนถึงเดือนกันยายนปีนี้
ขณะเดียวกันยังคงขนาดการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs ที่ 1.8 แสนล้านเยนต่อปี และยังคงใช้มาตรการ Quantitative and Qualitative Monetary Easing (QQE) ไปพร้อมกับทำ Yield curve control เพื่อกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายที่ 2%
รูปที่ 8 อัตราดอกเบี้ย MLF ระยะ 1 ปี ของประเทศจีน I Source : Bloomberg as of 27/4/2020
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุนธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย TMLF ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งเป้าเฉพาะพื้นที่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง จาก 3.15% ลงมาที่ระดับ 2.95% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย MLF ซึ่งปรับลดลงมาก่อนหน้าจาก 3.15% มาที่ระดับ 2.95% เช่นเดียวกัน จึงเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 1 ปี ปรับลดลง 0.2% มาที่ 3.85% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนยังได้รับสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการทยอยปรับลด RRR ratio ซึ่งประกาศออกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ไตรมาสที่ 1 ของปี เปิดเผยออกมาหดตัว 6.8% มากกว่าคาดว่าจะหดตัวที่ 6%
รูปที่ 9 การขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปไตรมาสที่ 1 และคาดการณ์สำหรับไตรมาสที่ 2 I Source : Bloomberg.com as of 30/4/2020
สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ -0.5% และระบุว่าพร้อมที่จะเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งตลาดตอบรับในเชิงลบ โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของ ECB ยังไร้ความเป็นรูปธรรม โดยก่อนหน้านี้ ECB ได้ประกาศเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรอีก 1.2 แสนล้านยูโร จนถึงปลายปีนี้ มติจากที่ประชุมดังกล่าวเปิดเผยในขณะเดียวกับการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของภูมิภาคยุโรป ซึ่งแย่ที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกตัวเลขดังกล่าว โดยหดตัว 3.8% มากกว่าคาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 3.5%
รูปที่ 10 ปริมาณการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของ 6 ธนาคารพาณิชย์หลักของสหรัฐฯ ในแต่ละไตรมาส I Source : ft.com as of 26/4/2020
ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐฯ เปิดเผยผลกำไรต่ำกว่าคาดการณ์ประมาณ 43% เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (Loan loss provision) ที่สูงไปแตะระดับเดียวกับช่วงวิกฤติปี 2008 ซึ่งต้องติดตามแนวโน้มของตัวเลขดังกล่าวในไตรมาสต่อไป
หุ้นกลุ่มบริโภคที่มี Nestle, Coca-Cola และ Pepsico เป็นบริษัทใหญ่ในกลุ่มดังกล่าว ยังมีรายได้ที่เป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดในภูมิภาคอเมริกาและยุโรปเริ่มขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการ Q1/20 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพียงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มประเทศเอเชียโดยเฉพาะยอดขายในประเทศจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมีรายได้ที่หดตัวอย่างชัดเจน เช่น Nestle รายได้หดตัว 9.7% ในภูมิภาคเอเชียโอชีเนีย สำหรับ Coca-Cola และ Pepsico ไม่สามารถให้ประมาณการรายได้ของบริษัทในปีนี้ได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด
รูปที่ 11 ตัวเลข Streaming Paid Memberships ทั่วโลก และแต่ละภูมิภาค I Source : Alphatreet.com as of 28/4/2020
ด้าน Netflix ได้รับผลดีจากมาตรการ lockdown ของหลายประเทศทั่วโลก โดยยอดสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นถึง 63% (YoY) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดเป็นภูมิภาคแรกของโลก ส่วนสหรัฐฯ และแคนาดาที่ยังไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นต่ำกว่าอย่างชัดเจนที่ 5% (YoY)
ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังเป็นกลุ่มที่ถูกตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยหุ้นกลุ่ม FAAMG เพียง 5 บริษัทมีขนาด Market cap รวมกันแล้วมากถึง 20% ของดัชนี S&P500
รูปที่ 12 รายได้จากการโฆษณาของ Google I Source : Alphastreet.com as of 29/4/2020
เริ่มกันด้วย Alphabet หรือ Google เจ้าแห่งแพลตฟอร์มหาข้อมูล เปิดเผยรายได้ไตรมาสที่ 1 ออกมาที่ 41,160 ล้านดอลลาร์ เติบโต 13% (YoY) ดีกว่าคาดการณ์ที่ 40,290 ล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 9.87 ดอลลาร์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 4% (YoY) แต่ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 10.33 ดอลลาร์ต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโฆษณากลับไม่แย่อย่างที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ เนื่องจากได้รับผลเพิ่งจะปรากฏในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ Sundar Pichai CEO ของ Alphabet นอกจากนั้น Alphabet ยังไม่ได้เปิดเผยประมาณการรายได้ของไตรมาสหน้าเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยผลประกอบการออกมาก่อนหน้า
Facebook โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก เปิดเผยรายได้มากกว่าคาด แม้กำไรจะต่ำกว่าคาดการณ์แต่ตลาดให้ความสนใจกับรายได้จากโฆษณาที่ Facebook ออกมาเปิดเผยว่าลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แต่เริ่มพบว่ามีเสถียรภาพแล้ว อย่างไรก็ตาม CFO ของ Facebook ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่าบริษัทยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากรายได้ของบริษัทได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน
ขณะที่ Microsoft รายงานรายได้และผลกำไรดีกว่าคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะธุรกิจ More Personal Computing ที่เปิดเผยดีกว่าคาดการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ Microsoft ประกาศว่าไม่คาดหวังว่ารายได้ของธุรกิจส่วนนี้จะเติบโตในไตรมาสแรกของปี ด้านธุรกิจ Intelligent Cloud ซึ่งเป็นธุรกิจที่หนุนให้ Microsoft กลับมาเติบโตอีกครั้ง ยังขยายตัวกว่า 27% (YoY) โดยผลิตภัณฑ์ Azure มีรายได้ไตรมาสที่ 1 เติบโต 59% (YoY)
Amazon เปิดเผยรายได้ไตรมาสแรกของปีเติบโตที่ 26% (YoY) ส่วนกำไรลดลง 29% (YoY) ขณะที่รายได้จากธุรกิจ Cloud อย่าง AWS เพิ่มขึ้น 33% (YoY) อย่างไรก็ตาม ตลาดหันมาสนใจถ้อยคำจาก Jeff Bezos CEO ที่เปิดเผยว่าบริษัทจะนำกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสหน้าเพื่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กำไรไตรมาสหน้าอาจอยู่ในกรอบระหว่างขาดทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ ถึงมีกำไร 1,500 ล้านดอลลาร์
รูปที่ 13 การเปลี่ยนแปลงของรายได้จาก iPhone แต่ละไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า (YoY) I Source : Alphastreet.com as of 30/4/2020
ด้าน Apple มีรายได้ไตรมาสแรกเติบโตเพียง 0.5% (YoY) แต่กำไรลดลง 3% (YoY) ซึ่งรายได้จาก iPhone ลดลงถึง 7% (YoY) ที่โดนกดดันทั้งด้าน Supply chain และการบริโภคที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งรายได้ลดลงไปถึง 7% (YoY) นอกจากนี้ Apple เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ไม่ได้เปิดเผยประมาณการผลประกอบการไตรมาสหน้าอย่างที่เคยเป็นมา
ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก บนความคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังครั้งยิ่งใหญ่จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว บนความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ ทั้งในด้านการติดเชื้อระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ซึ่งยังมิอาจคาดการณ์ได้ ทำให้การปรับตัวขึ้นในครั้งนี้อาจเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างไม่มั่นคงหากปัจจัยพื้นฐาน อาทิ การบริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตฟื้นตัวช้ากว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้
FINNOMENA Investment Team จึงยังคงแนะนำถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยควบคู่กับการถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงอย่างกองทุนรวมตลาดเงินเป็นหลัก เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม ก่อนที่จะมีการแนะนำให้กลับเข้าลงทุนอีกครั้งในยามที่ตลาดเอื้ออำนวย ทั้งในแบบ Tactical Call และ บนพอร์ตการลงทุนหลักอย่าง GAR, GIF, GCP และ TOP5
FINNOMENA Investment Team
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน
หากคุณคิดจะลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม นี้คือสิ่งที่คุณไม่อยากพลาด! สมัครสมาชิกตอนนี้เพื่อรับโพยกองทุนเด็ดที่แนะนำ อัพเดททุกเดือนจาก FINNOMENA
กดที่นี่เพื่อรับโพยกองทุน1stM, Advance, Article, FINNOMENA CHANNEL, FINNOMENA PORT, FINNOMENA PORT Strategy, FINNOMENA PORT Strategy Video, GAR, GCP, GIF, Goal, Long Content, PORT Strategy, Product Info, Top5, จัดพอร์ต, เศรษฐกิจ