ท่าทีของธนาคารกลางทั่วโลกที่ต่างเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อสูงในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ได้สร้างแรงกดดันต่อสภาวะการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลว่าอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือวิกฤติในที่สุด ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วข้างต้น เริ่มส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติ หรือเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ อาทิ

  • ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการรับรู้ผลขาดทุนของสินทรัพย์ตามดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แม้ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวที่มีความปลอดภัย
  • การดำเนินนโยบายของ Fed ที่ทั้งต้องคำนึงถึงความเปราะบางของธนาคารที่มีเสถียรภาพทางการเงินต่ำและอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ กับปัญหาเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงิน
  • ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของ Credit Suisse ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากการส่งรายงานประจำปีที่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ สั่งให้กลับไปทบทวนการประเมินเชิงเทคนิคเกี่ยวกับกระแสเงินสดรวมในปี 2019 และ 2020 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อธนาคารลดลงและราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว

    PORT Strategy  รูปที่ 1: Silicon Valley Bank Timeline Source: FINNOMENA, Tradingview as of 16/03/2023

Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารท้องถิ่นที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดกลาง ขนาดเล็ก และ start-up พร้อมกับรับฝากเงินจากบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley รวมถึง venture capital ซึ่งการชะลอตัวของอุตสาหกรรม start-up ได้ส่งผลถึงปริมาณเงินฝากและสภาพคล่องของธนาคารที่ลดลง เมื่อธนาคารต้องขายสินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ระยะยาวที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง จนเป็นผลให้เกิดการบันทึกผลขาดทุนในงบการเงินไตรมาสล่าสุด และถูกปรับลด credit outlook ลง นำไปสู่การถอนเงินจำนวนมาก (bank run) จากความไม่เชื่อมั่นต่อธนาคารทำให้ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) เข้าควบคุมกิจการและสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงินโดยประกาศคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน พร้อมกันนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังได้เสริมสภาพคล่องผ่านระบบ BTFP (Bank Term Funding Program) เพื่อหยุดปัญหาที่อาจจะเกิดหากความกังวลแพร่กระจายออกไป อย่างไรก็ตาม FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่ายังต้องติดตามผลกระทบด้านความเชื่อมั่นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการรับประกันดังกล่าวนั้นยังอยู่ในวงจำกัด และกระแสความอาจยังส่งผลให้ธนาคารท้องถิ่นบางรายมีโอกาสเกิด bank run และสร้างความผันผวนได้อีก

 PORT Strategyรูปที่ 2: ทางเลือกของ Fed ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคม 2023 Source: FINNOMENA as of 16/03/2023

จึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผลการประชุม FOMC ในวันที่ 22 มีนาคมนี้ จะออกมาในรูปแบบใด เมื่อเฟดยังต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ยังอยู่สูงกว่าเป้าหมาย แต่ความเปราะบางของระบบธนาคารสหรัฐฯ เริ่มแสดงออกมาให้เห็นมากขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทำให้ในการประชุมครั้งนี้เกิดความไม่แน่นอนด้านทิศทางการดำเนินนโยบาย

ซึ่งตลาดคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจะหมายถึงเฟดให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และไม่ได้กังวลกับวิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้นมาก และเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่หากมีการเปลี่ยนท่าทีเป็น dovish (หยุดขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ย) แม้จะส่งผลให้สภาพคล่องที่ตึงตัวผ่อนคลายลง แต่การเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็ว อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดยอมรับถึงความเสี่ยงวิกฤตรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจสร้างความกังวล และส่งผลให้ตลาดผันผวนได้เช่นเดียวกัน

รูปที่ 3: Credit Default Swap ของ ธนาคารขนาดใหญ่ Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 16/03/2023

ทางด้านยุโรป ธนาคาร Credit Suisse ที่มีปัญหาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2008 ทั้งข่าวเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน และการฉ้อโกงภายในอีกจำนวนมาก ส่งผลให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ส่งผลให้ Credit Suisse เป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินที่เจอภาวะ bank run สร้างความกังวลต่อนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาถึง 97% จากจุดสูงสุดในปี 2007 และส่งผลให้ราคาของ Credit Default Swap (CDS) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง

ด้าน S&P Global ได้ปรับลดอันดับ credit ของธนาคารลงสู่ระดับ BBB- ซึ่งอีก 1 ระดับจะเข้าสู่ non-investment grade ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแรงกังวลในวงกว้างด้วยขนาดของธนาคารที่ใหญ่ระดับโลก

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ได้ลุกลามบานปลาย แต่สิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนคือ ความผันผวนสูงที่จะตามมา ดังนั้น FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำลดความเสี่ยงเพื่อลด drawdown ที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงจะพิจารณากลับมาลงทุนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หรือชัดเจนมากขึ้น

 PORT Strategyรูปที่ 4: ผลตอบแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในช่วง Recessions Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 16/03/2023

ในช่วงวิกฤติทุกครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ต่างปรับตัวลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงหุ้นในกลุ่มที่เป็น defensive อย่าง health care ก็ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน แต่ก็ปรับตัวลงน้อยกว่าดัชนี

 PORT Strategyรูปที่ 5: MSCI World และ MSCI Infrastructure Drawdown ในช่วง Recessions Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 16/03/2023

เช่นเดียวกับกลุ่ม infrastructure ก็ปรับตัวลดลงในช่วงสภาวะวิกฤติ แม้จะปรับตัวลดลงน้อยกว่าก็ตาม เราจึงแนะนำปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม health care และ infrastructure ลงเพื่อรักษาเงินต้น

 PORT Strategyรูปที่ 6: ผลตอบแทนของ High Yield Bond และ Investment Grade Bond ในช่วง Recessions Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 16/03/2023

ขณะที่ในวิกฤติต่าง ๆ ที่ผ่านมา ตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (high yield) มักปรับตัวลงได้มากกว่า ตราสารหนี้ investment grade จากความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงกว่า จึงทำให้เราแนะนำเพิ่ม credit quality ในพอร์ต โดยลดน้ำหนักการลงทุนใน high yield และเพิ่มการลงทุนใน investment grade bond แทน

 PORT Strategyรูปที่ 7: ผลตอบแทนของทองคำในช่วง Recessions Source: FINNOMENA, Bloomberg as of 16/03/2023

ในขณะที่ทองคำนับเป็นสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยและสามารถใช้เป็นสินทรัพย์ในการป้องกันความเสี่ยงให้แก่พอร์ตยามตลาดการเงินผันผวนได้ จึงนำไปสู่การปรับพอร์ตการลงทุน

Global Income Focus

 PORT Strategy

  • แนะนำลดสัดส่วนการลงทุน KFINFRA-A 10% (ทั้งหมด)
  • แนะนำลดสัดส่วนการลงทุน UDB-A 15% (ทั้งหมด)
  • แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุน UGIS-A เป็น 15%
  • แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุน KFSPLUS-A เป็น 20%

เพื่อปรับลดสัดส่วนความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน KFINFRA-A ซึ่งลงทุนใน global infrastructure ลง เพื่อรักษาเงินต้น แม้ global infrastructure จะปรับตัวลงน้อยกว่าหุ้นทั่วโลกก็ตาม และแนะนำถือกองทุน KFSPLUS-A เพื่อเป็นสภาพคล่องและรอโอกาสการลงทุน

และแนะนำลดสัดส่วนการกองทุน UDB-A ซึ่งลงทุนใน Jupiter Dynamic Bond Fund ลง จากการมีสัดส่วนลงทุนใน high yield bond ถึง 49.9% โดยมีค่าเฉลี่ยของ credit rating อยู่ที่ระดับ BBB ซึ่งมีความเสี่ยงการปรับตัวลง (downside risk) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน เนื่องจาก UGIS-A มีการลงทุนในตราสารที่มี credit rating เฉลี่ยระดับ A+ 

Global Conservative Port

  • แนะนำลดสัดส่วนการลงทุน KKP G-UBOND-H 10% (ทั้งหมด)
  • แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุน UGIS-N เป็น 20%

เพื่อปรับลดสัดส่วนความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนในกองทุน KKP G-UBOND-H ซึ่งลงทุนใน Jupiter Dynamic Bond Fund ลง จากการมีสัดส่วนลงทุนใน high yield bond ถึง 49.9% โดยมีค่าเฉลี่ยของ credit rating อยู่ที่ระดับ BBB ซึ่งมีความเสี่ยงการปรับตัวลง (downside risk) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน เนื่องจาก UGIS-A มีการลงทุนในตราสารที่มีค่าเฉลี่ย credit rating เฉลี่ยระดับ A+

Global Absolute Return

  • แนะนำลดสัดส่วนการลงทุน KFHHCARE-A 10% (ทั้งหมด)
  • แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน SCBGOLDH เป็น 15%

เพื่อปรับลดสัดส่วนความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน KFHHCARE-A เพื่อรักษาเงินต้น แม้ global healthcare จะปรับตัวลงน้อยกว่าหุ้นทั่วโลกก็ตาม  แต่การเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้อาจเกิด drawdown ได้ และปรับเข้าลงทุนในทองคำผ่าน SCBGOLDH เพื่อเป็น safe haven ในการลด drawdown ของพอร์ตการลงทุนลง

 


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัว ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

iran-israel-war