5 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับกองทุนรวม

กองทุนรวมถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับคนทำงานและมือใหม่ที่อยากจะเริ่มต้นลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่ง่าย เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลา และไม่ได้เก่งถึงขนาดที่จะเลือกหุ้นด้วยตัวเอง

แต่เชื่อไหมก็ยังมีหลายเรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิดบ่อย ๆ เกี่ยวกับกองทุนรวม ลองมาดูกันว่าอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่มักผิดพลาด ??

5 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับกองทุนรวม

5 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับกองทุนรวม

1. กองทุนปันผล ดีกว่ากองทุนไม่ปันผล

จริง ๆ แล้วการจะจ่ายหรือไม่จ่ายปันผลขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน ไม่ได้หมายความว่ากองทุนปันผลจะดีกว่าหรือแย่กว่ากองทุนไม่ปันผล

อยู่ที่ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร หากอยากมีกระแสเงินสดจากการลงทุนอยู่เป็นประจำก็ควรเลือกกองทุนปันผล (แต่ต้องเสียภาษี 10% จากเงินปันผล) แต่ถ้าเน้นลงทุนระยะยาว สะสมมูลค่าไปเรื่อย ๆ การเลือกกองทุนที่ไม่ปันผลก็จะเหมาะกว่า เพื่อสร้างผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อย ๆ

2. ซื้อที่ NAV ยิ่งน้อย ยิ่งดี ?

หลายคนเข้าใจว่าจะต้องซื้อกองทุนที่ราคา NAV ต่ำๆ เพราะมองว่าถูกกว่า บอกเลยว่าคุณเข้าใจผิดแล้ว เพราะว่าราคา NAV ของแต่ละกองทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ช่วงเวลาจัดตั้งกองทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล การเลือกและซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน ฯลฯ

ดังนั้นการเลือกว่ากองทุนไหนถูกหรือแพง จึงไม่ควรมองแค่ราคา NAV อย่างเดียว แต่ต้องดูทั้งนโยบายการลงทุน ความสามารถของผู้จัดการกองทุน ค่าธรรมเนียม และแนวโน้มการเติบโตของ NAV มากกว่า

3. ซื้อกองทุน IPO จะให้ผลตอบแทนดีเสมอ ?

กองทุนที่เปิดขายครั้งแรก หรือ กองทุน IPO ความจริงแล้วก็เหมือนกองทุนทั่ว ๆ ไป ที่มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก่อนจะตัดสินใจซื้อต้องคิดให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าเลือกกองผิดตั้งแต่เริ่มต้น แบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก

4. ผลตอบแทนในอดีต คือผลตอบแทนในอนาคต ?

จำไว้เลยว่าผลตอบแทนในอดีต ไม่ได้เป็นการการันตีผลตอบแทนในอนาคต เพราะเวลาเราลงทุน เราไม่ได้ซื้ออดีต แต่เป็นการซื้ออนาคต ข้างหน้า

ดังนั้น การมองแต่ผลตอบแทนในอดีตเพียงอย่างเดียว จนลืมวิเคราะห์แนวโน้มข้างหน้า จึงเป็นข้อผิดพลาดมาก ๆ ของการลงทุนในกองทุนรวม

5. บลจ. เจ๊ง เงินต้นจะหาย ?

กองทุนรวม จะต้องถูกจัดตั้งในนามนิติบุคคลกับ ก.ล.ต. และถูกแยกสินทรัพย์ออกจาก บลจ. อย่างสิ้นเชิง แปลว่าแม้จะเกิดอะไรชึ้นมากับ บลจ. เงินในกองทุนรวมก็จะยังอยู่ครบถ้วน ไม่ได้หายไปไหน โดยเงินในกองทุนจะถูกถ่ายโอนไปให้ “ผู้ดูแลผลประโยชน์” ซึ่งมักเป็นธนาคารต่างๆ ที่จะดำเนินการหาผู้จัดการกองทุนใหม่มาบริหารสินทรัพย์ต่อไปในอนาคต

FinSpace

ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/5-things-people-misunderstand-about-mutual-fund/

iran-israel-war