“Yield” นั้นสำคัญไฉน

หลาย ๆ ท่านที่เป็นนักลงทุนคงติดตามปัจจัย และตัวแปรต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต GDP, เงินเฟ้อ, ค่าเงิน, ดอกเบี้ย วันนี้ผมขอนำเสนออีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวแปรอื่นที่ กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ “ยิลด์ (Yield)”

Yield คืออะไร?

Yield หากแปลอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ผลตอบแทน” ของสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างคาดหวังและให้ความสำคัญจากการลงทุน ซึ่งอาจจะยกตัวอย่าง Yield ผ่านสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) หุ้นสามัญ (Common stock) คือ หุ้นที่ถือครองแล้วมีสิทธิในการออกเสียงร่วมกับบริษัท โดยหุ้นที่คนส่วนใหญ่พูดถึงและซื้อขายจะเป็นหุ้นในส่วนนี้ซักส่วนใหญ่

ตราสารชนิดนี้อาจให้ Yield ในรูปแบบของ การปันผล หรือ Dividend yield

2) หุ้นบุริมสุทธิ (Preferred stock) คือ หุ้นที่หากถือครองแล้วไม่ได้สิทธิในการออกเสียง แต่จะได้รับ เงินปันผล ต่อเนื่องในอัตราที่ตกลงไว้ และได้รับการจ่ายปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

ตราสารชนิดนี้อาจให้ Yield ในรูปแบบของ “การปันผล” หรือ Dividend yield

3) หุ้นบุริมสุทธิแปลงสภาพ (Convertible preferred stock) คือ หุ้นบุริมสุทธิที่เพิ่มสิทธิให้กับผู้ถือครองในการเปลี่ยนหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นสามัญภายใต้เวลาที่กำหนด และอาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่นผู้ออกตราสารอาจออกข้อกำหนดในการ บังคับเปลี่ยนแปลงสภาพ เพิ่มเติมได้

ตราสารชนิดนี้อาจให้ Yield ในรูปแบบของ การปันผลหรือ Dividend yield ดังเช่น หุ้นบุริมสุทธิ

4) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) คือ หุ้นกู้ที่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นหุ้นที่บริษัทนั้น ๆ ออกได้ และอาจมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่นผู้ออกตราสารอาจออกข้อกำหนดในการ บังคับเปลี่ยนแปลงสภาพ เพิ่มเติมได้

ตราสารชนิดนี้อาจให้ Yield ในรูปแบบของ “Bond yield” ที่อาจแตกต่างกันออกไปตามอายุของตราสาร

5) ตราสารหนี้ต่าง ๆ (Fixed income) คือ การออกตราสารเพื่อเพิ่มทุนจากรัฐบาลหรือบริษัท โดยตราสารหนี้จากภาครัฐ จะถูกเรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจะถูกเรียกว่า หุ้นกู้เอกชน

 ตราสารชนิดนี้อาจให้ Yield ในรูปแบบของ “Bond yield” หรือผลตอบแทนหุ้นกู้ในส่วนของหุ้นกู้เอกชน และ “Treasury yield” หรือผลตอบแทนพันธบัตรในส่วนของพันธบัตร โดยผลตอบแทนอาจแตกต่างกันออกไปตามอายุของตราสาร เช่นกัน

อย่างไรก็ตามนับจากนี้เป็นการอธิบาย Yield ในส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

ในเชิงคำนวณ

นิยามของ Yield (อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล / ตราสารหนี้)แบบเข้าใจง่าย คือผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือพันธบัตรนั้น ๆ ในกรณีที่ถือจนครบอายุ (Hold to maturity) พันธบัตรแต่ละตัวจะมีคูปองหน้าตั๋วของตัวมันเอง เช่น พันธบัตร LB145B (ครบอายุปี 2014 รุ่น B หรืออายุคงเหลือประมาณ 5 ปี) มีคูปองหน้าตั๋วอยู่ที่ 5.25% นั่นคือถ้าซื้อพันธบัตรที่ราคาพาร์ 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5.25%

แต่ปัจจุบัน Yield ของพันธบัตรดังกล่าวที่ซื้อขายในตลาดอยู่ที่ระดับ 3.50% ถ้าไปดูราคาตลาดของพันธบัตรใบนี้จะพบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับ 1,100 บาท นั่นคือราคาซื้อขายของตราสารใบนี้สูงกว่าราคาพาร์ (Premium) โดยนักลงทุนที่ซื้อต้องจ่ายเงินลงทุน 1,100 บาท และได้คูปองปีละ 5.25% (คิดเป็น 52.5 บาทต่อปี) โดยเมื่อพันธบัตรครบอายุในปี 2014 ก็สามารถนำไปไถ่ถอนคืนเงินต้นได้ที่ราคา 1,000 บาท

คิด เป็นตัวเลขคร่าว ๆ คือ ลงทุนวันนี้ 1,100 บาท อีก 5 ปีไถ่ถอนได้เงินคืน 1,000 บาท ก็คือขาดทุนปีละ 20 บาท เมื่อมารวมกับดอกเบี้ยปีละ 52.5 บาท Net แล้วคือได้ดอกเบี้ยประมาณ 32.5 บาท (เมื่อคิดรวมกับหลัก Present Value แล้วจะได้เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีหรือ Yield 3.50% พอดี)

ความสำคัญของ Yield 

Yield นับเป็นดอกเบี้ยตัวหนึ่งที่สะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาด เช่นในปี 2008 ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ที่ Yield พันธบัตร 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 3% ไปถึงระดับเกือบ 5% (ตามรูป) เนื่องจากในช่วงนั้นเงินเฟ้อของไทยขึ้นไปถึงประมาณ 9% ทำให้นักลงทุนคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่แบงค์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยได้มาก ซึ่งหลังจากนั้นในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. แบงค์ชาติก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยจาก 3.25% ไปสู่ 3.75% โดยสรุปคือ Yield มักจะเป็น Leading indicator ที่ดีของทิศทางดอกเบี้ยของประเทศนั่นเอง

นัยต่อการลงทุน และการทำธุรกิจ

ใน ภาวะปัจจุบันที่ Yield 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 2% นำหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มจะปรับตัว เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หาก เห็นว่า Yield เป็นแนวโน้มขาขึ้นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็ควรลงทุนในระยะสั้น เพื่อรอให้ Yield ขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงกว่านี้ค่อยล็อคเงินลงทุนยาวและได้ผลตอบแทนที่สูง ขึ้น (ถ้าถือตราสารหนี้ระยะยาวแล้ว Yield ปรับขึ้น จะทำให้มูลค่าตามราคาตลาดลดลง หรือขาดทุน) ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เราก็ควรนำไปเป็นปัจจัยลบตัวหนึ่งสำหรับบริษัทที่มีภาระหนี้สินเยอะ หรือแม้แต่ภาคอสังหาที่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และสุดท้ายในมุมของผู้ประกอบการที่ต้องใช้สินเชื่อ เมื่อเห็นดังนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำการขอสินเชื่ออายุค่อนข้างยาว หรือพยายามจัดสินเชื่อให้เป็นดอกเบี้ยคงที่เพื่อกันความเสี่ยงของต้นทุน ดอกเบี้ยในอนาคต
สรุป แล้ววันนี้ผมจะมาบอกว่า “Yield” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตามและใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน ยิ่งรู้ได้มากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบนะครับ (ติดตามการเคลื่อนไหวของ Yield และรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใน http://www.thaibma.or.th/ และ http://www.bot.or.th/)

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.