หมุนเข็มนาฬิกากลับไป 20 ปี สู่ปี 2000 ในเวลานั้น โทรศัพท์ซึ่งมีราคาเปิดตัวหลักหมื่นตอนปลายอย่าง Nokia 3310 ถือเป็นไอเทมสุดคูล ที่หลายคนอยากมีเอาไว้เป็นข้าวของสามัญประจำกระเป๋า ถ้าจะบอกว่าโทรศัพท์ปุ่มกดของ Nokia ก็เป็นเหมือน iPhone แห่งยุค Y2K และบอกว่า Nokia เป็นเหมือน Apple แห่งยุคเริ่มสหัสวรรษใหม่ ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนัก 

แต่เรื่องราวของคนหนุ่มบ่อยครั้งก็จบลงที่ความโรยรา เรื่องราวของ Nokia ในวันนั้นก็จบลงที่การร่วงหล่นจากธุรกิจมือถือ ภาพสุดท้ายของ Nokia ก็คือการดิ้นรนในยุคสมาร์ตโฟน ด้วยการเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone และผลลัพธ์ของการตัดสินใจครั้งนั้นเราก็น่าจะพอเดาออกหากมองย้อนกลับไปจากปัจจุบันที่มีเพียง iOS และ Android เป็นผู้เหลือรอด 

คำถามก็คือ Nokia คือธุรกิจวัยคุณปู่ที่โรยแรงแล้วหรือไม่? ถ้าตอบสั้น ๆ ก็อาจจะบอกได้ว่า ‘ทั้งใช่และไม่’ และถ้าจะตอบให้ยาวกว่านั้น ก็อาจต้องสืบสาวราวเรื่องกลับไปมากกว่า 160 ปี สู่ปี 1865 ซึ่งเป็นวันที่หนึ่งที่ Nokia ลืมตาดูโลกในเมืองตัมเปเรทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฟินแลนด์ 

ณ เวลานั้น Nokia จากการริเริ่มของวิศวกรเหมืองแร่นาม Fredrik Idestam เป็นบริษัทผลิตกระดาษที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยในช่วงดังกล่าว และต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอยู่เรื่อย ๆ จนถึงธุรกิจมือถือที่เราคุ้นเคยกัน และในปัจจุบัน ก็หันมาทำธุรกิจเทคโนโลยีด้านเครือข่าย จึงพอสรุปคำตอบเวอร์ชันยาวออกมาได้ว่า Nokia คือบริษัทที่อายุอานามปาเข้าไป 3 หลัก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของวัยเยาว์ ทั้งที่บริษัทในฟินแลนด์มักมีอายุเฉลี่ยเพียง 20 ปี

Nokia ทุกวันนี้ อยู่ตรงไหน

ถ้าเทียบกับบริษัทที่เคยโลดแล่นในวงการมือถือหลาย ๆ เจ้า เช่น Panasonic และ LG ที่มีกำไรในปี 2022 ไม่เกิน 2 พันล้านเหรียญ จะเห็นได้เลยว่า Nokia มีกำไรสุทธิมากกว่า (4.7 พันล้านเหรียญ) นอกจากนี้ ถ้าเทียบกับหน้าใหม่ในธุรกิจมือถือ ก็จะเห็นว่า Nokia มีกำไรเป็น 5 เท่าของ Xiaomi ในขณะที่มีผลประกอบการไล่เลี่ยกับ Huawei 

Nokia

รูปที่ 1: กำไรสุทธิ ปี 2022 ของ Nokia เทียบกับบริษัทอื่น ๆ Source: Nokia

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับ Apple และ Samsung ซึ่งเป็นผู้ชนะในยุคสมาร์ตโฟน ก็ต้องบอกว่าต่างกันอยู่หลายขุมเหมือนกัน เพราะทั้ง 2 ทำกำไรได้สูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญ และ 3.6 หมื่นล้านเหรียญ ตามลำดับ

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า แม้ Nokia จะไม่ได้ฟู่ฟ่าเท่าบริษัทที่เป็นตัวท็อปในตัวท็อป แต่ก็ยังมีกำไรมหาศาลและไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เลยเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่น แต่คำถามคือ กำไรเหล่านี้มาจากไหน?

Nokia คือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี

ในภาพรวมแล้ว Nokia ในยุคใหม่จัดได้ว่าเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมและผู้ให้บริการ Software-as-a-Service (SaaS) ด้านการสื่อสาร ที่ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ 

1. โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายการสื่อสาร (Network Infrastructure)

ทั้งการส่งสัญญาณผ่านสายทองแดงและไฟเบอร์ ไปจนถึงสายส่งสัญญาณใต้ทะเล โดยปี 2022 ธุรกิจนี้มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.2 พันล้านเหรียญ คู่แข่งในธุรกิจนี้คือ Huawei, ZTE, Cisco, และ Subcom

2. สัญญาณโทรศัพท์ (Mobile Networks)

เช่น ธุรกิจ 5G ทั้งในโทรศัพท์ไปจนถึงการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม เช่น ในธุรกิจการผลิต การขนส่ง ท่าเรือ สนามบิน การผลิตพลังงาน การเกษตรอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น โดยปี 2022 ธุรกิจนี้มีกำไรจากการดำเนินงาน 1 พันล้านเหรียญ คู่แข่งหลักในธุรกิจนี้คือ Huawei, Ericsson, Samsung และ ZTE

3. บริการด้านคลาวด์และเครือข่าย (Cloud & Network Services)

เป็นธุรกิจน้องใหม่ของ Nokia ที่เน้นหนักไปที่การให้บริการแบบ B2B เช่น รับทำ Cloud Transformation ให้กับองค์กรตั้งแต่การออกแบบระบบ วางระบบ โยกย้ายข้อมูลทุกอย่างของบริษัทไปบนคลาวด์ รวมถึงทำ Support Service เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร โดยปี 2022 ธุรกิจนี้มีกำไรจากการดำเนินงาน 192 ล้านเหรียญ

4. เทคโนโลยีด้านเครือข่ายและการสื่อสาร (Nokia Technologies)

เน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารใหม่ ๆ ออกมา เช่น 5G เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจและสร้างรายได้ผ่านการจดสิทธิบัตรและเก็บค่าสิทธิบัตรจากบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปใช้ และนำเงินดังกล่าวกลับมาลงทุนในการวิจัยและพัฒนาต่อไป 

โดยปัจจุบัน Nokia มีสิทธิบัตรทั้งสิ้นกว่า 20,000 รายการ โดยเป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับ 5G เกือบ 1 ใน 4 และที่สำคัญ ธุรกิจเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่มีกำไรจากการดำเนินงานและมีอัตรากำไรสูงสุดของ Nokia โดยปี 2022 มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.3 พันล้านเหรียญ และมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 75.70%

ส่องฟอร์ม Nokia ย้อนหลัง 10 ปี

รูปที่ 2: ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี ของ Nokia, Source: Macrotrends

ที่จริงแล้วเส้นทางของ Nokia ในช่วง 10 ปีให้หลังก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะถ้าดูในช่วง 7 ปีหลังสุดก็จะมีถึง 5 ปี ที่แม้จะมีรายได้มหาศาลแต่กลับไม่สามารถเปลี่ยนเงินเหล่านั้นมาเป็นกำไรได้เลย อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีหลังสุด 4 ธุรกิจหลักก็สามารถขับเคลื่อนบริษัทให้กลับมามีกำไร 

โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา Nokia มีรายได้ทั้งสิ้น 26.5 พันล้านเหรียญ และเมื่อหักลบกลบหนี้ทั้งหมดแล้วก็ยังเหลือกำไรสุทธิกว่า 4.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin: NPM) ที่ 17%

อีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนถึงการผลัดใบสู่ยุคใหม่ของ Nokia คือการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้นเพื่อรีแบรนด์ให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีทันสมัย หลังจากใช้โลโก้เดิมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตามาเป็นเวลากว่า 60 ปี

อ้างอิง

https://www.nokia.com/system/files/2023-04/nokia_results_2023_q1.pdf
https://www.nokia.com/system/files/2023-04/nokia_slides_2023_q1-1.pdf
https://www.nokia.com/licensing/patents/
https://www.google.com/finance/quote/NOK:NYSE?hl=en
https://www.macrotrends.net/stocks/charts/NOK/nokia/financial-statements
https://www.aalto.fi/en/news/recent-study-the-covid-19-pandemic-particularly-affected-the-well-being-of-entrepreneurs-under
https://www.reuters.com/technology/nokia-changes-iconic-logo-signal-strategy-shift-2023-02-26/

iran-israel-war